[ กลับหน้าหลัก ]


หมากล้อมกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน



เราเรียนหมากล้อม ฝึกการเล่นหมากล้อม เราจะได้กลยุทธ์ กลยุทธ์เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เราจะทำงานอะไรสำเร็จ ต้องมีกลยุทธ์ กลยุทธ์คืออะไร กลยุทธ์ต่างกับยุทธวิธี
กลยุทธจะเป็นตัวที่ควบคุมและร้อยเอายุทธวิธีต่างๆ ไว้ด้วยกันเพื่อช่วยให้เราบรรลุเป้าหมาย
คือเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องเห็นเป้าหมายชัดเจน ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน
เราวางเส้นทางที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย และระหว่างทางเดินไปถึงเป้าหมายนั้น เราจะพบปัญหา
เราจะต้องมีวิธีการต่างๆ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วิธีการต่างๆ เหล่านี้เราเรียกว่า ยุทธวิธี
แต่ถ้าเราแก้แต่ปัญหา แก้ไป แก้ไป เดินไกลออกไปจากเป้าหมาย ก็คือคนไม่มีกลยุทธ เราก็จะไม่มีความสำเร็จ

ยกตัวอย่างให้ฟัง ถ้าเรามีนัดอีกสองชั่วโมงจะต้องไปพบเพื่อนที่สระบุรี เรามาที่รถ สตาร์ทรถไม่ติด
เรามีความรู้ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ เราก็มาเปิดกระโปรงรถ แล้วก็มาหาว่าปัญหาอยู่ที่ไหน
แล้วก็ง่วนอยู่กับการแก้ปัญหาเพื่อให้รถสตาร์ทติด หมดไปแล้วหนึ่งชั่วโมง
เรามีวิธีการที่ดีคือเราแก้เรื่องให้รถสตาร์ทติด ขณะเดียวกันเราก็มีวิธีการขับรถเก่ง
แต่ว่าระหว่างแก้ปัญหาเราลืมไปว่า เราจะต้องไปสระบุรีให้ทันภายในสองชั่วโมง
เราก็คือคนที่ทำแบบไม่มีกลยุทธ์ ถ้าเราเป็นคนที่มีกลยุทธ์
เมื่อเราเห็นว่าวิธีที่จะทำให้รถยนต์วิ่งได้เนี่ยกินเวลานาน อาจจะต้องจับแท๊กซี่ไป
ก็จะไปถึงจุดหมายได้ภายในกำหนดเวลา อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคนที่ทำข้อสอบ เคยมั้ยครับที่เวลาสองชั่วโมง
มีคำถามมาห้าข้อ เราพยายามตอบโจทย์ของข้อนึง หมดเวลาไปหนึ่งชั่วโมงพึ่งจะทำได้เพียงข้อเดียว
อีกสี่ข้อเราไม่สามารถทำได้ในชั่วโมงที่สอง
อย่างเก่งเราอาจจะได้อีกสองข้อในชั่วโมงที่สองรวมแล้วเราตอบได้เพียงสามข้อ แต่ถ้าคนมีกลยุทธ์
เขาก็จะต้องดูว่าเราจะต้องเอาข้อที่ยากที่สุดเก็บไว้ทีหลัง
เราอาจจะทำได้สี่ข้อในเวลาหนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาที
แต่ข้อสุดท้ายเราอาจจะตอบไม่สำเร็จในสิบห้านาทีสุดท้าย
แต่เราก็ยังได้สี่ข้อที่เราจะได้คะแนนมากกว่าคนแรกที่ใช้เวลาสองชั่วโมงตอบได้เพียงสามข้อ
เพราะว่าชั่วโมงที่หนึ่งเขาตอบไปเพียงข้อเดียว
การทำเช่นนี้เราเรียกว่าการทำงานอย่างมีกลยุทธ์แต่เรายังไม่พอใจ เราต้องการเป็นนักกลยุทธ์

การเป็นนักกลยุทธ์จะต้องวางกลยุทธ์การทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งแล้วต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ของเรื่องอื่นๆ
บนกระดานหมากล้อมเรามีหลายสนามรบ แต่ละสนามรบเราก็จะมีแต่ละกลยุทธ์ ถ้าเรามี 6-7 สนามรบ มี 6-7 กลยุทธ์
เกิดอะไรขึ้นถ้ากลยุทธ์ของแต่ละสนามขัดแย้งกันเอง เมื่อดำเนินกลยุทธ์ของสนามที่หนึ่งไปแล้ว
ก็พบว่ากลยุทธ์ของสนามที่สองจะดำเนินการไปไม่ได้ เพราะว่าไม่สอดคล้องกัน
คนที่จะเป็นนักกลยุทธ์ต้องมองทุกๆ กลยุทธ์สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เหลือก็คือการเห็นภาพย่อยในภาพรวม
คนคนหนึ่งมีหลายสนามรบในชีวิต มีการงาน มีครอบครัว มีสังคม มีศาสนา มีการเรียนรู้
บางคนก็อาจจะไปสอนหนังสือ บางคนก็อาจจะเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มวุฒิ เรามีหลายเรื่อง หลายสนามรบ
เราก็ต้องมีหลายกลยุทธ์ เราก็ต้องวางกลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้ให้สอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน ยกตัวอย่างอีก
คุณพ่อทำงานเก่ง มีกลยุทธ์ในการทำงาน ได้ผลงานดี มีรายได้ดี
แล้วก็วางกลยุทธ์ที่จะพาทั้งครอบครัวไปพักผ่อนยังต่างประเทศในเดือนนั้นเดือนนี้
แล้วก็ได้ติดต่อพรรคพวกเพื่อนฝูงในประเทศนั้นให้เตรียมต้อนรับ แล้วก็ได้ซื้อตั๋วเครื่องบิน
ซื้อของมากมายเตรียมที่จะไปต่างประเทศ แต่ว่าถ้ากลยุทธ์ของการไปต่างประเทศ
ไปขัดแย้งกับกลยุทธ์ในการทำงาน พอง่วนอยู่กับการทำงาน ดำเนินกลยุทธ์การทำงานไปได้ผลดี งานสำเร็จ
แต่ว่ากินเวลานาน จนกลยุทธ์ของการไปพักผ่อนต่างประเทศเสียหายหมด
อย่างนี้ก็คือยังไม่ใช่คนทีเป็นนักกลยุทธ์ ถ้าเป็นนักกลยุทธ์ต้องสามารถที่จะวางหลายๆ
แผนและคำนึงถึงผลกระทบของแต่ละกลยุทธ์ว่าไม่ไปกระทบแผนของเรื่องอื่นด้วย การจะเป็นนักกลยุทธ์
เราก็จะต้องมาเรียนจากหมากล้อมว่าเราทำอย่างไรเราจึงจะสามารถวางแผนของหลายๆ กลยุทธ์ให้สอดคล้องกัน

เราจะมีอีกคำหนึ่งคือ การเรียนรู้เรื่องการวางนโยบายที่จะมาร้อยกลยุทธ์เหล่านี้เข้าด้วยกัน
กลยุทธ์ใดขัดแย้งกับนโยบาย กลยุทธ์นั้นจะต้องถูกเปลี่ยนตั้งแต่ต้นมือ นโยบายต่างจากกลยุทธ์ตรงที่ว่า
นโยบายเป็นข้อแนะนำว่าอย่างไรควรทำ อย่างไรไม่ควรทำ ไม่มีเป้าหมาย ซึ่งผิดกับกลยุทธ์ว่า
กลยุทธ์จะต้องเห็นเป้าหมายของเรื่องว่าอยู่ที่ใด
ยกตัวอย่างบริษัททที่ดีจะมีนโยบายว่าสินค้าที่ผลิตจะต้องมีคุณภาพที่ดี มีมาตรฐาน
ไม่ทำให้ผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วผิดหวังหรือเสียหาย นี่คือนโยบาย
เห็นมั้ยครับว่ามันไม่มีเป้าหมายอะไรว่าจะขยายตลาดไปเท่าไหร่ จะขยายยอดขายเท่าไหร่
ทำกำไรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ นี่เป็นเพียงข้อแนะนำหรือเป็นข้อห้ามไม่ให้ทำ ผลิตสินค้าอย่างสุกเอาเผากิน
ไปลดต้นทุน คุณภาพต่ำ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
ถ้าเกิดบริษัทที่อยู่ในเครือบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรย่อยในองค์กรใหญ่เกิดไม่ทำตามนโยบาย
วางกลยุทธ์อยากจะทำกำไรมากๆ อยากจะขายมากๆ ก็ไปลดต้นทุน แล้วก็ลดราคา ก็บรรลุเป้าหมาย
คือขายได้มากเป็นเสมือนหนึ่งหลอกขายผู้บริโภคที่ไม่รู้ ได้บรรลุเป้าหมายที่ว่าต้องการทำกำไรมากๆ
ขายได้มากๆ แต่ผิดนโยบายของเรื่องคุณภาพ ผลเสียจะมีมากมาย เพราะว่าชื่อเสียงของทั้งเครือ
ก็จะไม่เป็นที่เชื่อถืออีกต่อไปว่าสินค้ามีคุณภาพ งั้นองค์กรย่อยหรือบริษัทย่อยในเครือใหญ่
ทำกำไรถูกต้องตามกลยุทธ์แต่ทำลายทั้งเครือเพียงเพราะผิดนโยบาย

แล้วนโยบายเราจะวางได้อย่างไร เราจะเรียนรู้การวางนโยบายจากหัวใจของหมากล้อม ก็คือปรัชญาชีวิต
เราจะต้องตระหนักถึงหมากล้อมทั้งสองฝ่ายจะมีพลังใกล้เคียงกันอยู่ตลอดเวลา เช่น ขาวมี 70 เม็ด ดำก็จะมี
71 เม็ด เราไม่สามารถที่จะมองว่าเรามีพลัง เราสามารถที่จะทำลายคู่แข่งได้
เราจะต้องเคารพกำลังของคู่ต่อสู้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว
หลักใหญ่ของหมากล้อมก็คือการไม่คิดทำลายคู่ต่อสู้
เราไม่สามารถที่จะใช้เม็ดของเราเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ทุกสนามรบ สนามรบใดถ้าเราชนะ
เราก็จะต้องทุ่มพลังไปมากแล้วเราก็จะใช้พลังไปในสนามรบอื่นได้น้อยลง เราก็จะไปแพ้ที่สนามรบอื่น
หมากล้อมเกมหนึ่งมีหลายสนามรบ ชนะสนามรบนี้ แพ้สนามรบนั้น
เราสามารถที่จะดูแลให้ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์อยู่ในลักษณะใกล้เคียงกัน เราไม่ควรที่จะคิดว่า
เราสามารถที่จะเอาประโยชน์แต่ผู้เดียว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว
ถ้าใครคิดที่จะทำลายหมากล้อมของคู่ต่อสู้ในสนามใดสนามหนึ่งอย่างราบคาบ ผลเสียก็จะเกิดขึ้น
เราไม่สามารถที่จะเอาชนะทุกๆ สนามรบได้ เราจึงไม่สามารถที่จะมุ่งแต่คิดที่จะเอาชนะ
เมื่อไหร่ที่เรามุ่งคิดที่จะเอาชนะ เราจะไม่เคารพกำลังของคู่ต่อสู้ มันจะทำให้เราประสบความพ่ายแพ้
ใครคิดเอาชนะจะแพ้ เกมนี้เป็นเกมที่ฝึกให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้น เมื่อเราเข้มแข็งขึ้น
คนอื่นก็ทำลายเราไม่ได้ แต่ถ้าเรามุ่งจะไปทำลายคนอื่น เราจะทำลายตัวเราเองก่อน ปรัชญาชีวิตของหมากล้อม
คือให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันไปได้ดี แบ่งปันผลประโยชน์กันให้สม่ำเสมอ
ใครที่ไม่เคารพกำลังของคู่ต่อสู้จะนำความพ่ายแพ้มาสู่ตัวเอง
อีกคนหนึ่งที่ไม่คิดจะเอาชนะจะกลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด

ถอดความจากคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
จาก VCD สอนหมากล้อม (เปิดตำนานหมากล้อม 3000 ปี)

โดย : HAPPY GENIUS - Դ : 0-91084677 [ 26/09/2004, 20:33:16 ]

1

ชนะได้ โดยไม่คิดเอาชนะ
อืมมม
ลึกซึ้งๆ

โดย : เดอะไรท์    [ 27/09/2004, 16:09:01 ]

 
  E-mail: webmaster@thaibg.com Copyright 2002-2024@www.ThaiBG.com (Thailand), All Rights Reserved  
 
  Sponsors