โดยกล้า สมุทวณิช และ บุญชิต ฟักมี
ผู้จัดการออนไลน์ 13 กรกฎาคม 254
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9470000020963#aaa
ตอนแรก ผมตั้งใจจะเขียนบทความเรื่อง
ความรับผิดต่อการกระทำความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทบนกระดานข่าวสาธารณะ (ชื่อยาวเป็นบ้า -
ใครสนใจเอาไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ไหมครับ) และบุญชิตก็จะเขียนเรื่อง ทำไมจำเลยต้องเป็นพันทิป
แต่เมื่อมานั่งวางแผนการเขียนกันแล้ว พบว่าเนื้อหาของทั้งสองส่วนแม้ไม่เชื่อมต่อก็เกี่ยวเนื่องกัน
จนกระทั่งน่าจะดีกว่าถ้ายุบเอามารวมกันเสียเป็นบทความเดียวกันแต่มีสองภาค ดังนี้
ภาค 1 ความรับผิดต่อการกระทำความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทบนกระดานข่าวสาธารณะ
ในภาคนี้จะกล่าวถึงความรับผิดทางอาญาเป็นสำคัญ
ส่วนความรับผิดทางแพ่งนั้นผู้ใดสนใจจะลองทำวิจัยดูก็น่าจะได้
ก่อนที่ผู้เขียนจะเข้าสู่เนื้อหา ขอบอกโจทย์ก่อนดังนี้ โจทย์ที่ว่าเป็นเรื่องสมมติ
เหมือนตุ๊กตาที่เอาไว้ให้นักเรียนกฎหมายตอบข้อสอบนั่นแหละ ที่ต้องลอกโจทย์ก่อน ก็เพราะว่า
เราจำเป็นต้องเอาหลักกฎหมายมาปรับเข้ากับโจทย์ ถึงจะเป็นการตอบปัญหาทางกฎหมายที่ดี
ไอ้ประเภทอ่านหนังสือพิมพ์แล้วพูดไปเรื่อยว่าเจ้าของเวบต้องรับผิดชอบอย่างนั้นอย่างนี้
ผมว่าอย่าไปบอกใครนะครับว่าเรียนกฎหมายกับใครมา..สงสารผู้สอน
ตุ๊กตา (อย่าลืมนะครับ ตุ๊กตาคือเรื่องสมมติเพื่อลับสมองนักเรียนกฎหมาย
ไม่ใช่เรื่องจริงซักกะหน่อย) ของเรามีดังนี้ครับ
น.ส.ย้วย ได้นำแสดงภาพยนตร์เรื่อง กรรมพิพากษา ซึ่งมีฉากหนึ่งที่ น.ส.
ย้วยต้องแก้ผ้าอล่างฉ่างทั้งตัว ซึ่งน.ส.
ย้วยก็แก้ผ้าอย่างเชี่ยวชาญด้วยความเชื่อที่น.ส.ย้วยมักจะอ้างต่อสื่อมวลชนเสมอมาว่า
หนังระดับอินเตอร์เขาต้องแก้ผ้ากันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ฉากแก้ผ้าของ น.ส. ย้วย
ก็เป็นอันไม่ได้นำไปใช้ในภาพยนตร์ เนื่องจากถูกเซ็นเซอร์ ซึ่ง น.ส.
ย้วยได้แสดงอาการฉุนเฉียวให้สาธารณะชนรับรู้ผ่านทางรายการโทรทัศน์ด้วย เนื่องจาก กบว.
บังคับให้ทำกราฟฟิกปิดหัวจุกของเธอ
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่อง กรรมพิพากษา ทำรายได้อย่างรูดเป้าถล่มทลาย
จนต้องออกจากโรงไปด้วยความเจ็บช้ำ และผู้สร้างเตรียมนำไปออกเป็นวีซีดีขาย ก็ปรากฏว่า มี Forward
เมล์ลึกลับที่ไม่ทราบที่มา เผยแพร่ภาพ อินเตอร์ คือภาพที่น้องย้วย
ที่ถ่ายเปลือยในภาพยนตร์นั้นโดยยังไม่ได้เซ็นเซอร์ แพร่ลามไปทั่วระบบอินเทอร์เน็ต
นายมือกรรม (นามแฝง) เห็นภาพนั้นเข้า จึงนำไปโพสต์ในกระดานข่าวสาธารณะ พันธุ์แท้ดอตคอม
ซึ่งมีนายวันชาติเป็นเจ้าของ เพื่อสอบถามคนในเวบนั้นว่า นี่เป็นภาพจริงหรือภาพตัดต่อ
ซึ่งต่อมานายวันชาติพบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม จึง
แต่กรรมเป็นของนายมือกรรม เมื่อทีมงานของหนังเรื่องดังกล่าวมาเห็นแล้วแจ้งให้น้องย้วยทราบ
น้องแกเลยมีอันของขึ้น ประมาณคุณแม่เป็นลม เนื่องจากน้องย้วยนี่เป็นกุลสตรีม้าาาาก มาก
เรื่องโชว์นมโชว์ต้มนี่ไม่เค้ย ไม่เคย จึงโวยวายไปแจ้งความ ขู่ฟ้องเวบไซต์พันธุ์แท้ ได้แก่นายวันชาติ
เจ้าของเวบ และนายมือกรรม คนที่โพสต์กระทู้พร้อมรูปดังกล่าว
บังอาจทำให้ชื่อเสียงอันแสนจะบริสุทธิ์สะอาดยิ่งกว่าผ้าอนามัยที่ยังไม่ผ่านการใช้งานของเธอต้องมีราคีคาว
จงอธิบายความรับผิดทางอาญาของนายมือกรรม นายวันชาติ
อ้อ มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้พิจารณาเล่นด้วยว่า เมื่อนายมือกรรมเข้ามอบตัวแล้ว
พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวไว้ถึงสามสี่วันโดยคัดค้านการประกันตัวต่อศาล
และเรียกเงินประกันสูงถึงสามแสนบาทและประกาศว่าจะไปจับกุมหรือตรวจค้นเวบไซต์อื่นที่ลงรูปน้องย้วยด้วย
นอกจากนี้หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับก็เอารูปน้องย้วยรูปแบบเดียวกับที่นายมือกรรมโพสต์
ไปตีพิมพ์ลงหน้าหนึ่งอย่างเกรียวกราว พร้อมขนานนามนายมือกรรมว่า เป็นคนวิปริต วิตถาร ลามก บ้ากาม ฯลฯ
แถมให้ด้วย
ก่อนจะตอบตุ๊กตา เราต้องวางหลักกฎหมายก่อน ดังนี้
หลักความรับผิดทางอาญานั้น ประการแรก จะต้องมีการกระทำ
ซึ่งการกระทำนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่กฎหมายอาญา (ได้แก่ประมวลกฎหมายอาญา
และกฎหมายอื่นที่มีลักษณะเป็นโทษทางอาญา) ห้ามมิให้กระทำโดยระบุว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
กฎหมายในที่นี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ความผิดฐานหมิ่นประมาท
ซึ่งความผิดดังกล่าวบัญญัติไว้ดังนี้ว่า
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง
ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
องค์ประกอบของมาตรา 326 นี้ ได้แก่
1. มีการใส่ความผู้อื่น
2. ต่อบุคคลที่สาม
3. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และ
4. ผู้กระทำได้กระทำโดยเจตนา
การใส่ความผู้อื่นตามมาตรา 326 นี้ จะต้องมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งด้วย คือการ
ยืนยันข้อเท็จจริง ดังคำอธิบายของศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ดังนี้
คำว่า ใส่ความ มีความหมายแตกต่างกับที่เข้าใจกันอยู่ตามธรรมดาสามัญ
คือไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการใส่ร้าย แต่หมายถึงการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงต่อบุคคลอื่น
จะเท็จหรือจริงก็เป็นการใส่ความทั้งนั้น
การยืนยันข้อเท็จจริงนี้ ข้อเท็จจริงที่ยืนยันจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จหรือไม่ก็ตาม
แต่ผู้หมิ่นประมาท จะต้องยืนยันข้อเท็จจริงต่อบุคคลที่สามว่า
บุคคลที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นกระทำการอันควรเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น
หรือสมควรได้รับการเกลียดชังอย่างไร
ตัวอย่างของกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการหมิ่นประมาท เช่น ญาติข้างโจทก์ได้บอกจำเลยว่า
จำเลยได้รักใคร่กับชายในทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน มีผู้มาถามจำเลย
จำเลยก็เล่าข้อเท็จจริงนั้นให้ฟัง ตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่
380/2503)
อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่า ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใส่ความ เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ 2180/2531 ได้วินิจฉัยว่า การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น
จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะทำใ
ห้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้น การที่จำเลยถาม ป.
ว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์หรือไม่ จึงเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น
มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น
หรือถูกเกลียดชังแต่ประการใด... หรือกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503 มารดาถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ
บุตรไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า ไม่มีใครนอกจากอ้ายแก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา
อ้ายฉิบหาย ดังนี้ พฤติการณ์ในคดีแสดงว่าไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง
หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖...
ซึ่งไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงเช่นกัน
จากโจทก์ข้างต้น นายมือกรรมได้ให้โพสต์ข้อความในเชิงตั้งคำถามว่า
นี่เป็นภาพจริงหรือภาพตัดต่อและลงภาพน้องย้วย ถือได้ว่ายืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นการ ใส่ความ
น้องย้วยแล้วหรือไม่?
และการกระทำของคุณมือกรรม มีการยืนยันข้อเท็จจริงใด ว่าน้องย้วยนั้น
ได้ถ่ายภาพเจ้าปัญหานั้นจริง?
และหากเป็นการใส่ความ การใส่ความดังกล่าวทำให้น้องย้วย น่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น
หรือถูกเกลียดชัง หรือไม่ และการโพสต์รูปน้องย้วยอล่างฉ่างนั้น สื่อข้อเท็จจริงประการใดหรือว่า
น้องย้วยนั้น ควรจะเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างไร เพราะการถ่ายภาพเปลือยทั้งตัวหรือ ?
การโพสต์ภาพด้วยคำถามที่ว่า นี่เป็นภาพจริงหรือภาพตัดต่อ หากมองว่าเป็นการ ใส่ความ ตามมาตรา
326 แล้ว จะถือว่าเป็นการใส่ความว่าอะไร?
เพราะอย่าลืมว่า น้องย้วยเองก็เคยประกาศต่อสาธารณะชนแล้วว่า การแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวเองได้
เปลือย แสดงภาพยนตร์ และยิ่งกว่านั้น น้องย้วยยังรู้สึกภูมิใจที่ได้แสดงในรูปแบบดังกล่าว
ทั้งนี้เมื่อภาพยนตร์ดังกล่าวจะถูกเซ็นเซอร์โดยกองเซ็นเซอร์ น้องย้วยก็ออกอาการไม่พอใจด้วยซ้ำ !!!
ซึ่งตรงนี้ผู้ตอบก็สงสัยว่า หากภาพดังกล่าวไม่ถูกกองเซ็นเซอร์บังคับให้ทำกราฟฟิกบังแล้ว
ปัจจุบันภาพนี้ก็จะไม่เรียกว่าเป็น ภาพลับ แต่จะเรียกว่า สกรีนช็อต
หรือเป็นเพียงฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เท่านั้นเอง!!!
และหากพิจารณาตามแนวคิดของกฎหมายอาญาในการแสวงหาเจตนาของผู้กระทำความผิดว่า
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา แล้ว จะเห็นว่านายมือกรรมได้พยายาม ลด ความเสียหาย
ด้วยการเซ็นเซอร์หน้าอกของน้องย้วยแล้วอีกต่างหาก (อาจจะเพราะไม่อยากให้อุจาดตาก็ได้ -_-!#)
เช่นนี้ย่อมเห็นว่า นายมือกรรมมีเจตนาเพื่อการ ขอความคิดเห็น เพราะถ้ามีเจตนาจะใส่ความให้เสียหายแล้ว
ก็ไม่จำเป็นที่นายมือกรรมจะต้องทำเซ็นเซอร์แต่อย่างใด
เช่นนี้ พอจะฟังได้หรือไม่ว่า นายมือกรรมไม่ได้มีเจตนาใส่ความน้องย้วย
ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 326
เพราะผู้กระทำเองก็ไม่ได้แสดงความแน่ใจว่านี่คือภาพของผู้เสียหายหรือไม่?
จบคุณมือกรรมดีกว่า ... มาถึงคุณวันชาติที่เป็นเจ้าของเวบไซต์บ้างว่าจะต้องรับผิดอย่างไร
ความผิดทางอาญานั้น ประการสำคัญคือ ผู้กระทำความผิด จะต้องกระทำโดยเจตนา
ซึ่งเป็นหลักที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญา
เมื่อกระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท
ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท
หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
หลักการว่าบุคคลต้องรับผิดทางอาญาได้อย่างไรนั้น ประการแรก
บุคคลนั้นจะต้องมีการกระทำประการหนึ่งประการใดขึ้นมาก่อน การกระทำนั้นรวมถึงการละเว้นการกระทำด้วย
ตามมาตรา 59 วรรคสุดท้าย
ที่บัญญัติรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นผิดที่ต้องอาศัยเจตนาในการทำ
และไม่มีความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง
ดังนั้นเราจะพูดกันแต่เรื่องของเจตนาในการกระทำความผิด เท่านั้น
เจตนาคืออะไร ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสอง ว่า กระทำโดยเจตนา
ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกัน ผู้กระทำประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
โดยศาสตราจารย์ ดร. จิตติ ติงศภัทิย์ บรมครูทางกฎหมาย ได้อธิบายความไว้ดังนี้ว่า
การกระทำโดยรู้สำนึกนั้น แม้จะเป็นลักษณะประการหนึ่งของจิตใจ
แต่ก็เป็นแต่เพียงองค์ประกอบแสดงสภาพของการกระทำดังกล่าวมาแล้ว องค์ประกอบสภาพจิตใจคือ เจตนา
ได้แก่ความประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำนั้น ซึ่งหมายความถึงผลสำเร็จแห่งการกระทำนั้นเอง
(but immédiat) รวมทั้งผลอันเกิดขึ้นจากการกระทำ (résultat) นั้นด้วย
เหตุนี้เจตนาจึงมิใช่แต่เพียงการกระทำโดยรู้สำนึก หรือจิตใจบังคับอิริยาบถเท่านั้น
แต่จะต้องประกอบด้วยความมุ่งหมายต่อผลตามความหมายดังกล่าวนั้นอีกด้วย ... (หมายเหตุ :
การเน้นตัวหนาเป็นการเน้นของผู้เขียนเอง)
จากคำอธิบายข้างต้น ย่อมเห็นได้ว่า
เจตนานั้นจะต้องเกิดจากการที่มีการกระทำที่จะทำให้เกิดผลประการหนึ่งประการใด
แต่ผู้กระทำนั้นจะต้องรู้สำนึก และมุ่งหมายให้เกิดผลนั้นอย่างแท้จริง เช่น ควักปืนมายิง
คู่อริที่กลางกระหม่อมหวังให้ตาย หยิบโทรศัพท์มือถือของเพื่อนกะเอาไปปล่อยตามมาบุญครอง
หรือการกระทำที่ไม่ได้มุ่งผลประการใดประการหนึ่งอย่างชัดเจน
ในทางตำราที่ครูบาอาจารย์มักจะให้คำอธิบายไว้ คือ การยิงปืนเข้าไปในที่ชุมชน
ขับรถฝ่าเข้าไปกลางฝูงชนด้วยความเร็วสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้กระทำการดังกล่าวจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดนั้นด้วย
ตามมาตรา 59 วรรคสาม ที่บัญญัติไว้ดังนี้ว่า
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
เมื่อนายวันชาติ เป็นเจ้าของเวบไซต์กระดานข่าวสาธารณะ ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ภาพปัญหานั้นเอง
จะถือว่านายวันชาติเป็นผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ ? หรือหากจะมองว่า
นายวันชาติกระทำโดยการละเว้นการกระทำโดยการไม่ลบภาพที่มีปัญหาดังกล่าวเสีย
ก็ต้องกลับไปดูหลักเรื่องเจตนาในข้างต้นว่า นายวันชาติได้รู้สำนึกของการ ละเว้น นั้นหรือไม่
หากนายวันชาติรู้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ลบ เช่นนี้ก็อาจจะฟังได้ว่านายวันชาติเองมีเจตนาที่จะ ละเว้น
การกระทำ เพื่อให้มีภาพนั้นปรากฏอยู่บนกระดานข่าวสาธารณะของเขา
แต่ถ้านายวันชาติไม่ได้รู้ เลยไม่ได้ลบ
จะถือได้อย่างไรว่านายวันชาติรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 59 วรรคสาม
หากทันทีที่เมื่อรู้ นายวันชาติก็ได้ลบภาพนั้นเสีย ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาว่า
หากนายวันชาติได้รู้ข้อเท็จจริงอันอาจเป็นองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว นายวันชาติก็จะไม่
กระทำการ (คือการปล่อยให้ภาพปัญหาแสดงอยู่ในระบบ) ดังกล่าว
ซึ่งจะนำเอากรณีของนายวันชาติไปเปรียบเทียบกับกรณีของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยทั่วไปไม่ได
้ เพราะกระดานข่าวสาธารณะนั้น โดยเทคโนโลยีแล้ว
เจ้าของกระดานข่าวจะไม่สามารถตรวจดูข้อความก่อนที่จะนำขึ้นแสดงในระบบได้เลย
แต่เจ้าของกระดานข่าวจะมีสิทธิในการลบข้อความที่ไม่เหมาะสมออกจากระบบได้
แต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนนั้น มีหน้าที่และความสามารถในการ
กลั่นกรอง"ข้อมูลที่จะส่งไปตีพิมพ์เผยแพร่
และเป็นความรับผิดชอบทั้งในทางกฎหมายและทางจารีตประเพณีว่า
บรรณาธิการจะต้องให้ความเห็นชอบข่าวและบทความทั้งหลายที่ได้ตีพิมพ์หรือเผยแพร่
กล่าวคือหากภาพดังกล่าวไปปรากฏในหนังสือพิมพ์ได้ ต้องผ่านตาบรรณาธิการ
และบรรณาธิการเห็นชอบแล้วเท่านั้น
ลักษณะของเจ้าของกระดานข่าวสาธารณะ ก็เหมือนเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง วันหนึ่งหากมีคนเอารูปโป๊
หรือข้อความหมิ่นประมาทไปแปะรั้วบ้านท่านโดยท่านมิได้รู้ได้เห็นด้วย กว่าจะมาเจอรูปก็แปะอยู่ข้ามวันแล้ว
เช่นนี้หากจะให้ท่านต้องรับผิดโดยถือว่าเป็นผู้ร่วมหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นด้วย
เพียงเพราะเป็นเจ้าของบ้านกระนั้นหรือ ?
อนึ่ง ความเห็นข้างต้นของผู้เขียนนั้น
เป็นความเห็นทางกฎหมายของปัจเจกชนผู้ศึกษากฎหมายคนหนึ่งเท่านั้น หาใช่เป็นการ ฟันธง
หรือชี้นำผลแห่งคดีแต่ประการใด...
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนนั้นสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า
การที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการควบคุมตัวและคัดค้านการประกันของผู้ต้องหาเป็นเวลานานถึงสี่วัน
และเรียกหลักประกันสูงถึงสามแสนบาท (ซึ่งเทียบเท่ากับกรณีการค้ายาเสพติด) ในความผิดฐานหมิ่นประมาท
ซึ่งมีอัตราโทษต่ำเพียงไม่เกินหนึ่งปี และโดยสภาพความผิดฐานหมิ่นประมาทนี้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้
และเป็นความผิดต่อชื่อเสียงของบุคคล มิใช่ความผิดต่อรัฐ
(เพราะถ้าเป็นความผิดต่อรัฐจะเป็นความผิดที่ยอมความกันไม่ได้)
ตำราทางกฎหมายบางตำราถือว่าความผิดต่อปัจเจกบุคคลเช่นนี้ เป็น กฎหมายเอกชน ด้วยซ้ำ
แต่รัฐก็ใช้อำนาจรัฐชนิดมหาศาล เข้าตรวจค้นที่ทำงานและบ้านของผู้ต้องหาเยี่ยงเป็นอาชญากรร้าย
รวมทั้งประกาศให้ผู้อื่นที่ทำการโพสต์ภาพเข้ามอบตัว
(โดยที่ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ถึงเวบไซต์อื่นๆเลย?) การกระทำของพนักงานสอบสวนเช่นนี้
ชอบด้วยกฎหมายและชอบธรรมแล้วหรือไม่ ? รวมทั้งสื่อมวลชนซึ่งประโคมข่าวด้วยข้อความที่เหยียดหยามผู้ต้องหา
ว่าเป็นไอ้โรคจิตบ้าง ไอ้วิปริตบ้ากามบ้าง เช่นนี้เป็นการเคารพในสิทธิของผู้เสียหายแล้วหรือยัง
และพนักงานสอบสวนรวมถึงสื่อมวลชน เคยผ่านตาข้อความว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร
ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 และมาตรา 33 ที่ว่า ในคดีอาญา
ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด...ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้
กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ หรือไม่ ?
มีใครตอบผมได้บ้าง
แต่คำถามหนึ่งซึ่งไม่เฉพาะแต่จะคาใจผม แต่คาใจคนส่วนใหญ่ที่ได้อ่าน โจทย์ตุ๊กตา(เสียกบาล)
เรื่องนี้ คือทำไม ภาพเดียวกันกับที่ลงในอินเทอร์เน็ต เมื่อหนังสือพิมพ์นำไปลง
(ซึ่งจำนวนผู้ได้ดูภาพก็เท่าจำนวนยอดขายของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ
ซึ่งมากกว่าปริมาณคนเข้าไปอ่านเวบไซต์ไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเท่า) ทำไมผู้เสียหายถึงไม่รู้สึก เสียหาย
บ้าง ? หรือไม่สำแดงอาการว่าจะฟ้องร้องหนังสือพิมพ์เหล่านั้นแต่ประการใด ...
มาตรฐานความ เสียหาย ของน้องย้วยผู้เสียหายมันอยู่ตรงไหนกันแน่ ...
ข้อนี้คุณบุญชิต ผู้มีจิตนาการสูงส่งในการจับแพะชนแกะ...
จะมาสาธยายให้ฟังในภาคที่สองของบทความ....
***หมายเหตุ - ติดตามงานเขียนอื่นๆ ของ "บุญชิต ฟักมี" ได้ที่ นิตยสาร Mars