[ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ยุติธรรม น. ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล, เช่น ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี. ว. เที่ยงธรรม, ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล, เช่น ราคายุติธรรม กรรมการตัดสินอย่างยุติธรรม. ]
1
ความยุติธรรมในที่นี้ จะว่าถึงในสนามแข่งขันหมากรุกไทยเท่านั้น ด้วยคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นมาตรฐานอีกอย่างหนึ่งที่ต้องมี ก็ขอจับมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันสักหน่อย อาจมีประเด็นที่กว้างขวางกว่านี้มาก ซึ่งก็คงได้ว่ากันต่อไป ความคิดเห็นนี้เป็นอย่างแคบ ด้วยเป็นของผู้เขียนเพียงคนเดียว ซึ่งอาจบกพร่องและผิดพลาดได้อย่างไม่จำกัด จากสนามแข่งขันหมากรุกที่ผ่านมาหลายครั้ง มักมีการกล่าวถึงปัญหาความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน หรือเมื่อการแข่งขันจบสิ้นลงแล้ว ขอยกมาสัก ๔ ประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจ
2
๑ การล้มกีฬา จากพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๖ “การล้มกีฬา” หมายความว่า การเข้าแข่งขันกีฬาอาชีพโดยแสร้งแพ้หรือโดยกระทำการหรือไม่กระทำการแข่งขันกีฬาอาชีพโดยมีเจตนาทุจริต และให้หมายรวมถึงการเข้าแข่งขันกีฬาอาชีพโดยสมยอมกันเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่กำหนดไว้เป็นการล่ว งหน้า การล้มกีฬา หรือที่เรียกกันว่าล้มมวย หรืออื่นๆ ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือการแข่งขันแบบสมยอมและล็อคผลการแข่งขันล่วงหน้า อันเป็นพฤติกรรมอำพรางหรือหลอกลวงผู้อื่น ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวมีบทลงโทษทางอาญาถึงขั้นอาจติดคุกได้สูงสุด ๕ ปี ทั้งผู้ว่าจ้างหรือตัวนักกีฬาที่ล้มกีฬา แสดงให้เห็นว่าความผิดดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งความเสียหายดังกล่าว อาจมีต่อนักกีฬาอื่น ผู้ชม กระทั่งถึงผู้จัดการแข่งขันและสปอนเซอร์ และก็เป็นเหตุแห่งความเสื่อมของกีฬาได้อย่างหนึ่ง
3
๒ การตัดสินไม่ยุติธรรม การตัดสินที่ไม่ยุติธรรมในการแข่งขันกีฬาใดๆ จนเป็นเหตุให้มีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียประโยชน์อย่างอย่างที่ไม่ควรจะเป็น นอกจากทำลายความรู้สึก ทำลายหลักเกณฑ์แล้ว ยังเป็นการทำลายกีฬานั้นให้ต้องด้อยคุณค่าลง พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี ๒๕๕๗ นี้ ได้กำหนดโทษจากการตัดสินไม่ยุติธรรมนี้หนักกว่าการล้มกีฬาเป็นเท่าตัว คือการจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี การตัดสินไม่ยุติธรรมจึงนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและทำลายวงการกีฬามากยิ่งกว่าอย่างอื่น ทั้งนี้อาจเกิดจากอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ดังนี้ ๑.๑ อคติ ๑.๒ ผลประโยชน์ ๑.๓ ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ขอที่จะไม่ขยายความหรือยกตัวอย่างประกอบ เนื่องจากเกรงว่าจะยืดยาว และพอจะเข้าใจกันได้ไม่ยาก หมากรุกไทยไม่ได้มีสถานะเป็นกีฬาอาชีพตามกฎหมายฉบับดังกล่าว (เนื่องจาก ๑ ยังไม่มีสมาคม ๒ หากเป็นสมาคมต้องขึ้นกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ๓ คณะกรรมการการกีฬาฯ ไม่ได้ให้ความเห็นชอบเป็นสมาคมกีฬาอาชีพ) บทลงโทษต่างๆ จึงไม่อาจบังคับใช้ แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมจรรยา
4
๓ พฤติกรรมเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นพฤติกรรมที่กระทำหรือแสดงออกและทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรมต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เพียงกรรมการตัดสิน แต่ก็อาจเกิดจากบุคคลอื่นๆ ได้ เช่น กรรมการส่วนอื่น เจ้าหน้า ตลอดถึงผู้ชมที่อาจเป็น โค้ช ครู ญาติ หรือ เพื่อน เป็นต้น พฤติกรรมเช่นนี้ อาจเห็นได้ชัดเจน เช่น การแสดงออกบางอย่างของกรรมการ ฯลฯ หรืออาจยากที่จะรู้ได้ เช่น การแอบส่งซิกด้วยวิธีต่างๆ เป็นต้น พฤติกรรมในข้อนี้ แม้จะไม่ส่งผลเสียร้ายแรงเท่าสองข้อแรก แต่ก็เป็นเหมือนสนิมที่เกาะกินเนื้อในให้ผุกร่อนเสียหาย เป็นส่วนที่ป้องกันและแก้ไขได้ยากกว่าข้ออื่นๆ
5
๔ ความเข้าใจผิด บางครั้ง ด้วยความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด ก็อาจทำให้ผู้แข่งขันและผู้เกี่ยวข้องเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และอาจทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมจากการเสียความรู้สึกและเป็นทุกข์จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนนั้น ความเข้าใจผิดที่พบมากจากการแข่งขันโดยใช้ระบบสวิสแพริ่ง คือไม่เข้าใจว่าในเมื่อคะแนนหลักเท่ากัน แต่ต้องกลับเป็นฝ่ายแพ้หรือได้ลำดับรองกว่าอีกฝ่ายตามคะแนนรอง หรือไท-เบรค แม้ในบางครั้งจะเห็นกรรมการจะได้พยายามอธิบายอย่างละเอียดเพียงใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดที่เข้าใจ ผิดนั้นได้ การคิดคะแนน ไท-เบรค นั้นมีมากมาย และถูกใช้ในกีฬาหลายประเภท ซึ่ง ไท-เบรค ที่แตกต่างกันนี้ ก็ไม่อาจสรุปว่าอย่างใดดีที่สุด ขึ้นอยู่กับความเห็นที่คิดว่าเหมาะสมของผู้ที่รับผิดชอบ แม้แต่กีฬายอดนิยมแต่ละประเทศก็อาจใช้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ฟุตบอลลีกในอังกฤษ จะใช้จำนวนผลบวกที่มากกว่าเป็นฝ่ายชนะเป็นอันดับแรก ส่วนลีกในสเปน จะใช้ผล เฮดทูเฮด คือผลที่ทั้งสองทีมพบกันเป็นลำดับแรก ฝ่ายใดทำได้ดีกว่าก็ชนะไป หากในการแข่งขันที่ผู้จัดฯ ได้ประกาศจะใช้ไท-เบรคแบบใดตามลำดับ ผลของการคิดคะแนนย่อมตายตัว และไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน จึงไม่อาจกล่าวว่าผู้จัดฯ หรือระบบไม่ยุติธรรม ความรู้สึกว่าไม่แฟร์เพราะผลของคะแนนหลักนั้นเท่ากัน แต่อันดับกลับต้องต่ำกว่านั้น ต้องเข้าใจว่าการคิดคะแนนไท-เบรค นั้น มีเรื่องของโชคเกี่ยวข้องอยู่มาก ยกตัวอย่างกรณีของฟุตบอลดังกล่าว การคิดแบบหนึ่งอาจทำให้บางทีมชนะ แต่คิดอีกแบบหนึ่งก็อาจทำให้อีกทีมหนึ่งชนะ การประกาศล่วงหน้าว่าจะใช้แบบใดย่อมถือได้ว่ายุติธรรมกับทุกฝ่าย ในบางสนาม ที่มีการเสมอกันมากๆ การตัดสินหาผู้ชนะโดยการเสี่ยงทายอาจถูกนำมาใช้ ซึ่งอาจดูว่าไม่ใช่การชนะกันโดยฝีมือ ควรที่จะให้มีการแข่งขันจนกว่าจะรู้แพ้ชนะ ก็อธิบายได้ว่า ในการแข่งขันบางรายการอาจถูกจำกัดด้วยเวลา หรือเพื่อความเหมาะสมอื่นๆ หากให้มีการแข่งขันต่อไปอีก อาจยืดเยื้อไปอย่างคาดไม่ถึงได้ ตัวอย่างเช่น การแข่งขันชิงชนะเลิศรายการขุนทองคำบางปี คาดว่าการแข่งขันจะจบลงในตอนเย็น แต่ปรากฎว่าต้องลากยาวไปเพราะเสมอกันมากจนเสร็จข้ามไปอีกวันในเวลาตีสาม !! การเสี่ยงทายหาผู้ชนะในกรณีที่มีการเสมอกันมากนี้ หากมีประกาศไว้ก่อนหน้าการแข่งขันแล้ว ก็จึงเป็นข้อยุติร่วมกันที่ต้องให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งหากผู้จัดฯ ไม่ต้องการให้มีการเสี่ยงทาย ก็อาจต้องคิดและใช้วิธีอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่อาจจะได้ว่าถึงต่อไป ความเข้าใจผิดจนทำให้ผลที่ยุติธรรมแล้ว ต้องกลับกลายเป็นอยุติธรรมสำหรับบางบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่เข้าใจในข้อเท็จจริง ควรแก้ไขโดยการให้ความรู้ หรือคำแนะนำต่างๆ เพื่อให้ปัญหานี้ลดลง หรือหมดไปในที่สุด ความรู้เรื่องไท-เบรคนี้ คงจะได้ถูกนำเสนอให้ทราบกันอยางแพร่หลายต่อไป ความยุติธรรม ต้องนับเข้าเป็นมาตรฐานหนึ่งที่สำคัญและต้องมี ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือตัวบุคคลที่มาทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน กรรมการมืออาชีพ หรือเรียกอย่างย่ออีกหน่อยหนึ่งว่ากรรมการอาชีพ จึงเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ที่ต้องเกิดก่อน เพราะแม้จะมีข้อบกพร่องในส่วนกติกาหรืออื่นๆ แต่หากกรรมการมีความความเที่ยงธรรมและเข้าใจจริง ก็สามารถทำให้ความยุติธรรมเกิดแก่ทุกฝ่ายได้