[ กลับหน้าหลัก ]


เรื่องราวหมากรุกไทย by วินัย ลิ้มดำรงค์ชิต ตอน "กติกาหมากรุกไทย"



ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 1/(ท่าจะยาวหรืออาจไม่จบ ก็ขอเว้นเลขไว้)

เกม หรือ กีฬาใดๆ จะต้องมีการกำหนดชัดเจนถึงรูปแบบและวิธีการต่างๆ ให้ทราบตรงกัน
ไม่เช่นนั้นก็อาจปฏิบัติกันไปต่างๆ นานา อันจะทำให้เกิดปัญหาที่ยากจะสรุปและยุติ สำหรับหมากรุกไทย
ไม่ว่าจะโดยสถานะของการเป็นเกม หรือกีฬา ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดกติกาที่เป็นมาตรฐาน



พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำตามหัวเรื่องนี้ ดังนี้



กติกา [กะ-] น. กฎเกณฑ์หรือข้อตกลงที่บุคคลตั้งแต่ ๒ ฝ่ายขึ้นไปกําหนดขึ้นเป็นหลักปฏิบัติ เช่น
กติกาชกมวย กติกาฟุตบอล; (กฎ) หนังสือสัญญา;ข้อตกลง. (ป.; อ. covenant).



หมากรุก น. การเล่นชนิดหนึ่ง ใช้ตัวหมากซึ่งมีรูปและชื่อต่างกันได้แก่ ขุน เรือ ม้า โคน เม็ด และเบี้ย
เดินบนกระดานสี่เหลี่ยมจัตุรัส แบ่งเป็น ๖๔ ตาเท่า ๆ กันเรียกว่า กระดานหมากรุก. (การให้ความหมายตามนี้
ควรจะมีกับคำว่า "หมากรุกไทย" เท่านั้น เพราะ "หมากรุก" ไม่ได้มีแต่ของชาติไทย
หมากรุกอื่นๆ ย่อมไม่มี และไม่เคยมี ขุน เรือ ม้า โคน เม็ด และเบี้ย)



*********************************

ปีนี้ ได้ยินการกล่าวถึงกติกาหมากรุกไทยกันมาก มีทั้งที่บอกว่าหาไม่ได้เลย และที่พอหาได้
แต่อยากได้ฉบับที่ดีกว่าจนถึงดีที่สุด ก็มานึกได้ว่าหมากรุกไทยที่เป็นหมากกระดานอย่างหนึ่งนี้
มีความด้อยกว่าหมากกระดานอื่นมากมายจริงๆ นับแต่การขาดองค์กรรับผิดชอบ
หรือกระทั่งไม่มีกติกาที่ให้ยึดถือได้อย่างมั่นใจในความมีมาตรฐาน



กติกาหมากรุกไทยของเดิม ที่มีการเขียนและใช้กันก็มีหลายฉบับอยู่
ทุกฉบับหากนับดูก็จะพบว่าเวลาห่างจากปัจจุบันไม่น้อย เพราะฉะนั้น แม้ไม่ดูแต่ละฉบับเลยก็ตาม
ก็คาดเดาว่าความเป็นปัจจุบันหรือความเหมาะสมนั้นคงจะไม่ได้ เช่น
การนำนาฬิกาหมากรุกมาใช้เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ประกอบการแข่งขัน ก็พึ่งมีมาไม่นานนี้
(ไม่อยากบอกว่าเป็นหมากกระดานประเภทสุดท้าย) กติกาเดิมที่ไม่ได้กล่าวถึง ก็จึงไม่น่าจะใช้ได้แล้ว
เป็นต้น



ถ้าเช่นนั้น จะหากติกาฯ ที่พอจะนำมาใช้ได้ (หรืออาจดีจนถึงขั้นเป็นมาตรฐาน) ได้จากไหน ?
เพื่อนำมาใช้ในการแข่งขันระดับต่างๆ และเป็นเป็นตัวกำหนดที่เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย ทั้งผู้จัดการแข่งขัน
กรรมการ ผู้เข้าแข่งขัน ผู้ปกครองและผู้ฝึกสอน ตลอดจนผู้ชมและผู้สนใจ



"ความน่าเชื่อถือ" น่าจะมีส่วนสำคัญในการนำกติกาฉบับใดก็ตามมาใช้ ดังนั้น
กติกาดังกล่าวจึงควรถูกประกาศและนำมาใช้โดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ใกล้เคียงที่สุดในปัจจุบันคือ
สมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมากรุกไทยเป็นหนึ่งในประเภทหมากกระดาน
ร่วมกับสกาและหมากฮอส อันนับเป็นเพียงติ่งหนึ่งในสมาคมแห่งนี้ ร่วมกับกีฬาของไทยอื่นๆ



การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสมาคมกีฬาไทยฯ นอกจากเป็นการเปลี่ยนนายกสมาคมฯ จากปลัดกทม.
อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานจนหลายท่านเข้าใจผิดว่าปลัดกทม.เป็นนกยกสมาคมกีฬาไทยโดยตำแหน่ง
หรือกระทั่งเข้าใจว่าสมาคมกีฬาไทยฯ สังกัดกับ กทม. (การต้องใช้สนามหลวงในการจัดงานประจำทุกปี
ก็อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องให้ผู้มีอำนาจในการใช้สนามหลวงและทีมงานเข้ามาบริหารสมาคมแห่งนี้)
มาเป็นบุคคลนอก คือบุตรีของคุณทรงชัย รัตนสุบรรณ ซึ่งเป็นมืออาชีพทางมวยไทย ดังนั้น
กีฬามวยไทยจึงมีกิจกรรมและข่าวคราวต่างๆ ที่โดดเด่น ส่วนหมากรุกไทยก็แทบจะต้องเริ่มต้นด้วยการนับหนึ่ง
คณะอนุกรรมการหมากกระดานล้วนแล้วแต่เป็นหน้าใหม่ จึงเป็นงานยากมาก
เมื่อต่างตั้งใจที่จะทำงานให้เกิดผลดีต่อกีฬาหมากรุกไทย ก็มีงานอีกมากมายที่จะต้องทำกัน



ทราบจากท่านประธานคณะอนุกรรมการหมากกระดาน ของสมาคมฯ ว่ายังไม่มีกติกาดังกล่าว แต่ก็ได้เร่งดำเนินการ
อย่างน้อยเพื่อให้ทันการแข่งขันประจำปีในปีหน้า ก็ได้แต่ให้กำลังใจ
และพยายามคิดว่ามีทางใดที่จะพอเข้าไปช่วยเหลือได้ ก็คิดออกเพียงว่า
ให้กำลังใจกันและทำในสิ่งที่พอจะทำได้ให้ได้และเหมาะสม ซึ่งอยู่ช่วงท้ายของตอนนี้



องค์กรกีฬาที่อาจตั้งใหม่ อาจตั้งได้ในหลายลักษณะ กระทั่งการเป็นสมาคม ก็อาจทำได้หลายๆ สมาคม เช่น
สมาคมที่เป็นอาชีพ และสมาคมที่เป็นสมัครเล่น อย่างที่กีฬาบางประเภทดำเนินการอยู่ เป็นต้น (ตัวอย่างมวย
อาจจะชัดเจน) แต่ประเด็นที่คิดว่าเข้าใจผิดกันมาก คือ องค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่
(สมมุติชื่อว่าสมาคมหมากรุกไทย) ต้องได้รับการยินยอมอนุญาตจากสมาคมกีฬาไทยฯ ก่อน ซึ่งคลาดเคลื่อนอยู่
เพราะสมาคมกีฬาไทยฯ ไม่ใช่เจ้าของหมากรุกไทย อาจเทียบเคียงให้เห็นได้หลายเหตุการณ์
ซึ่งตัวอย่างที่ปรากฎอยู่และเห็นได้ คือแม้จะมีกีฬาหมากฮอสในสมาคมกีฬาไทยฯ
แต่ก็ยังมีสมาคมกีฬาหมากฮอสได้ จะว่าไปแล้ว สมาคมกีฬาหมากฮอส ก็เกิดขึ้นก่อนการที่สมาคมกีฬาไทยฯ
จะบรรจุหมากฮอส เข้าเป็นหนึ่งในประเภทหมากกระดานของสมาคมฯ เสียอีก



กติกาหมากรุกไทย ในความคิดเห็นของผู้เขียนควรมีความเป็นมาตรฐานใน 2 ด้าน คือ รูปแบบ และเนื้อหา
ซึ่งจะได้ว่าถึงในตอนต่อไป (เคยเขียนไว้บ้างแล้ว)



เมื่อมีความเห็นข้างต้น ก็เห็นได้ว่าเป็นงานยากสำหรับกติกาฯ ที่ว่านี้
ผู้เขียนจึงคิดอีกว่าน่าจะแบ่งกติกาหมากรุกไทย ออกเป็น 3 ส่วน คือ



1. กติกาหมากรุกไทยเบื้องต้น เป็นการกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับกติกาการเล่นต่างๆ
สำหรับผู้ที่เล่นไม่เป็นเลย จะได้ใช้ศึกษาและทำความเข้าใจ
และสำหรับผู้เล่นเป็นแล้วก็จะได้ใช้อ้างอิงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน



2. กติกาหมากรุกไทยสำหรับการแข่งขัน จะมีความเข้มข้นของเนื้อหามากขึ้น เป็นการกำหนดเพื่อการแข่งขัน
จะมีความละเอียดชัดเจนกว่าฉบับข้างต้น เช่น ต้องกำหนดให้จับตัววางตาย (ฉบับเบื้องต้น "อาจ"
ไม่มีกำหนด) การกำหนดข้อยุติหรือสิ้นสุดเกมแบบต่างๆ ทั้งหมด (ฉบับเบื้องต้น "อาจ"
มีเพียงการรุกจน และเสมอกรณีอับ หรือนับครบศักดิ์ครบแล้วไม่จน) ฉบับนี้น่าจะยากมาก
เพราะต้องให้สอดคล้องกับที่เป็นอยู่ และแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับกติกาฉบับเก่า
หรือการตีความที่แตกต่างกัน



3. กฎและระเบียบการแข่งขันหมากรุกไทย ส่วนนี้ เป็นฉบับที่ผู้จัดการแข่งขันต้องทำขึ้น
เนืองจากรูปแบบและเงื่อนไขของการแข่งขันแต่ละรายการย่อมมีแตกต่างกันไป เช่น การใช้ระบบการแข่งขัน
หรือเวลาของผู้เล่นแต่ละฝ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ผู้จัดฯ เห็นสมควร



ในข้อ 1. นั้น ผู้เขียนเร่งปั่นอยู่เนื่องจากต้องนำมาใส่ไว้ในหนังสือ
"หลักสูตรหมากรุกไทยเบื้องต้น" คาดว่าจะสำเร็จและพิมพ์เผยแพร่ในปีนี้ ในข้อ 2.
จะได้ทำต่อไปเมื่อข้อแรกสำเร็จ ส่วนข้อ 3.
ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการแข่งขันแต่ละงานที่ต้องทำเอง



*******************************

วางหัวข้อเรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหาและตั้งใจไว้ว่าจะเขียนก่อนครับ (บางเรื่องอาจไม่ได้เขียน
และอาจเขียนเรื่องที่ไมได้วางไว้)



การบังคับเดินและบังคับหงาย

กฎ, กฎซ้อนกฎ และ กฎซ้อนกฎซ้อนกฎ

การเป็นรองและขอนับศักดิ์

การเอาชนะด้วยเวลา

ฯลฯ

โดย : *TBG Member [ 14/09/2013, 11:43:31 ]

1

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 2/..

กินอย่างไรให้ถูกต้อง ??



ว่าจะเริ่มด้วย "การบังคับหงาย" ซึ่งเป็นกรณีที่ผมข้องใจมาก
เชื่อว่าสำหรับหลายท่านก็อาจคล้ายกันไปจนถึงขั้นขัดใจ แต่เมื่อได้เขียน
"กติกาหมากรุกไทยเบื้องต้น" เสร็จ ก็ย้อนกลับมานึกถึงวิธีการกิน (ประสาคนคิดเรื่อยเปื่อยไป)
ว่ากินอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
หรือหากมีปัญหาก็สามารถบอกได้ว่าถูกหรือผิดอย่างไรชัดเจน



รูปแบบการกินที่คิดได้ มี 3 ลักษณะ คือ



1. ยกตัวที่จะกินไปลงตำแหน่งตาหมากของคู่ที่สู้ที่จะถูกกิน พร้อมกับหยิบหมากที่ถูกกินออก



2. เลื่อนตัวที่จะกินไปชนตัวหมากที่จะถูกกินให้เลื่อนออกไป แล้วหยิบหมากที่ถูกกินออก



3. หยิบหมากที่ถูกกินออกก่อน แล้วจึงยกหมากตัวที่จะกินไปตั้งแทน



คำถามที่อยากจะขอความเห็นกัน คือ



1. การแสดงวิธีกินให้ถูกต้องนี้ จำเป็นต้องใส่ไว้ใน "กติกาการแข่งขัน" หรือไม่?



2. หากต้องแสดง คิดว่าควรเป็นวิธีใด? (อาจมากกว่า 1 วิธี)



อาจดูว่าจุกจิกไป เพราะคงไม่เคยเกิดปัญหาจากวิธีการกินนี้
ซึ่งผมมองว่าอาจเกิดปัญหาได้โดยง่ายในเวลาต่อๆ ไป
จากวิธีกินที่ทำได้หลายอย่างตามที่แสดงหากเกรงว่าจะเป็นเรื่องเป็นราวที่ดูเป็นสาระเกินไป เอาแค่บอกว่า
ปกติท่านกินโดยวิธีใดก็พอ และขอขอบคุณครับ :)




(คราวหน้าคงต้องเป็นกรณี "การบังคับหงาย" ครับ)

โดย : *TBG Member   [ 14/09/2013, 11:44:54 ]

2

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 3/..

การบังคับหงาย



ในกรณีที่เกมทำท่าจะยืดเยื้อ ยากจะหาข้อยุติกันได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีหมากเหลือจำนวนหนึ่ง
และฝ่ายที่เป็นต่อกำลังหมากมีเบี้ยคว่ำอยู่
จึงไม่ไปเข้าเกณฑ์การนับศักดิ์กระดานเพื่อยุติเกมด้วยการเสมอ
ที่ปฏิบัติกันมาก็จะเป็นกรรมการเข้าไปให้ฝ่ายเป็นต่อต้องหงายเบี้ยในเวลาอันสมควร



การบังคับหงายนี้ ในอดีต ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะไม่มีการจำกัดเวลาในการคิดของทั้งสองฝ่าย
ไม่ว่าจะเป็นโดยการคิดต่อการเดินหนึ่งครั้ง หรือเวลารวมต่อเกม
แต่เมื่อมีการนำนาฬิการมาจับเวลาให้ผู้เล่นต้องเล่นอยู่ในกรอบของการกำหนดนั้นๆ ก็ทำให้เห็นว่ามีปัญหา
เพราะหากเล่นต่อเนื่องไปก็อาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ไปเนื่องจากใช้เวลาที่มีไปจนหมด



ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคล้องกัน
กล่าวคือเมื่อมีระบบจับเวลาเข้ามาใช้ กติกาบางอย่างก็ต้องปรับให้พ้องกัน เพื่อป้องกันปัญหาอันอาจเกิด
หรือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ควรได้มีการวางเป็นกฎเกณฑ์ชัดเจนลงไป ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า
ราวกับว่ากันไปตามมีตามเกิด เมื่อแก้เสร็จแล้วก็แล้วกันไป คราวหน้าหากมีปัญหาเกิดอีกค่อยว่ากันใหม่



ความพยายามที่จะให้เกมที่ดูไม่มีอะไร และน่าจะเสมอกันนั้นจบลง จึงนำพาไปสู่การบังคับให้มีการนับ
โดยการทำให้ไม่เหลือเบี้ยคว่ำในกระดาน
อันจะเป็นไปได้โดยการกำหนดให้ฝ่ายที่เหลือเบี้ยคว่ำต้องเดินขึ้นไปหงายดังกล่าว
การเข้าไปบังคับหงายของกรรมการนี้ นอกจากจะทำลายความดื่มด่ำและต่อเนื่องของ

เกม อันจะทำให้ความสนุกและสุขใจของผู้เล่นต้องชะงักงัน
จนอาจทำให้บางฝ่ายต้องกลับกลายเป็นความทุกข์ใจแล้ว
ยังเป็นการก้าวล่วงเข้าไปในเกมโดยกรรมการซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลาง
อันอาจทำให้เกิดประโยชน์หรือโทษต่อผู้เล่นในเกมได้ (หรืออย่างน้อยก็คือด้านความรู้สึก)



ที่ตลกร้ายกว่านั้น หากเป็นการแข่งขันที่มีการบันทึกการเล่นไว้
และได้ถูกนำมาย้อนดูก็อาจเกิดความสงสัยว่า ฝ่ายที่เดินแต้มดีจนเป็นต่อ
ทำไมจึงเดินแย่ในท้ายเกมจนเหมือนคนที่พึ่งเริ่มฝึกเล่นหมากรุกโดยการขึ้นเบี้ยไปหงายให้อีกฝ่ายนับ !!



จึงควรมีเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นเหตุเป็นผลเพื่อปรับปรุงให้กติกาหมากรุกไทย "ดูเป็น"
มาตรฐานยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายทางให้เลือก



+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คำถาม(เล่นๆ)ท้ายตอน



1 การนับเป็นสิทธิ์ที่จะขอนับ หรือเป็นสิทธิ์ที่จะนับ?

2 การนับเริ่มต้นโดยฝ่ายใด? ดำเนินไปโดยฝ่ายใด? และจบลงโดยฝ่ายใด?

โดย : *TBG Member   [ 17/09/2013, 10:17:12 ]

3

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 4/..


"การนับ" เอกลักษณ์ที่ยังยุ่งเหยิง 1





"การนับ" เป็นส่วนหนึ่งของการเล่นหมากรุกไทย เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้แตกต่างจากหมากรุกอื่นๆ
(ยกเว้นแถบๆ บ้านเราที่จะคล้ายคลึงกันมาก) เปรียบกับภาษาไทยแล้ว ก็คงประมาณว่าเป็น "สระ"
ต่างๆ ที่อยู่ 4 ทิศรอบตัวอักษร ทั้งด้านหน้า หลัง บน และล่าง ต่างชาติอาจดูรุงรังจนถึงขั้นรำคาญ
แต่สำหรับคนไทยที่ใช้กันเรื่อยมา จนกลายเป็นความเคยชิน และก็คงจะใช้กันต่อเรื่อยไป



การนับนี้ จะเริ่มต้นมีแต่เมื่อใดไม่ปรากฎ
ซึ่งก็คงเป็นส่วนที่แต่งเติมขี้นหลังจากที่เรารับเอาวัฒนธรรมการเล่นหมากรุกของชาติอื่นเข้ามาดัดแปลงเป็น
หมากรุกไทยเราแล้ว



แม้การนับนี้ จะมีปรากฎในหมากรุกอื่นอยู่อีกมาก แต่ก็แตกต่างจากของไทย ยกตัวอย่างในหมากรุกสากล
ที่มีกฎ 50 move draw rule ที่มักแปลกันว่ากฎการนับ 50 ทีเพื่อการเสมอกัน ก็อาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่การนับ
(หรือหากจะเป็นการนับก็เป็นการนับในใจ ไม่ใช่การออกเสียงอย่างของไทย)
แต่เป็นการเคลมเพื่อการเสมอกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบกัน
หากไม่สามารถรุกจน หรือรูปหมากไม่พัฒนาซึ่งดูจากไม่มีการกินกันหรือไม่มีการเดินเบี้ยเลย (ทั้ง 2 อย่าง
จะทำให้เกิดรูปแบบใหม่ในการเล่น จากการที่จำนวนหมากลดลงกว่าเดิม และการที่เบี้ยถอยหลังไม่ได้)
กฎนี้ได้เคยมีการขยายเป็น 100 moves สำหรับกำลังหมากที่คิดกันว่าทำจนได้แต่ต้องเดินมากกว่า 50 ครั้ง
แต่ 100 moves ก็ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ.1992



การนับในหมากรุกสากล จึงนับว่าเป็น "การหาข้อยุติของเกมโดยการเสมอ"
ที่ไม่พิจารณาถึงสถานการณ์ของเกมเลยว่าเป็นอย่างไร ? หรือฝ่ายใดเป็นต่อเป็นรอง ?
พิจารณาเพียงว่าไม่มีการกินและไม่มีการเดินเบี้ยเท่านั้น ส่วนการนับในหมากรุกไทยของหมากรุกไทย
ว่ากันว่าเป็นไปเพื่อ "ให้โอกาสกับฝ่ายเป็นรอง" ดังนั้น การนับนี้จึงเป็น
"การหาข้อยุติของเกมเพื่อการเสมอโดยฝ่ายเป็นรอง" ซึ่งคำว่าเป็นรอง
หรือเสียเปรียบนี้ก็เป็นประเด็นพอสมควร



การพิจารณความเป็นรองเท่าที่เห็นปฎิบัติกันมา ก็เห็นเพียงอย่างเดียวคือ ด้าน "กำลังหมาก"
เท่านั้น (ทั้งๆ ที่ความเป็นต่อเป็นรองนั้นมีได้หลายด้าน อ่านเพิ่มเติมได้ในบันทึกเรื่อง
"การได้เปรียบและเสียเปรียบในหมากรุกไทย !!!" เมื่อ 26 สิงหาคม 2556)
ซึ่งไม่ใช่เพียงจำนวนหมากที่มากกว่า
แต่ต้องให้ชัดเจนว่าได้เปรียบกันจริงเพราะคุณสมบัติหรืออำนาจของหมากแต่ละตัวนั้นแตกต่างกัน
จึงมีการกำหนดค่าของตัวหมากต่างๆ ซึ่งเมื่อรวมของแต่ละฝ่ายแล้วมาเทียบกัน
ฝ่ายที่ตัวเลขรวมมากกว่าก็นับว่าเป็นฝ่ายมีเปรียบ



หากฝ่ายที่ได้เปรียบกำลังหมาก แต่ตกเป็นรองด้านอื่น เช่น เหลือเวลาน้อยกว่า หรือสถานการณ์เริ่มแย่
(เช่น ขุนถูกโจมตีหนัก ฯ) เป็นต้น ก็อาจเกิดปัญหาได้อย่างทันที
เพราะฝ่ายที่เป็นรองกำลังหมากกลับเป็นฝ่ายได้ทีจึงไม่ต้องการนับ
แต่ฝ่ายที่กำลังหมากเหนือกว่าแต่หากเล่นต่อไปนานๆ ก็อาจแพ้ได้กลับต้องการนับ !.....จะทำอย่างไรดี ??

โดย : *TBG Member   [ 18/09/2013, 15:49:22 ]

4

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 5/..
September 21, 2013 at 8:18am

"จับตัววางตาย" กับกรณี "เรือป่อง"


อันว่าการ "จับตัว วางตาย" นั้น
เข้าใจกัน หรือความเห็นเป็นไฉน ?
(1) เมื่อหยิบตัวยกขึ้นแล้ววางไป
แม้ว่าไม่ได้ปล่อยมือถือว่าตาย ?

หรือว่าอาจ (2) วางลงได้คล้ายลองดู
มือจับอยู่แล้วก็พลันเปลี่ยนเป้าหมาย
ย้ายไปวางลงอีกตามือปล่อยคลาย
จึงเข้าข่ายว่าตายตัวไม่มัวหมอง ?

ปัญหาเคยเกิดขึ้นมาคราก่อนเก่า
และยังเล่าต่อมาพาขุ่นข้อง
ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยามยุคทอง
เมื่อเซียนป่องเจอกับแดงยังแคลงใจ

ตามรูปหมากป่องเป็นต่อพอได้ท่า
แต่เวลาเหลือน้อยกว่าพาหม่นไหม้
เมื่อจับเรือแตะตาหนึ่งอย่างทันใด
ขยับไปยังอีกตาพาพิศวง

แดงทักว่าปล่อยมือแล้วมิใช่หรือ ?
ป่องไขสือตอบว่ายังอย่าสัยสง
แดงเล่นต่อด้วยท่าทางอย่างงวยงง
ต้องปลดปลงแพ้พ่ายไปไม่เหลือหลอ

อันการจับแล้วลงวางอย่างที่ว่า
เกิดปัญหาตามมาว่าไหมหนอ
ให้เพียงแตะตาให้ตายเท่านั้นพอ
ไม่ต้องรอให้มือปล่อยคอยเวลา

อัน "เรือป่อง" เป็นปัญหาพาปวดหัว
เพราะว่ามัวจ้องมือปล่อยหรือยังหวา
หากเปลี่ยนใหม่แค่แตะวางเอาล่ะวา
ก็เห็นว่าจะเข้าที ดีเหมือนกัน....นะเออ (หรือ เห็นทีว่าปัญหานี้ ตีตกเอย..เด้อ)


(แทรกเรื่อง "การนับ")

โดย : *TBG Member   [ 23/09/2013, 05:14:27 ]

5

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 6/..
September 22, 2013 at 10:42am

"การนับ" เอกลักษณ์ที่ยังยุ่งเหยิง 2

กับคำถามที่ทิ้งท้ายตอนก่อนว่า

"หากฝ่ายที่ได้เปรียบกำลังหมาก แต่ตกเป็นรองด้านอื่น เช่น เหลือเวลาน้อยกว่า
หรือสถานการณ์เริ่มแย่ (เช่น ขุนถูกโจมตีหนัก ฯ) เป็นต้น ก็อาจเกิดปัญหาได้อย่างทันที
เพราะฝ่ายที่เป็นรองกำลังหมากกลับเป็นฝ่ายได้ทีจึงไม่ต้องการนับ
แต่ฝ่ายที่กำลังหมากเหนือกว่าแต่หากเล่นต่อไปนานๆ ก็อาจแพ้ได้กลับต้องการนับ !.....จะทำอย่างไรดี
??" นั้น

ขอย้อนกลับมาพิจารณาดูการได้เปรียบเสียเปรียบกัน 3 ด้าน อันได้แก่ กำลังหมาก สถานการณ์ (ตัวอย่างเช่น
กรณีขุนถูกโจมตีหนักฯ) และเวลา จะเห็นว่าการได้เปรียบด้านกำลังหมากนั้น เป็นส่วนที่เบาหรือน้อยที่สุด
! ซึ่งบางครั้งหากให้เล่นเรื่อยไป กำลังที่มากกว่านั้นก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ชนะได้ !
แต่ความได้เปรียบอีกสองด้านกลับน่าจะมีโอกาสมากกว่า !!

หากเรียงลำดับ จึงน่าจะเป็นการได้เปรียบด้านเวลามีค่าหรือความสำคัญเป็นอันดับแรก ด้วยว่าทำให้ชนะแน่นอน
หากควบคุมความได้เปรียบนี้ไปเรื่อยๆ และไม่มีอุบัติเหตุอื่นๆ มาขัดขวางก่อน เช่น เกิดการอับ เป็นต้น

ความได้เปรียบด้านสถานการณ์ เช่น อาจเป็นโดยรูปหมากที่ทางดีกว่า
หรือเป็นฝ่ายเปิดศึกโจมตีขุนได้อย่างเป็นผล เป็นต้น ก็น่าจะมีค่ามาก
ด้วยอาจเห็นได้ว่าการเดินดังกล่าวเป็นการใช้ตัวหมากต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งดีกว่ามีกำลังหมากที่มากกว่าแต่ใช้ได้ไม่เต็มที่

การไปถือเอาเพียงการเสียเปรียบด้านกำลังหมากว่าเป็นรองและมีสิทธิ์นับศักดิ์ได้ จึงดูไม่เป็นเหตุเป็นผล
ที่หากฝ่ายได้เปรียบกำลังหมากจะเป็นฝ่ายนับกลับทำไม่ได้
เพราะถูกกำหนดเอาไว้แล้วว่าเป็นสิทธิ์ของฝ่ายเป็นรอง
เมื่อเกิดกรณีที่มีต่างฝ่ายต่างได้เปรียบและเสียเปรียบ เช่น ฝ่ายได้เปรียบกำลังหมาก
แต่เวลาเหลือน้อยกว่าเป็นฝ่ายขอนับ ซึ่งอาจได้เห็นการวินิจฉัยของกรรมการออกมาแปลกๆ เช่น ไม่ให้นับ
เว้นแต่ฝ่ายเป็นต่อจะเดินหมากไปให้อีกฝ่ายกินจนตกเป็นรองก่อน (อันนี้...ไม่แน่ใจว่าควรขำไหม?..) ฯลฯ

คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นภายใต้กรอบกติกาที่มี หรือโดยความเข้าใจที่มีมากัน
ก็ยากที่จะมีคำตอบที่ดีให้ได้ และก็อาจทำให้เห็นว่า ฝ่ายที่ได้เปรียบกำลังหมาก
กลับกลายเป็นฝ่ายเป็นรองตรงที่ไม่มีทางเลือกในการนับศักดิ์กระดานเพื่อขอเสมอ
(ชวนให้สงสัยว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันอยู่แน่)

เมื่อกติกาให้การไล่เป็นสิทธิ์ของฝ่ายเป็นรองที่เสียเปรียบกำลังหมากในการนับเพื่อผลเสมอ
สิ่งที่ฝ่ายเป็นต่อ(เพราะได้เปรียบกำลังหมาก)จะทำได้หากต้องการเสมอ ก็เป็นเพียงการขอเสมอ
ซึ่งก็ต้องขึ้นกับอีกฝ่ายว่าจะยินยอมตามนั้นหรือไม่

ประเด็นปัญหาและแนวทางออกอันเกี่ยวกับ "การนับ" (เฉพาะของตอนนี้)

1. การพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นรองเพื่อการนับ
หากดูแต่ด้านกำลังหมากที่เสียเปรียบก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้จึงอาจต้องเพิ่มการพิจารณาด้านอื่นประกอบด้วย
(คือเวลา และสถานการณ์) หรือให้การเสียเปรียบด้านต่างๆ นับให้เป็นฝ่ายเป็นรองที่มีสิทธิ์นับได้ทั้งหมด

2. ฝ่ายเป็นต่อจะมีสิทธิ์นับได้หรือไม่ (เมื่อเข้าสู่เกณฑ์ที่จะนับได้ คือไม่มีเบี้ยคว่ำในกระดานแล้ว)
เพราะแม้จะเป็นต่อทุกด้าน แต่อาจต้องการเพียงผลเสมอก็พอ จึงอาจต้องการให้เกมจบโดยเร็ว เป็นเช่นนี้
จะให้ฝ่ายได้เปรียบเป็นฝ่ายเริ่มนับได้ไหม ? [ จะได้ไม่เสียเปรียบอีกฝ่าย :) ]

โดย : *TBG Member   [ 23/09/2013, 05:15:30 ]

6

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 7/..
September 24, 2013 at 1:37pm

บันทึกที่หายไป !!





หมากรุกไทย เป็นกีฬาที่เน้นการใช้ความคิดเป็นสำคัญ มีข้อจำกัดน้อยมากเมื่อเทียบกับกีฬาอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นอายุ หรือสภาพของร่างกาย ฯลฯ
ขอเพียงสามารถติดต่อกับผู้อื่นรู้เรื่องก็สามารถเล่นกีฬานี้ได้



จากการเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความคิดอย่างมากดังกล่าว การใช้เวลาจึงมีความสำคัญที่จะช่วยทำให้การคิดทำได้ดี
จึงต้องมีเวลาที่เพียงพอในการคิดแต่ละเกม ซึ่งในการเล่นทั่วไปก็อาจไม่ได้มีจำกัด
แต่ในการแข่งขันจำเป็นที่จะต้องมีระบุลงไปชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกา
และความเหมาะสมของงานนั้นๆ



ที่น่าแปลกใจคือ ในการแข่งขันระยะหลังนี้ ไม่ปรากฎว่ามีการจดบันทึกการเล่น
หรือหากจะมีก็น้อยมากในบางรุ่นและบางรอบ(ลึกๆ) เท่านั้น ทั้งนี้ ไม่นับการจดแต้มโดยผู้ชม หรือกรรมการ
ก็อาจนับว่ายังเป็นความไม่เป็นมารตรฐานอีกอย่างหนึ่งของหมากรุกไทยยุคปัจจุบัน
นอกเหนือจากการขาดกติกามาตรฐานและองค์กรรับผิดชอบ



บันทึกการแข่งขันโดยผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายที่ต่างต้องจดเช่นกัน
นอกจากจะเป็นหลักฐานช่วยแก้ปัญหาในกรณีเกิดข้อขัดข้องสงสัยบางประการได้แล้ว
ผู้เล่นสามารถเก็บสำเนาของบันทึกมาศึกษาภายหลังได้
และบันทึกดังกล่าวก็อาจถูกนำมาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาด้านวิชาการของกีฬานี้ต่อไป



ในการจัดการแข่งขัน มักเป็นการกำหนดวันที่จะจัดเป็นการตายตัวลงไปก่อน
แล้วจึงมาพิจารณาเวลาของการแข่งขันว่าควรจะเป็นอย่างไร
เวลาต่อกระดานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแข่งขันเป็นไปตามกำหนดหรือไม่
ซึ่งจำนวนวันที่มักกำหนดไว้น้อย เช่น 1 - 2 วัน ก็ทำให้ต้องจำกัดเวลาเล่นของผู้เล่นลงไป
ทำให้ต้องแข่งในเวลาที่ไม่เป็นมาตรฐาน ส่งผลให้ต้องละเว้นการจดบันทึกการแข่งขันอย่างน่าเสียดาย



หมากรุกไทยเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความคิด
จึงต้องมีเวลามากพอสมควรดังกล่าวเพื่อการคิดให้มีประสิทธิภาพที่สุด
เวลาที่เป็นที่ยอมรับกันว่าเหมาะสมคือ 90 นาทีต่อฝ่ายต่อเกม (อาจมากหรือน้อยกว่านี้บ้าง)
แต่จากการจำกัดวันแข่งและจำนวนรอบที่มาก ก็ทำให้เวลาต่อเกมต้องลดน้อยลง
ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจดบันทึก
เพราะเวลาที่น้อยลงดังกล่าวทำให้การจดต้องกลายเป็นภาระที่ต้องใช้เวลาและรบกวนเวลาที่ต้องใช้ไปในการคิด



หมากรุกไทย จึงมีสิ่งที่เห็นได้ว่าขาดความเป็นมาตรฐานเมื่อเทียบกับหมากกระดานประเภทอื่น
ที่เห็นว่าเทียบเคียงได้โดยเป็นการวิ่งตามหลังชาวบ้าน คือการใช้นาฬิกาหมากรุก(Chessclock)
และการใช้การแข่งขันระบบสวิส แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่และเห็นกันได้คือ องค์กรรับผิดชอบโดยตรง
กติกาที่เป็นมาตรฐาน ระบบการคิดคะแนนและจัดระดับผู้เล่น (Ranking) และการจดบันทึก ฯลฯ



มาตรฐานอย่างอื่น อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้เกิดขึ้น แต่การจดบันทึกนี้ สามารถทำได้ทันที
ระยะแรกอาจขลุกขลักบ้าง ขัดเขินอยู่บ้าง
แต่ไม่ช้าก็จะกลายเป็นสิ่งคุ้นเคยจนเป็นปรกตินิสัยของนักหมากรุกไทยในสนามแข่งขัน ขอเพียงแต่ในการแข่ง
ต้องให้ใช้เวลากันให้มากและเหมาะควร สมกับเป็นกีฬาที่ต่อสู้กันทางปัญญาความคิดที่แท้จริง

โดย : *TBG Member   [ 24/09/2013, 17:01:50 ]

7



ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 9/..
September 28, 2013 at 12:41pm
การรุกล้อหรือเดินซ้ำ 3 ตา ทำให้เสมอ ?!

กติกาหมากรุกไทย อันเกี่ยวกับการเสมอโดยการเดินซ้ำๆ หรือวนเวียนไปมานั้น ออกไปทางไม่ค่อยชัดเจนนัก
หรือแม้จะมีความเข้าใจถูกต้อง แต่ในตัวกติกาที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรกลับไม่มี
หรือมีก็เพียงเล็กน้อยจนยากจะเข้าใจได้ ว่าต้องเป็นในลักษณะใด

กติกาการแข่งขันหมากรุกไทย สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2546

" 15. เกมส์เสมอ
15.1โดยการเดินหมากไป-กลับ 3 ครั้ง และรูปหมากไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม"

เนื่องจากไม่ได้ระบุว่าการเดินหมากไป-กลับ 3 ครั้งนั้น เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย
และที่ว่ารูปหมากไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมนั้น เป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่าย
ก็อาจมีการตีความที่เป็นความเข้าใจผิดได้

การแข่งขันหมากรุกไทยที่จัดโดย ปตท. รอบชิงชนะเลิศในปีนี้
ผู้แข่งขันท่านหนึ่งได้ประท้วงว่าคู่ต่อสู้เดินซ้ำตาเดิม 3 ครั้ง และขอให้เกมเสมอกัน
เป็นความน่าสนใจที่ได้กล่าวถึงบ้างแล้วนั้น ขอสรุปในกรณีดังกล่าวอย่างสั้นๆ ดังนี้

1 การเดินซ้ำตาเดิม จะกี่ครั้งก็ตาม เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้โดยไม่ผิดกติกา
ดังนั้นจึงไม่เป็นเหตุให้ประท้วง
2. การเดินซ้ำตาเดิมๆ ของฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้ต้องเสมอกัน ไม่เช่นนั้น
หากเราต้องการเสมอก็เพียงเดินซ้ำในฝ่ายเราเองหลายๆ ครั้ง แล้วก็ขอเคลมเสมอ
ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลที่จะยอมรับกันได้แน่นอน
3. การไม่มีบันทึกการแข่งขันที่จดโดยผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย ก็ทำให้ขาดหลักฐานที่จะชี้ชัดลงไป
เรื่องการจดแต้มนี้จึงน่าที่จะได้หยิบยกขึ้นว่ากัน และให้เป็นหน้าที่ที่ผู้แข่งขันทุกคนต้องปฏิบัติ
มีแนวโน้มที่ดีว่าผู้จัดการแข่งขันหลายเจ้า ได้แก่ สมาคมกีฬาไทยฯ และปตท. เป็นต้น
ต่างก็เตรียมดำเนินการในเรื่องดังกล่าว (ต้องรอดูและให้กำลังใจกัน)

วัตถุประสงค์ของการให้เสมอในกรณีเดินวนเวียนดังกล่าว
เนื่องจากมีแนวโนมชัดเจนจะไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันเพิ่มขึ้น
จึงไม่อาจพัฒนาต่อกันจนถึงผลแพ้-ชนะกัน การเล่นต่อไปก็เพียงการใช้เวลามากขึ้นเท่านั้น
แต่ลักษณะของการเดินซ้ำๆ หรือวนเวียนที่ควรจับเสมอกันก็มีการกำหนดหรือเรียกแตกต่างกันไป

การเดินกลับเข้าซ้ำรูปเดิม
หมายถึงจำนวนหมากและตัวหมากทุกตัวเข้าอยู่ในตำแหน่งเดิมทั้งหมดซ้ำกับที่เคยเดินก่อนหน้า
ก็เป็นแนวโน้มที่อาจเห็นได้ว่าเกมเริ่มจะวนเวียนแล้ว แต่ซ้ำกันครั้งเดียวก็อาจเป็นเรื่องบังเอิญได้
แต่หากซ้ำอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็นการซ้ำกัน 3 ครั้ง ก็ค่อนข้างเชื่อได้ว่าเกมไม่พัฒนาแล้ว

การเปรียบเทียบว่า หากถ่ายภาพการเดินทุกครั้งไว้ แล้วเกิดมีภาพที่เหมือนกัน 3 ภาพ
ให้เข้าเงื่อนไขของการเสมอดังกล่าว ก็มีความชัดเจนที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

การกำหนดสั้นๆ เพียงว่า เดินซ้ำ หรือกลับไป-มา 3 ครั้ง จึงไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอให้เข้าใจได้
หรือแม้กระทั่งการ "รุกล้อ" ก็ยิ่งไม่ชัดเจนในอันที่จะเข้าเกณฑ์เสมอดังกล่าว ยกตัวอย่าง
ตามภาพข้างบน



ฝ่ายขาวย่ำแย่ด้วยสถานการณ์ที่ใกล้จะถูกรุกจน ก็อาจพยายาม "รุกล้อ" ดังนี้

1.ร,ข3-ก3+ ข,ก8-ข7
2.ร,ก3-ข3+ ข,ข7-ก6
3.ร,ข3-ก3+ ข,ก6-ข5
4.ร,ก3-ข3+ ข,ข5-ก4
5.ร,ข3-ก3+ ข,ก4-ข4

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่ามีการรุกล้อหลายครั้ง แต่ไม่เข้าลักษณะวนเวียน
เพราะขุนของอีกฝ่ายเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ จึงไม่เกิดตำแหน่งซ้ำเลย คำว่า "รุกล้อ"
จึงไม่ควรมีอยู่ในกติกาเช่นเดียวกับคำว่า "รุกคาด"
เพราะเป็นเพียงการบอกลักษณะการเล่นบางอย่างที่เกิดขึ้นเท่านั้น

"รุกล้อ" หรือ "การเดินหมากไป-กลับ 3 ครั้ง"
จึงไม่น่าจะเพียงพอต่อการให้เสมอตามที่ได้ว่ามานี้

โดย : *TBG Member   [ 28/09/2013, 16:29:05 ]

8

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 10/..
September 30, 2013 at 2:20pm
"การนับ" เอกลักษณ์ที่ยังยุ่งเหยิง 3

การนับศักดิ์กระดาน เป็นสิทธิ์ขอนับ? หรือเป็นสิทธิ์ที่จะนับ? หรือต้องนับทันที?

ยกตัวอย่างจากกติกาบางฉบับ
"กติกาการแข่งขันหมากรุกไทย สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจาปี 2546
....5. เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่มีเบี้ยคว่ำ และฝ่ายหนึ่งเหลือขุนกับหมากอื่นอีกตัวเดียวหรือหลายตัว
อีกฝ่ายหนี่งจะเป็นฝ่ายรอง ฝ่ายหลังมีสิทธิ์ขอนับศักดิ์กระดาน.."

ในทางปฏิบัติที่เป็นมา ชัดเจนอยู่ว่า การนับศักดิ์กระดานนั้น
เป็นสิทธิ์ที่ฝ่ายเป็นรองจะเริ่มนับเมื่อใดก็ได้ (เมื่อเข้าเงื่อนไข คือกำลังหมากเป็นรอง
และไม่มีเบี้ยคว่ำอยู่ในกระดาน) และจะเลิกนับเมื่อใดก็ได้

เหตุที่ตั้งเป็นข้อสงสัย คือ
1. ในกติกา เขียนว่า "..ฝ่ายหลังมีสิทธิ์ขอนับศักดิ์กระดาน.." คำว่า "ขอ" ที่ติดมา
แม้เจตนาจะทำให้ดูเป็นกิริยาที่สุภาพ แต่ก็อาจจะตีความว่าเป็นการ "ขออนุญาต"
ซึ่งก็อาจเป็นการขอต่อคู่ต่อสู้(ที่เป็นต่อ) หรือขอต่อกรรมการ
ซึ่งหากหัวหมอตีความอย่างนี้ก็อาจยุ่งวุ่นวายได้ง่ายดายมาก เพราะคู่ต่อสู้(ที่เป็นต่อ)
ส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากให้นับเพื่อนำไปสู่การเสมอและหากไม่อนุญาตขึ้นมาก็เท่ากับว่าการเขียนไว้เช่นนี้แทบไม
่มีความหมายอะไร ส่วนหากเป็นการขออนุญาตที่จะนับต่อกรรมการ ก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
(หรือให้กรรมการมาช่วยนับ?)
2. ในกติกา เขียนว่า "..ฝ่ายหลังมีสิทธิ์ขอนับศักดิ์กระดาน.."
อันหมายถึงให้ฝ่ายเป็นรองกำลังหมากเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ ซึ่งหากแม้เป็นรองบ้าง
แต่ก็มีโอกาสชนะ(ทั้งโดยรูปหมากหรือเวลา) ฝ่ายเสียเปรียบกำลังหมากก็อาจจะไม่นับ !
เช่นนี้ก็เท่ากับว่าฝ่ายเป็นต่อกำลังหมากกลับตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบที่ไม่สามารถนับได้ !!
3. การนับศักดิ์กระดาน จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด
ต่างจากการนับศักดิ์หมากที่ชัดเจนเมื่อฝ่ายหนีเหลือขุนตัวเดียว(และในกระดานไม่มีเบี้ยคว่ำอยู่)
ก็เป็นอันเริ่มต้นการนับทันที

คิดขำๆ ว่า เมื่อมันยุ่งตรงการนับศักดิ์กระดาน ที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบและไม่แน่นอน
เอาเป็นว่า

1. เมื่อหมดเบี้ยหงายแล้ว ก็น่าจะถือว่าเป็นช่วงท้ายๆ ของเกม
เพื่อไม่ให้เกมยือเยื้อและไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ก็ให้เริ่มการนับได้เลย
ซึ่งอาจจะเป็นการนับออกเสียง
หรือไม่ต้องออกเสียงแต่เมื่อครบศักดิ์กระดานแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถเคลมเพื่อการเสมอได้ (อันนี้คล้าย
50 draw rule ของ Chess)
2. การนับ เป็นการหาข้อยุติของเกมโดยการเสมอ ดังนั้น จะต้องไม่มีการหยุดนับ
แต่อาจเปลี่ยนแปลงจำนวนนับได้ (ตามข้อ 3)
3. กรณีเปลี่ยนจากศักดิ์กระดานไปเป็นศักดิ์หมาก
หากจำนวนทีที่เหลือของศักดิ์กระดานมากกว่าจำนวนศักดิ์หมากที่จะนับ
ก็ให้เปลี่ยนไปเป็นศักดิ์หมากที่จำนวนนับน้อยกว่า แต่หากจำนวนทีที่เหลือของศักดิ์กระดานน้อยกว่า
ก็อาจมีเป็น 2 แนวคิด
3.1 ให้เปลี่ยนเป็นการนับศักดิ์หมาก ซึ่งหมายความว่าจะมีการนับเพิ่มขึ้น
ถือว่าเงื่อนไขการนับได้เปลี่ยนไป จากศักดิ์หนึ่งเป็นอีกศักดิ์หนึ่ง
ซึ่งก็ยังเป็นการหาข้อยุติของเกมอยู่
3.2 ถือเกณฑ์ว่าการนับจะต้องนับต่อเนื่อง ห้ามหยุดหรือเพิ่มจำนวนนับ เช่นนี้
ก็นับศักดิ์กระดานต่อไป

เอามาว่ากันขำๆ นะครับ เพราะเป็นแค่แนวคิดที่ขึ้นอยู่กับความสนใจและความพยายามในการทำความเข้าใจ
อนาคตทั้งหมดที่ว่ามานี้คงจะชัดเจนครับ

โดย : *TBG Member   [ 30/09/2013, 15:10:11 ]

9

ว่าด้วยเรื่อง "กติกาหมากรุกไทย" 11/..
October 3, 2013 at 1:46pm

"กติกาหมากรุกไทย" อีกหนึ่งมาตรฐานที่ขาดอยู่ (.........และความคาดหวัง)





เกมหรือกีฬาใดๆ ต้องมีกฎเกณฑ์กติกาเป็นตัวกำหนดชัดเจน เพื่อให้ทราบและเข้าใจตรงกันในกิจกรรมนั้น
ไม่ใช่ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ซึ่งหากจะเล่นเป็นเพียงเกม ก็คงไม่เข้มงวดมากนัก
แต่เมื่อเป็นกีฬาและต้องเข่งขันกัน กฎฯ ดังกล่าวก็ต้องมีความชัดเจน ครอบคลุมทั้งก่อนแข่ง - ระหว่างแข่ง
- หรืออาจต่อเนื่องเมื่อการแข่งเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด



หมากรุกไทย ยังขาดสิ่งที่บ่งบอกว่ามีความเป็นมาตรฐาน นับแต่องค์กรที่รับผิดชอบ
ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก แต่ก็ยังไม่มี(หรือมี แต่ไม่ชัดเจน?) กิจกรรมการแข่งขันที่มีมา
ก็เป็นโดยองค์กรทั้งภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัด ในลักษณะต่างคนต่างทำกันไป
แม้จะดูว่ามีความมาตรฐานที่เป็นของผู้จัดแต่ละแห่งอยู่
แต่เมื่อมาเทียบเคียงดูแล้วก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง อันไม่อาจจะนับว่าเป็นมาตรฐาน

เดียวกัน



การไม่มีองค์กรดังกล่าว ก็ทำให้กฎเกณฑ์กติกาที่นำมาใช้ขาดความชัดเจนและเหมาะสมในการบังคับใช้
ซึ่งกลายเป็นขึ้นกับตัวบุคคลเป็นสำคัญ ตัวกติกาที่นำมาใช้ ได้มีการจัดทำขึ้นและเป็นที่รู้จักกันอยู่ 2
แห่ง คือ กติกาหมากรุกไทยของบริษัสุรามหาราษฎร์ฯ ที่ใช้สำหรับการแข่งรานการขุนทองคำ
และของสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ชื่อเดิม) ซึ่งนับเวลาก็ได้ผ่านมานานพอสมควร
ทำให้กติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหล่านั้นกลายเป็นประหนึ่งสิ่งของที่ตกรุ่นไป



มีบ้างที่กล่าวว่า กติกาหมากรุกไทยมีความชัดเจนอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นเพียงโดยความเข้าใจเอง
(อย่างที่อยากเรียกว่าเป็นความไม่เข้าใจ เพราะเป็นเพียงรู้กติกาการเล่นทั่วไป
ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่ก็มีความเข้าใจไม่ต่างกัน) ที่หลายเรื่องไม่มีเอกสารที่ยืนยันในความถูกต้อง
จนหลายครั้งที่เกิดความสงสัยหลังการตัดสิน ซึ่งมักไม่มีคำอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
หรือบางครั้งแม้จะอธิบายก็ไม่ได้ความชัดเจน



โดยเหตุที่กติกาที่เขียนกันมา มักมีลักษณะแบบย่อที่อาจเข้าใจได้แต่ผู้ที่สนใจและคลุกคลีกันอยู่
ตัวกติกาจึงกลายเป็นหลักการคร่าวๆ ที่ตั้งเอาไว้ แต่ตัวกติกาจริงๆ
กลับไปอยู่ที่ตัวบุคคลจะกำหนดให้เป็นไป !



ปัญหาอันเกี่ยวกับกติกาที่เกิดขึ้น1. หาฉบับที่เป็นทางการไม่ได้ เป็นด้วยเพราะขาดองค์กรให้อ้างอิง
ที่มีอยู่บ้าง ก็กลายเป็นว่าวัตถุประสงค์เพื่อการจัดแข่งขององค์กรนั้นๆ2. ที่มีอยู่ก็เป็นเหมือนฉบับย่อ
หรือเขียนไว้บางส่วนเท่านั้น ไม่ครอบคลุมด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน หรือไม่ได้สรุปชัดเจนลงไป
ทำให้เกิดปัญหาในการตีความได้หลากหลาย3. เมื่อกติกาไม่ครอบคลุม ไม่ชัดเจน
ก็จึงกลายเป็นว่าบุคคลเป็นผู้กำหนดให้เป็นไปและมีความสำคัญยิ่งกว่า
กติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างมาตรฐานที่จะยอมรับกันได้ จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีก็ได้ ?



สิ่งที่คาดหวัง

1. การเกิดขึ้นของ "กติกาหมากรุกไทย" ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความรู้
ความเข้าใจที่ตรงกัน
มีความเหมาะสมทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมที่ล้ำค่าอย่างหนึ่งของไทย
และการพัฒนาในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมในฐานะที่เป็นกีฬาของชาติไทยอย่างมีเหตุผลและเหมาะควร

2. มีรูปแบบและเนื้อหาเป็นที่น่าเชื่อถือ กล่าวคือ มีรูปแบบที่เป็นทางการ
ซึ่งอาจอิงหรือเทียบเคียงได้กับกีฬาอื่นๆ หรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับอื่นๆ เช่น กฎหมาย ฯลฯ
และเนื้อหาครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น

3. เป็นกติกาที่เน้นการอนุรักษ์ โดยพยายามรักษาของเก่าไว้ให้มากที่สุด หากมีส่วนที่ต้องแก้ไขใดๆ
ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

4. ประกาศใช้โดยมีองค์กรรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ คงต้องเป็นสมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทยในประบรมราชูประถัมภ์
แม้จะเป็นเพียงกีฬาหนึ่งในองค์กรดังกล่าว และดำเนินการในระดับคณะอนุกรรมการ
แต่ก็น่าจะเป็นองค์กรที่เป็นกลางและเป็นที่เชื่อถือมากกว่าองค์กรอื่นๆ
ซึ่งหากพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็น่าจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนกีฬานี้ต่อไป
(โดยไม่ต้องรำร้องหาองค์กรใดอีกเพิ่มเติม)



การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งเข้าท่าบ้าง ไม่เข้าท่าบ้าง
หรือเป็นอย่างได้เรื่องไม่ได้เรื่องบ้างเหล่านี้
ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงให้เห็นถึงความต้องการดังกล่าว คือ "กติกาหมากรุกไทยที่มีมาตรฐาน"
อันอาจเกิดขึ้นโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดๆ ก็ได้ ตัวผมเองก็ได้เริ่มต้นทำ ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร
มีความคาดหวังว่าจะทำสำเร็จกันหลายๆ ฉบับจากหลายๆ ฝ่าย
อันจะได้รูปแบบและความคิดที่หลากหลายและสามารถเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ต่อวงการหมากรุกไทย





หมากรุกไทยเป็นของคนไทยทุกคนนะครับ ต้องช่วยๆ กัน (อย่างน้อยก็ขอความคิดเห็นในเรื่องนี้)





ด้วยความเคารพ

โดย : *TBG Member   [ 03/10/2013, 16:17:18 ]

 
  E-mail: webmaster@thaibg.com Copyright 2002-2024@www.ThaiBG.com (Thailand), All Rights Reserved  
 
  Sponsors