[ กลับหน้าหลัก ]


รำลึกถึงเซียนดอนและเปี๊ยกโพธาราม (1)



เข้าไปอ่านบทความ "เซียนดอน นักโขกหลุดโลก" ซึ่งขุนก้องเขียนถึงเซียนดอนในสยามกีฬา ที่ [url]
http://www.siamsport.co.th/Column/091125_155.html [/url] แล้วให้ระลึกถึงรุ่นพี่ท่านนี้
ก็ขอเขียนถึงในแง่มุมที่ผมได้รู้จัก

แม้เซียนดอนพื้นเพจะเป็นคนอุดร แต่ต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปทำมาหากินที่จังหวัดอุบลราชธานี
ผมเรียนร่วมห้องกับน้องชายของดอนคนหนึ่งช่วงมัธยมต้นที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
(ยุคที่ยังอยู่หลังศาลากลาง) ดอนเป็นพี่ชายคนโตที่ชอบใช้ชีวิตโบยบินสู่โลกภายนอกมากกว่าจะอยู่กับที่

เจอกันครั้งแรก เมื่อตอนเซียนดอนเล่นหมากฮอสกับเซียนแก้ว (พนักงานขับรถเมล์เทาสมัยโน้น)
ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลฯ มีผมเป็นคนดูเพียงคนเดียว ครั้งนั้นเล่นกันเกือบทั้งคืน
ก่อนจะเลิกตอนเกือบใกล้รุ่ง เซียนดอนได้ตั้งหมากกลทิ้งท้ายไว้ให้คิด
ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นความน่าทึ่งของกลหมากฮอส
และเปลี่ยนความคิดจากการให้ความสนใจในรูปหมาก(Position)เป็นหลัก
มาเพิ่มเติมในเรื่องของจังหวะการเดิน(Tempo) ซึ่งรู้สึกถึงความซับซ้อนลึกซึ้งที่ยิ่งกว่า

ผมจึงรู้เพียงว่าเซียนดอนเป็นเซียนหมากฮอสเดินสาย
โดยมีอาชีพที่เห็นคือการขายไม้แคะหูตระเวณไปตามจังหวัดต่างๆ

สมัยโน้น (เอาเป็นประมาณปี 2515 นับย้อนขึ้นไป) ตำราหมากฮอสที่พิมพ์จำหน่ายหายากมาก มีก็เพียงของซ้ง
แซ่ลิ้ม (พญามังกร,ตี๋สามยอด, ตี๋ใบบัวบก) จำนวน 3 เล่ม เป็นเล่มบางๆ ออกแนวจับฉ่าย มีหมากกลดีๆ
หลายรูป

ต่อมามี "แนวการเดินหมากฮอส" ของคุณไพศาล พืชมงคล เป็นหนังสือปกแข็ง เป็นที่ฮือฮามาก

ตำราเล่มนี้มีการจัดหมวดหมู่ของรูปหมากต่างๆ ชัดเจน
ทำให้ผู้เล่นหมากฮอสสนใจและให้ความสำคัญการกับเรียนรู้รูปหมากมากขึ้น
นับเป็นการพัฒนาวงการหมากฮอสอย่างสำคัญช่วงหนึ่ง

คุณไพศาล พืชมงคล ประสบความสำเร็จในการแข่งขันหมากฮอสทั้งในระดับนักเรียน นักศึกษา
และได้รับรางวัลชนะเลิศชิงถ้วยพระราชทานเป็นคนแรก เป็นเจ้าของธุรกิจกลุ่ม "ธรรมนิติ"
และเข้าไปมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง

น่าเสียดายที่ต่อมาคุณไพศาล พืชมงคลไม่ได้ข้องเกี่ยวใดๆ กับวงการหมากฮอสเลย โดยเหตุผลบางประการ

ตำราที่ออกถัดจากนั้นก็ของผู้ใช้ชื่อว่า "อุดร มณฑิล"
ซึ่งจากชื่อที่ใช้ผมรู้ได้ทันทีว่าเป็นของเซียนดอนแน่

ตำราหมากฮอสของเซียนดอนมี 2 เล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เขษมบรรณากิจ ตำราชุดนี้
เซียนดอนเล่าให้ฟังว่าเขียนขึ้นเมื่อตอนขณะที่บวชเป็นพระ
ปัจจุบันจัดเป็นหนังสือหายากเนื่องจากทางสำนักพิมพ์ไม่มีนโยบายในการนำกลับมาพิมพ์ใหม่

ตำราหมากฮอสของเซียนดอนนี้ ค่อนข้างจะดูยากกว่าตำราเล่มอื่น เพราะใช้สัญลักษณ์แบบหมากรุก
ซึ่งเป็นการกำหนดทุกตำแหน่งในกระดานทั้งที่ตาที่ใช้จริงมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
เรียกว่ายากทั้งคนทำคนอ่าน แต่เป็นงานที่มีความละเอียดและแต้มน่าสนใจมากมาย

เมื่อได้ทราบต่อมาว่าเซียนดอนได้เข้าแข่งขันหมากรุกไทยรายการ "ขุนทองคำ" ครั้งแรก
และได้รองแชมป์โดยแพ้เซียนป่องในรอบชิงชนะเลิศ ก็ทำให้ทึ่งว่าฝีมือทางหมากรุกไทยก็ไม่เบาเหมือนกัน

ยิ่งต่อมาเซียนดอนได้เข้าแข่งขันหมากรุกสากลชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย และได้รองชนะเลิศด้วยแล้ว
ก็ทำให้ชื่นชมในความสามารถของรุ่นพี่ท่านนี้

นอกจากตำราหมากฮอส เซียนดอนได้เขียนตำราหมากรุกไทยชุด "แม่ไม้หมากรุกไทย" ไว้หลายเล่ม
ซึ่งเมื่อได้อ่านดูครั้งแรกแล้วก็ออกจะขัดใจ ด้วยว่าเป็นเพียงบันทึกการเล่น ไม่มีคำอธิบายใดๆ เลย
ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาคนมีฝีมือระดับนี้มาทำ เมื่อผมเจอเซียนดอนก็ได้บอกไปตามที่คิดนี้
เซียนดอนหัวเราะ และอธิบายถึงขั้นตอนและความยากในการจัดทำ

เมื่อมาคิดอีกที ผมก็เห็นว่าตำราหมากรุกไทยของเซียนดอนที่มีที่มาและวิธีการทำแตกต่างจากคนอื่น
ก็นับว่ามีประโยชน์มากเช่นกัน เพราะผู้ที่อ่านก็จะเหมือนได้ชมการเล่นของนักหมากรุกที่เก่งๆ
รูปหมากและแต้มการเดินต่างๆ ย่อมช่วยให้ฝีมือหมากรุกของผู้อ่านดีขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง
ขึ้นอยู่กับทำความเข้าใจได้เพียงใด

ไม่ได้พบกันหลายปี ได้ทราบแต่ข่าวว่าเซียนดอนกลับไปอยู่ที่บ้านแล้วโดยเหตุผลด้านสุขภาพ
ก็อดไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับเปี๊ยกโพธาราม (วัฒนา พฤกษ์ไพโรจน์กุล)
ยอดนักหมากฮอสที่เสียชีวิตเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน ซึ่งมีหลายอย่างคล้ายกัน

(ยังมีต่อ)

โดย : กินแต่หมู Member - [ 24/01/2010, 20:07:18 ]

1

ผมก็หัดถอดหมากจาก แม่ไม้หมากรุกไทยของเซียนดอนเหมือนกันน้า
ถึงไม่มีคำอธิบายแต่ว่ามีภาพประกอบพร้อมตาเดินสั้นๆ
บางทีไม่ต้องถอดแต่จินตนาการเอาก็พอเข้าใจแต้มหักมุมนะคับ ขอบคุณสำหรับบทความและรูปคับ

โดย : ยอป่า Member   [ 24/01/2010, 20:53:47 ]

2

รำลึกถึงเซียนดอนและเปี๊ยกโพธาราม (2)
เปี๊ยกโพธาราม

เปี๊ยกโพธาราม ดาวรุ่งของวงการหมากฮอสเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน
เข้าร่วมการแข่งขันรายการใหญ่และเป็นแชมป์หลายครั้ง (ราวพ.ศ. 2526 -28)
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ที่เห็นชัดเจนถึงปัจจุบันคือตำราสูตรหมากฮอสทั้ง 3 เล่ม
(ต่อมามีการรวมทั้ง 3 เล่มเป็นอีกเล่มต่างหาก บางท่านนับเป็นเล่มที่ 4)

ตำราของเปี๊ยกมีคุณค่าทางวิชาการอย่างมาก
ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงรูปหมากที่แสดงไว้มากมายเพิ่มเติมจากตำราของคุณไพศาล
พืชมงคลที่ออกมาก่อนหน้านั้น ด้วยความเป็นคนคิดเร็วทำอะไรเร็ว
สไตล์การเขียนงานจึงคล้ายของโก้วเล้งที่เดินเรื่องเร็วไม่เยิ่นเย้อ
แม้จะมีส่วนที่ผิดพลาดบ้างก็ต้องนับว่าน้อยมากสำหรับการทำหนังสือเพียงคนเดียว

ส่วนใหญ่ของความผิดพลาดในเล่มแรก มาจากขั้นตอนในการพิมพ์ที่ต้องมีการทำอาร์ตเวิร์ค ซึ่งการตกหล่นสมควร
พอเริ่มเล่นที่สอง เปี๊ยกแก้ไขโดยการเขียนด้วยลายมือตัวเอง ซึ่งแม้จะทำให้ความสวยงามลดลง
แต่ก็ทำให้ได้งานที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นจากการที่งานพิมพ์ตรงตามต้นฉบับทุกประการ

ก็แสดงถึงวิธีคิดของเปี๊ยกที่น่านับถือโดยมุ่งผลที่จะได้รับเป็นสำคัญมากกว่ารูปแบบ !!

ระยะแรกที่พิมพ์ตำรา ไม่ได้ส่งขายตามร้านจำหน่ายหนังสือ แต่ใช้วิธีขายตรง
มีบางครั้งเอาตำราไปตั้งวางพร้อมกระดานหมากฮอส ท้าผู้ที่ผ่านไปมาให้เล่นด้วย
หากชนะได้เงินไปแต่หากแพ้ก็เพียงซื้อตำราของเปี๊ยกไปเท่านั้น ที่น่าสนใจคือเปี๊ยกจะเป็นฝ่ายหลับตาเล่น !


เปี๊ยกได้เคยแสดงความสามารถในการหลับตาเล่นหลายงาน ทั้งยังเคยแสดงออกโทรทัศน์ รายการ
"ตามไปดู" ซึ่งมีหมอซ้ง เป็นพิธีการ ซึ่งการปิดตาเล่นของเปี๊ยกนี้
ความสามารถในการคิดแทบจะเท่ากับการเล่นปกติ

[ ปัจจุบันการหลับตาเล่นในวงการหมากกระดานของไทย มีผู้มีความสามารถหลายท่าน ก็ขอกล่าวถึงเท่าที่ทราบ

- หมากรุกสากล ต้องยกให้ "แมวอ้วน" (คุณพัชรวีร์ พรหมวงศ์ ) ซึ่งเคยแสดงให้เห็นแล้วหลายงาน
แต่หากย้อนกลับไปก็จะมีอาจารย์ ดร.เกษม จันทรมังกร สำหรับท่านนี้ได้ให้ความกรุณา(หลับตา)เล่นกับผม
เมื่อประมาณปี พ.ศ.2523
- หมากรุกจีน เคยเห็น "ซาตี๋" หลับตาเล่นที่ภัตตราคารกุ้งหลวงเมื่อหลายปีก่อน
ซึ่งนอกจากจะยังเดินได้อย่างจัดจ้านแล้ว ยังวิเคราะห์หมากได้เหมือนมองกระดานเป็นปกติ
- หมากฮอส ทราบว่าที่ทำได้คือ "สิงห์เคอาร์" (พ.ท.คำรณ ชัยมงคล)
แต่ยังไม่เคยเห็นกับตาจึงไม่อาจยืนยัน]

ต่อมาเปี๊ยกได้ขายลิขสิทธิ์ตำราให้สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร ปัจจุบันยังพอหากันได้

เจอเปี๊ยกครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ราวปี พ.ศ.2526 - 27 ตอนนั้นผมยังเป็นโค้ชจับฉ่ายให้ มช.
ช่วงสายของวันหนึ่ง ผมนั่งเล่นอยู่กับนักศึกษารุ่นน้อง 4 - 5 คน ในชมรมกีฬาในร่ม เปี๊ยกเข้ามาในห้อง
เป็นครั้งแรกที่ได้พูดคุยกัน ผมไม่รู้จักเปี๊ยกมาก่อนว่าเป็นใคร
จึงออกจะหมั่นไส้และคิดในใจว่าหมอนี่ขี้โม้มาก
เพราะจากการพูดคุยกันก็พอสรุปความบางตอนได้ว่าตัวเปี๊ยกเล่นฮอสเก่งกว่าเซียนซ้งซึ่งขึ้นมาเดินสายด้วยกัน


ในความรู้ที่ผมมีตอนนั้นคือ เซียนซ้งเป็นคนที่เล่นหมากฮอสเก่งที่สุดในประเทศไทย
แม้จะรู้จักว่ามีเซียนหมากฮอสอีกหลายท่าน เช่น แว่นใหญ่(กิดใหญ่) แว่นเทคโน กิดเล็ก ฯลฯ
ก็ยังคิดว่าเซียนซ้งเก่งที่สุด ส่วนพญาอินทรีย์ และพี่เรืองชัย ผมมารู้จักหลังจากเจอเปี๊ยกแล้ว

เมื่อมีเด็กหนุ่มหน้าตาเด๋อๆ ด๋าๆ
มาบอกว่าเล่นฮอสเก่งกว่าเซียนซ้งผมจึงหมั่นไส้และออกจะดูถูกด้วยซ้ำว่าโม้คำโตเกินไป ดังนั้น
เมื่อเปี๊ยกขอให้ผมช่วยเรื่องหนึ่ง ผมจึงบ่ายเบี่ยงและปฏิเสธในที่สุด

หากผมรู้ว่าเปี๊ยกพึ่งแข่งขันและชนะเลิศการชิงแชมป์ประเทศไทยมา ผมคงจะรีบตกลงทันที
ก็ทำให้เสียดายกับการตัดสินใจครั้งนั้น

ซึ่งหากเปี๊ยกบอกว่าเป็นแชมป์ประเทศ แทนที่จะมาบอกว่าเก่งกว่าเซียนซ้ง
ข้อเสนอของเปี๊ยกก็จะเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจปฏิเสธได้เลย

ขอกล่าวถึงเซียนซ้งเพิ่มอีกเล็กน้อย

เมื่อตอนผมยังเรียนอยู่ชั้นประถมปลาย เซียนซ้งไปที่บ้านผมหลายครั้ง เนื่องจากรู้จักกับคุณพ่อผม
ครั้งแรกที่คุณพ่อเรียกผมให้ได้รู้จัก ผมก็ได้แต่มองดูความแปลกใจว่าคนท่าทางซึมๆ อย่างนี้
เล่นฮอสเก่งจริงหรือ แต่โดยที่ตอนนั้นยังเล็ก พึ่งเริ่มหัดเล่นหมากฮอสอยู่แถวๆ บ้าน ก็จึงไม่ค่อยสนใจนัก
พบกันอีกทีเมื่อไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่มหิดลเป็นเจ้าภาพ โดยเซียนเซียนซ้งเป็นโค้ชให้จุฬาฯ

หลังจากนั้นก็ได้พบกันหลายครั้ง ทั้งในงานแข่งขันและที่อื่นๆ ได้เล่นกันหลายครั้ง
ซึ่งส่วนใหญ่เล่นได้สัก 2 - 3 กระดานก็ต้องเลิก และมักไม่จบเกม
เพราะเซียนซ้งมักจะหยุดเล่นช่วงกลางกระดาน เพื่อแนะนำแต้มว่าควรจะเดินอย่างไร
และมีการแปรรูปที่น่าสนใจอย่างใดอีก ซึ่งผมไม่สนใจ หมดความอยากที่จะเล่นต่อ
จึงเป็นอันต้องแยกย้ายกันไปทุกที

จนครั้งสุดท้ายที่ได้เล่นกัน พอเซียนซ้งหยุดเกมและเริ่มแนะนำแต้ม ผมทนไม่ได้บอกไปว่าไม่ต้องสอนหรอก
มาเล่นพนันกันดีกว่า เซียนซ้งหัวเราะหึหึ แล้วก็เดินจากไป

ผ่านไปหลายปีผมจึงมาคิดได้ว่าเซียนซ้งได้ให้ความกรุณาผมมาก ซึ่งก็คงด้วยมองผมเหมือนลูกเหมือนหลาน
และโดยที่ฝีมือเซียนซ้งอยู่ระดับถ้วย ก. หัวแถว ส่วนผมประมาณ ถ้วย ค.
ดังนั้นหากเล่นพนันกันจริงมีเท่าไหร่ก็ไม่เหลือแน่
คิดว่าหากเจออีกเมื่อไหร่จะขอโทษที่เสียมรรยาทในครั้งนั้น
แต่ทราบข่าวครั้งสุดท้ายจากมังกรว่าเจ้าตัวรับงานทางภาคเหนือและเดินทางขึ้นไปโดยทางรถไฟ
จากนั้นข่าวคราวของเซียนหมากฮอสท่านนี้ก็ไม่มีอีกเลย ซึ่งก็มีการสันนิษฐานกันไปต่างๆ นานา
แต่สรุปตรงกันว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว

(ยังมีต่อ)

โดย : กินแต่หมู Member   [ 27/01/2010, 17:31:02 ]

3

อยากอ่านต่อ ตอนต่อไปเร็วๆอ่ะครับ กำลังสนุกเลยครับ แต่สงสัยอยู่ว่าคนเขียนนี่เป็นเซียนท่านใดหนอ
ใครพอจะเดาได้บ้างครับ คงเป็นเซียนเก่ามากพอสมควร

โดย : วชิรธรรม Member   [ 01/02/2010, 20:56:13 ]

4



หน้าตาของหนังสือหมากฮอสของ เปี๊ยกโพธาราม ซึ่งอยู่ในสภาพดี ได้รับการบริจาค จาก
คุณภาษิต เสวิกุล ที่มอบให้กับ ไทยบีจีดอทคอม

โดย : *TBG Member   [ 02/02/2010, 15:13:12 ]

5

ได้ข่าวว่า "แมวอ้วน" (คุณพัชรวีร์ พรหมวงศ์) อาจจะหลับตาเล่น ในช่วงดือนมีนาคม 2553 สถานที่
SASIN
ซึ่งความคืบหน้า จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ถ้าไม่ติดเรียน ป.โท ก็น่าจะมีโอกาส ได้เห็น
การเล่นหมากรุกสากล แบบ หลับตาเล่น

โดย : *TBG Member   [ 02/02/2010, 16:37:07 ]

6

รำลึกถึงเซียนดอนและเปี๊ยกโพธาราม (3)

นอกจากการเป็นคนมีพื้นเพเดิมเป็นคนต่างจังหวัด และมีความสามารถในการเล่นหมากกระดานไทยดีในระดับดีมาก
ทั้งคู่ยังมีความเหมือนอีก คือความเป็นคนซื่อ ตรงไปตรงมาและมีน้ำใจ

ในวงการหมากกระดาน เปี๊ยกอาจจะดูดีกว่าที่เคยเป็นแชมป์หมากฮอสประเทศไทยหลายสมัย
ส่วนเซียนดอนได้รองแชมป์ระดับประเทศทั้งหมากรุกไทยและหมากรุกสากล
ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงของเปี๊ยกแพร่หลายกว่าเซียนดอนมาก

ในความเห็นของผม เซียนดอนมีโอกาสดีกว่าเปี๊ยกที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขัน
แต่เป็นเพราะจังหวะและอุปนิสัยที่แตกต่าง จึงดูว่าเปี๊ยกทำได้ดีกว่า

ว่ากันว่าฝีมือการเดินหมากฮอสสองของเปี๊ยกในยุคนั้นก็ไม่ใช่จะเหนือกว่าเซียนคนอื่นๆ อย่างเด็ดขาด
แต่ที่ทำได้ดีกว่าใคร (หมายถึงประดาเซียนในภาคกลาง) คือแบบสามแถว ซึ่งการแข่งขันตอนนั้นหากเสมอมากๆ
ตามที่กำหนด ก็จะใช้แบบสามแถวตัดสิน เปี๊ยกจึงแค่เดินให้เสมอในแบบสองแถวไว้ก็แบเบอร์ในทัวร์นาเม้นท์นั้น
ก็อาจเป็นเหตุให้ต่อมากติกานี้จึงถูกเปลี่ยนไปเป็นเพิ่มทีละตัว (9-9, 10-10, 11-11 และ12-12) แทน
ข้อมูลส่วนนี้ได้จากคุณสุกิจ แสงประดับ อาจมีตกหล่นผิดพลาดเพราะนานมากแล้ว

และที่สำคัญคือ ในตอนนั้น ในวงการหมากฮอสต้องนับว่าเปี๊ยกตัวคนเดียวโดดเดี่ยว
เป็นเด็กหนุ่มที่ต้องการความสำเร็จ ดังนั้นจึงเล่นอย่างเต็มที่ไม่ต้องเกรงใจใคร ต่างจากเซียนดอน
ที่หากเป็นสำนวนกำลังภายใน ต้องกล่าวว่าเปี่ยมคุณธรรมน้ำมิตร
ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในระดับที่ควรจะเป็น

เซียนดอนกับเปี๊ยกโพธาราม เปรียบเสมือนดวงดาวที่เคยเจิดจรัส แต่ดูราวเพียงครู่เดียวก็วูบลับจากฟ้าไป

++++++++++++++++++
ดาวดับ
โดย ป้าอร
นักกลอนและนักหมากสาวฮอสแห่งเมืองแพร่
----------------------------

การต่อสู้มุ่งหวังชัยชำนะ
แผ่นดินมีอัจฉริยะทุกสมัย
คนใหม่เกิดแทนคนเก่าเสมอไป
มิว่าใครย่อมพ่ายแพ้แก่ชะตา

ช่วงชีวิตคนนั้นสั้นยิ่งนัก
อาจทอถักความสำเร็จเสร็จดังว่า
ความรุ่งโรจน์โชติงามตามเวลา
เมื่อได้มา...ย่อมเสียไป ใช่นิรันดร์

อันชื่อเสียงเกียรติยศปรากฏรุ่ง
เหมือนดาวพุ่งสู่ท้องฟ้าจ้าเฉิดฉัน
ย่อมถึงคราวดาวจักร่วงสักวัน
อย่าพรึงพรั่นปลงใจไว้ให้ดี

ในวาระซึ่งดาวร่วงจากห้วงหาว
ยังฝากพราวกระพริบพรายประกายศรี
ประกาศกล่าวอวสานซึ่งต้องมี
สาดแสงชี้บอกลางามตราตรู

แม้นว่าแสงดาวดับลับไปแล้ว
ความเพริศแพร้วแววดาวยังคงอยู่
ความยิ่งใหญ่ดาวทองผ่องดำรู
ชวนชื่นชู...ดาวดับประทับใจ

++++++++++++++++++++

เมื่อมาคิดว่าทั้งสองท่านที่สนใจและพัฒนาฝีมือกระทั่งอยู่บนแถวหน้าของวงการหมากกระดานไทยยุคนั้นแล้ว
ได้สิ่งใดเป็นการตอบแทนบ้าง ?

คำตอบที่ให้กับตัวเองคือไม่มีอะไรเลย

อาจด้วยวงการในยุคโน้นก็ยังดังเลื่อนลอย
หมากกระดานไทยยังขาดความจริงจังในเชิงกีฬาที่จะให้ทั้งความภาคภูมิใจและผลตอบแทนเพื่อการคงสถานะที่เหมาะส
มในสังคม

แม้ถึงปัจจุบันจะมีการพัฒนาขึ้นมา แต่ก็ดูจะยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

สิ่งที่ควรจะเป็นนั้น ไม่เพียงแต่มีองค์กรรับผิดชอบชัดเจนเพื่อจัดการบริหารฯ
ผลักดันให้หมากกระดานไทยก้าวหน้า แต่อย่างน้อยน่าจะอยู่ในระดับที่กีฬาเหล่านี้เป็นอาชีพได้
หมายถึงว่าคนเก่งๆ สามารถมีรายได้จากการแข่งขันและอื่นๆ ให้เพียงพอแก่การดำรงชีพ

ก็ได้แต่นึกเสียดาย และรำลึกถึงทั้งสองท่านเพียงเท่านั้น

และมาคิดว่าอนาคตของหมากกระดานไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ?


(ก็ขอเขียนต่ออีกในหัวข้อ "อนาคตหมากรุกไทย")

+++++++++++++++++++++++
แด่...จอมยุทธ์
โดย ป้าอร
นักกลอนและนักหมากฮอสสาวแห่งเมืองแพร่
----------------------------

ลมใบไม้ร่วงกรรโชกกราว
ฝนกระหน่ำเหน็บหนาวไม่ขาดสาย
อยู่ในหอร้างเดียวดาย
ผ่านวิกาลเมามายได้อย่างไร

จันทราจรัสฟ้า
จอมยุทธ์ผู้กล้าหวั่นไหว
ชื่อเสียงเกียรติยศเกริกไกร
มือกระบี่ยิ่งใหญ่ในธานิน

ชีวิตคนกระชั้นสั้น
ไขว่คว้าหลายสิ่งอันได้สิ้น
สุดท้ายเหลือเพียงธุลีดิน
กับดวงจินต์ว้าเหว่เอกา

ผู้คนเรื่องราวล้วนแปรผัน
หากขุนเขายังมั่นเสียดฟ้า
จักรวาลจีรังตลอดมา
กับราตรีทิวา...ที่เวียนวน

+++++++++++++++++++++++

(เล่าสู่กันฟัง - เมื่อปีประมาณปี 2534 ผมถามเซียนดอนว่า
นักหมากรุกไทยรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาถึงระดับแชมป์ขุนทองคำนั้นน่าจะเป็นใคร เซียนดอนตอบว่า แดงขอนแก่น
แต่ผมเห็นแย้งว่าน่าจะเป็นสิงห์ร้าย โดยต่างก็มีเหตุผลประกอบ
ต่อมาสิงห์ร้ายเข้าชิงขุนทองคำแต่ได้แค่รองแชมป์ ผมก็คิดว่าความเห็นของผมใกล้เคียงมากกว่า
แต่ท้ายสุดแล้ว ปรากฏว่าแดงขอนแก่นได้แชมป์ขุนทองคำถึง 2 สมัย !! )

โดย : กินแต่หมู Member  -  [ 10/02/2010, 20:51:55 ]

7

เรื่องราวเก่าๆสนุกมากครับ จะติดตามตอนต่อไป ขอบคุณผู้เล่าครับ

โดย : วชิรธรรม Member   [ 12/02/2010, 11:52:00 ]

8

ขอบคุณครับ

โดย : minnuk Member   [ 22/02/2010, 03:27:52 ]

9

เรื่องราวทางโลกเป็นอย่างนี้ละครับ คนได้ก๊ได้ไม่หมดคนเสียก๊เสียไม่หมด..จาก ภ.จีน 8เจ้าพญายม

โดย : กะปอม11 Member   [ 22/03/2010, 14:45:40 ]

 
  E-mail: webmaster@thaibg.com Copyright 2002-2024@www.ThaiBG.com (Thailand), All Rights Reserved  
 
  Sponsors