[ กลับหน้าหลัก ]


การขยับม้าบนกระดานหมากรุก 3 เส้า



โดย ไมเคิล ที แกลร์ 21 มิถุนายน 2549 01:32 น.


(หมายเหตุ : ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเปรียบเทียบเกมทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเกมหมากรุก
จึงมีศัพท์หมากรุกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นกระดานหมากรุก การเดินเบี้ย การโยกม้า การเดินขุน เข้าตาจน
ฯลฯ)

หลายเดือนมาแล้ว สื่อมวลชนและผู้กำหนดนโยบายในสหรัฐ ต่างมองว่าวิกฤตการณ์อิหร่านเป็นการต่อสู้ 2
ด้าน คือระหว่างวอชิงตันกับเตหะราน โดยมีประเทศมหาอำนาจในยุโรป รวมทั้งจีนและรัสเซียเข้ามาร่วมสนับสนุน

จริงอยู่ ประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุชแห่งสหรัฐ กับประธานาธิบดี มาห์มูด
อาห์มาดิเนจัดแห่งอิหร่าน เป็นไม้เบื่อไม้เมา ที่ออกมาด่าทอกันเพื่อเรียกคะแนนนิยมภายในบ้าน

แต่ข้อเขียนในวงการทูตระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับวิกฤตการณ์อิหร่านเมื่อเร็ว ๆ นี้
เผยให้เห็นการต่อสู้ที่รุนแรงพอ ๆ กัน และมีความสำคัญมากกว่าเสียอีก เป็นการต่อสู้ 3 เส้า
ระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย-จีน เพื่อเข้าไปครอบงำประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย/ทะเลสาบแคสเปี้ยน
และแหล่งพลังงานสำรองขนาดมหึมาที่นั่น เข้ามาเพิ่มอีกโสตหนึ่งด้วย

หากว่ากันทางยุทธศาสตร์ใหญ่ เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลบุชพยายามรักษาอิทธิพลของสหรัฐ เหนือ
‘กระดานหมากรุกโลก’ (ตามที่พวกเขาเห็น) โดยพยายามบั่นทอนอิทธิพลของตัวละครสำคัญ ๆ อีก 2 ตัว
คือรัสเซียกับจีนลง

การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์แบบคลาสสิกครั้งใหม่นี้ เริ่มขึ้นตอนต้นปี 2001
ตอนนั้นทำเนียบขาวออกมาส่งสัญญาณเชิงยั่วยุว่า
ตนมีแผนจะไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธแบบซัดขว้าง (Anti-Ballistic Missile Treaty)
ที่ทำกับรัสเซีย คือตนจะขายอาวุธไฮเทคให้ไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตน
ที่คิดจะแยกตัวเป็นเอกราช

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 สัญญาณที่สร้างความขัดแย้งนี้ ก็ลดความร้อนแรงลง
เพื่อขอความร่วมมือจากรัสเซียกับจีน ในการ ‘ทำสงครามกับการก่อการร้าย’ แต่ในเดือนหลัง ๆ มานี้
ความคิดทางยุทธศาสตร์หมากรุก 3 เส้าแบบคลาสสิก ก็กลับเข้ามาครอบงำวอชิงตันอีก

ขยับเบี้ยทางยุทธศาสตร์

สัญญาณครั้งแรก น่าจะดังขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม ตอนที่รองประธานาธิบดีดิ๊ก
เชนีย์ไปเยือนลิธัวเนีย อดีตสาธารณรัฐของโซเวียต วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรัสเซียอย่างรุนแรง
ในวงสัมมนาเพื่อประชาธิปไตย ว่ารัฐบาลเครมลินจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองรัสเซีย ‘อย่างไม่เหมาะสม
ไม่ชอบธรรม’ และเอาน้ำมันและก๊าซของตน ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มา ‘เป็นเครื่องมือข่มขู่ (และ) ขู่กรรโชก’
เพื่อนบ้าน เขายังตำหนิมอสโคว์ ที่พยายาม ‘ผูกขาดการขนส่ง’ น้ำมันและก๊าซในเขตยูเรเซีย
ซึ่งเป็นการท้าทายโดยตรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคทะเลสาบแคสเปี้ยน

วันต่อมา เชนีย์บินไปคาซักห์สถาน อดีตสาธารณรัฐในโซเวียตอีกแห่งหนึ่ง
ที่อุดมด้วยน้ำมันและก๊าซในเอเชียกลาง และไปเสนอให้ผู้นำคาซักห์
ป้อนน้ำมันให้กับระบบท่อส่งในตุรกีและเมดิเตอร์เรเนียน ที่สหรัฐให้การสนับสนุน
แทนที่จะไปป้อนให้ระบบท่อส่งน้ำมันในยูเรเซีย ที่รัสเซียควบคุม

ต่อมา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน รมต.กลาโหมโดนัลด์ รัมสเฟลด์ก็เหน็บจีนอีก
โดยบอกกับที่ประชุมเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของเอเชียในที่ประชุมว่า ปักกิ่ง ‘ไม่โปร่งใส’
ในงบประมาณด้านกลาโหม ‘ทำให้เพื่อนบ้านบางราย เกิดความวิตกกังวล’
ความคิดเห็นนี้มาพร้อมกับแถลงการณ์ที่ว่า สหรัฐจะลงทุนระบบอาวุธทันสมัยต่าง ๆ
อาทิเช่นเครื่องบินขับไล่แบบแบบ F-22A และเรือดำน้ำจู่โจมชั้นเวอร์จิเนีย
ที่มีใช้กันเฉพาะภายในหมู่มหาอำนาจใหญ่ ๆ ซึ่งก็มีแต่รัสเซียกับจีน ที่เป็นปฏิปักษ์กับตนเท่านั้น

จีนก็เหมือนกับรัสเซีย คือนโยบายพลังงานเชิงรุก (aggressive แปลว่าก้าวร้าวก็ได้)
ไปสะกิดต่อมโกรธของวอชิงตัน แต่จีนมีพ่วงความพยายามให้ได้ข้อตกลงแหล่งพลังงาน
เพื่อมาป้อนเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของตน อีกโสตหนึ่งด้วย ในรายงานสมรรถภาพทางทหารของจีน เรื่อง
‘อำนาจทางทหารของสาธารณรัฐประชาชนจีน’ ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม
ตำหนิจีนที่เอาเทคโนโลยีอาวุธ และความช่วยเหลือทางทหาร ไปเป็นเหยื่ออ่อยอิหร่านและซูดาน
เพื่อแลกกับบ่อน้ำมันในตะวันออกกลางและแอฟริกา และมีเรือรบ ‘ที่เหมาะสำหรับไปแสดงแสนยานุภาพ’
ในภูมิภาคผลิตน้ำมันสำคัญ ๆ ของโลก

การที่รัฐบาลบุชปรารถนาที่จะตีโต้รัสเซีย และ ‘ปิดล้อม’ จีนไม่ใช่เรื่องใหม่
แนวคิดแบบนี้มีปรากฏในเอกสารชื่อ ‘คู่มือการวางแผนทางทหาร ปี 1994-99’ เขียนโดยพอล วูลโฟวิชต์
ตอนนั้นยังเป็นผู้ช่วยรมต.กลาโหม และรั่วออกไปในสื่อ ตอนต้นปี 1992 เอกสารชิ้นนี้กล่าวว่า
“วัตถุประสงค์อันดับแรกของเราคือป้องกันไม่ให้ศัตรูเดิม ที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย
ซึ่งก็คืออดีตสหภาพโซเวียต หวนกลับมาอีก ไม่ว่าจะในสหภาพโซเวียตเดิม หรือที่อื่นใดก็ตาม”
ปัจจุบันหลักนิยมในยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ก็ยังคงเป็นเช่นนี้ กระนั้นก็ดี ปัจจุบันมีปัจจัยใหม่ สำคัญ ๆ
เสริมเข้ามา คือ เพื่อประกันว่าสหรัฐเพียงผู้เดียว จะควบคุมแหล่งพลังงานในอ่าวเปอร์เซีย
และในพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียที่อยู่ติดกัน

ตอนที่เริ่มปรากฏใน ‘หลักการคาร์เตอร์’ ปี 1980 (ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่ประธานาธิบดีจิมมี่
คาร์เตอร์) แนวคิดนี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะอ่าวเปอร์เซีย แต่มาในสมัยประธานาธิบดีบุช ที่น้ำมันมีราคาแพง
เกิดความกลัวว่าจะขาดอุปทาน และเชื่อว่าที่ราบลุ่มทะเลสาบแคสเปี้ยนจะอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ก็ควบรวมเอาแถบนี้เข้ามาด้วย

โยกม้าในอ่าวฯ

เราต้องเข้าใจว่า การต่อสู้เพื่อมีอิทธิพลเหนืออิหร่าน ก็เป็นไปตามกรอบดังกล่าว
กล่าวคืออิหร่านตั้งอยู่กลางกระดานสามเส้าพอดี ในด้านสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
อิหร่านเป็นประเทศเดียวที่ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับทะเลสาบแคสเปี้ยน
ทำให้เตหะรานมีบทบาทสำคัญให้เล่น โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐ รัสเซีย และจีน มีความสนใจในแหล่งพลังงาน จาก 2
ด้านด้วยกัน อิหร่านยังอยู่ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ ทางน้ำแคบ ๆ ที่เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย
เป็นช่องทางที่มีน้ำมัน 1 ใน 4 ของโลกไหลผ่านเป็นประจำ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก ผลก็คือ
หากวอชิงตันยกเลิกการคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน
อิหร่านก็จะกลายเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากทะเลสาบแคสเปี้ยนออกสู่ตลาดโลก
โดยเฉพาะยุโรปกับญี่ปุ่น โดยอัตโนมัติ

ในฐานะที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด และเป็นอุตสาหกรรมที่สุดในเขตอ่าวเปอร์เซีย
อิหร่านจึงมีบทบาทสำคัญในย่านนี้อยู่แล้ว อันเป็นสถานการณ์ที่ทำเพื่อนบ้านไม่สบายใจ
อาทิเช่นอิรักในสมัยซัดดัม ฮุสเซน (ซึ่งรุกรานอิหร่านในปี 1980 อันเป็นจุดเริ่มต้นสงครามนองเลือด
ที่กินเวลานานถึง 8 ปี และจบลงโดยทั้งคู่หมดแรงข้าวต้ม) ในปีหลัง ๆ มานี้
อิหร่านยังเป็นศูนย์รวมของอิสลามนิกายชีอะต์ในย่าน พวกชีอะต์ถูกพวกสุหนี่ที่เป็นมุสลิมส่วนใหญ่
ชิงชังรังเกียจและข่มเหง ตอนนี้ ชีอะต์กำลังผงาดขึ้นในอิรัก ที่เป็นเพื่อนบ้าน
และกำลังได้รับความสนใจในบาห์เรน คูเวต เลบานอน และเขตชุมชนชาวชีอะต์ในซาอุดิ อารเบีย
ที่ตั้งอยู่ใกล้กับคูเวต (และตั้งคร่อมอยู่บนบ่อน้ำมันที่อุดมสมบูรณ์ของซาอุฯ)
อันเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกกันว่า ‘เสี้ยวจันทร์แห่งชีอะต์’

ปัจจุบัน แสนยานุภาพทางทหารของอิหร่านไม่น่าประทับใจนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐคว่ำบาตร
ไม่ขายอะไหล่เครื่องบินรบให้ (อาวุธเหล่านี้
ส่วนใหญ่เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาห์) แต่ตอนนี้
อิหร่านได้เรือดำน้ำและอาวุธทันสมัยอื่น ๆ จากรัสเซีย และกำลังพัฒนาขีปนาวุธแบบซัดขว้าง
ด้วยความช่วยเหลือจากจีนและเกาหลีเหนือ หากอิหร่านพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ได้
อิหร่านก็จะกลายเป็นมหาอำนาจประจำย่าน ข่มรัศมีอำนาจทางทหารของสหรัฐในอ่าวฯ ก็ด้วยเหตุผลข้อนี้
ไม่ใช่ข้ออื่น ที่สหรัฐพยายามทุกวิถีทาง ที่จะสกัดกั้นไม่ให้อิหร่านมีหัวรบนิวเคลียร์เป็นของตนเอง

ขณะที่ทั้งรัสเซียและจีนคัดค้านสภาพดังกล่าว โดยไม่เห็นว่าจะร้ายแรง
หรือน่าโมโหมากเท่าที่รัฐบาลบุชรู้สึก จนถึงกับต้องสกัดกั้นอิหร่านอย่างรุนแรงดังกล่าว

แน่นอน การที่อิหร่านมีน้ำมันมากที่สุด เป็นอันดับสองของโลก หรือราว 132 พันบ้านบาเรล (ราว 11.1%
ของน้ำมันสำรองในโลก) และก็มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ มากเป็นอันดับสองของโลก ที่ 971 ล้านล้านคิวบิกฟุต (ราว
27.5 ล้านล้านคิวบิกเมตร หรือ 15.3% ของแหล่งสำรองในโลก) อิหร่านอาจจะมีน้ำมันไม่เท่าซาอุ ฯ
หรือมีก๊าซไม่เท่ารัสเซีย แต่ก็ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่จะมีพลังงานสำรองรวมกันของทั้ง 2 ชนิด มากขนาดนี้
ประเทศต่าง ๆ อาทิเช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอียู ต้องพึ่งส่วนแบ่งน้ำมันที่ไปจากอิหร่าน
จีนและประเทศอื่น ๆ ก็กำลังวุ่นอยู่กับการเจรจาต่อรอง เข้าไปร่วมพัฒนาแหล่งก๊าซมากมายมหาศาลในอิหร่าน
อิหร่านไม่เพียงแต่ยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานสำคัญเท่านั้น แต่ในอนาคต
มันยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ (หากมีการลงทุนที่ดี) ออกขายในตลาด ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ
สูบน้ำมันขึ้นมาขาย จนมีปริมาณลดลงไปแล้ว ซึ่งสภาพการณ์แบบนี้มีน้อยประเทศที่จะทำได้

ในปี 1953 หลังจากซีไอเอช่วยขับไล่นายกรัฐมนตรี โมฮัมเหม็ด มอสซาเดะจ์ ผู้เวนคืนอุตสาหกรรมน้ำมัน
มาเป็นของรัฐ ออกจากตำแหน่งสำเร็จ บริษัทน้ำมันสหรัฐ โดยพระบรมราชานุญาติของพระเจ้าชาห์
ก็เข้าไปมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่าน จนกระทั่ง พระองค์ถูกขับไล่ลงจากบัลลังก์
โดยการปฏิวัติที่นำโดยอยาตอลลาห์ โคเมนี ในปี 1979 ไม่มีปัญหาว่า หากมีโอกาส
พวกเขายินดีจะหวนกลับเข้าไปในอิหร่านอีก แต่ว่าการที่รัฐบาลบุช
มองการปกครองโดยอิสลามในอิหร่านเป็นปฏิปักษ์ ก็ยากที่พวกเขาจะกลับเข้าไปได้

ภายใต้ประกาศฝ่ายบริหาร ที่ 12959 ที่ลงนามโดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในปี 1995
และมีการบททวนในสมัยประธานาธิบดีบุช ห้ามบริษัทอเมริกันทุกแห่ง เข้าไปดำเนินการอิหร่าน แต่หากมีการ
‘เปลี่ยนรัฐบาล’ (ส่อนัยว่าเป็นวัตถุประสงค์ของสหรัฐ) ประกาศฝ่ายบริหารฉบับนี้ก็คงถูกยกเลิก
และบริษัทอเมริกันก็จะสามารถทำอย่างที่บริษัทจีน ญี่ปุ่น อินเดียและประเทศอื่น ๆ ทำกัน
คือเข้าไปใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในอิหร่าน พิจารณาจากภายนอก
การที่รัฐบาลสหรัฐต้องการจะเปลี่ยนรัฐบาลในอิหร่านด้วยปัจจัยด้านพลังงาน จะมีมากแค่ไหน เราไม่อาจเดาได้
แต่ดูจากความใกล้ชิดสนิทสนมของบุช เชนีย์ และผู้นำคนอื่น ๆ กับอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐแล้ว
ก็ทำให้ยากที่จะไม่เชื่อว่า มันมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งทีเดียว

ในแผนพลังงานของจีน ‘ความสามานย์’* ของอิหร่าน ก็คือ ‘เทพประทาน’ ดี ๆ นี่เอง
ทั้งนี้เพราะบริษัทอเมริกันถูกห้ามไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรมใด ๆ ในอิหร่าน
และบริษัทในยุโรปก็จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หากขืนไปทำเช่นนั้น
บริษัทจีนจึงมีพื้นที่ให้เล่นอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้จากการที่พวกเขาสามารถต่อรอง
จนได้รับสัมปทานมูลค่า US$50 พันล้านเหรียญ เข้าไปพัฒนาบ่อก๊าซในยาดาวารัน
และมีสิทธิซื้อก๊าซธรรมชาติจากอิหร่าน เป็นปริมาณ 10 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 25 ปี โดยลงนามไปแล้วในปี
2004
(*pariah เป็นคำที่สหรัฐใช้ด่าอิหร่าน มาจากภาษาทมิฬ ที่เรียกวรรณะคนตีกลองตามงานบุญว่า
‘พารียัน’ อันเป็นวรรณะที่สังคมอินเดีย เหยียดหยามว่า ‘ต่ำช้าสามานย์’)

รัสเซีย ไม่กระหายพลังงานอย่างจีน เพราะมีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซเป็นของตัวมากมาย
แต่มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่อง ที่ไม่ต้องการเห็นอิหร่านที่อุดมด้วยพลังงาน กลายเป็นลูกไล่ของสหรัฐ
และในฐานะที่เป็นซัพพลายเออร์ ด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ก็มีความสนใจเฉพาะ
โดยความร่วมมือกับฝ่ายพลังงานในอิหร่าน รัสเซียกำลังจะเสร็จสิ้นการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์
มูลค่า $1 พันล้านเหรียญ ที่เมืองบุชเชอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน และปรารถนาจะขายเตาปฏิกรณ์
และระบบพลังงานนิวเคลียร์อื่น ๆ ให้อิหร่านเช่นกัน

แน่นอน สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นปัจจัยทำให้วอชิงตัน ที่ต้องการโดดเดี่ยวอิหร่าน
และขัดขวางไม่ให้อิหร่านได้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ขัดอกขัดใจยิ่งนัก
(ถึงโรงงานไฟฟ้าที่บุชเชอร์จะเป็นโครงการพลเรือน แต่ก็อยู่ในรายชื่อต้องถูกทิ้งระเบิดของสหรัฐ)
อย่างนั้นก็ตาม เซอร์ไก คิริเยนโก้ หัวหน้าสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย
แถลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ว่า “เรามองไม่เห็นอุปสรรคทางการเมืองใด ๆ
จะมาขัดขวางไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่บุชเชอร์เสร็จ”

เมื่อเดิมพันมีให้เห็นเช่นนี้ จึงเป็นการง่าย ที่จะเข้าใจว่าสหรัฐ รัสเซียและจีน
ต่างมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่อง กับผลลัพธ์จากวิกฤตการณ์ในอิหร่านด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับสหรัฐ
การเปลี่ยนรัฐบาลนักบวชอิหร่าน ให้เป็นมิตรต่อสหรัฐ เท่ากับมีผลได้สามต่อ 1)
เป็นการขจัดอันตรายออกจากการครอบงำอ่าวเปอร์เซียของสหรัฐ 2)
เปิดอุปทานน้ำมันและก๊าซให้อุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐ และ 3) ลดอิทธิพลของรัสเซียกับจีนในเขตอ่าวฯ

มองในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง โลกสมัยนี้จะไม่มีชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ บนกระดานหมากรุกอีกต่อไปแล้ว
ถึงสหรัฐจะยังไม่อาจเปลี่ยนรัฐบาลอิหร่านสำเร็จ แต่อาศัยแสนยานุภาพทางทหารที่ตัวมี
ไปจัดการกับโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน และควบคุมไม่ให้ตนต้องสูญเสียในอิรัก และที่อื่น ๆ
ก็ถือว่าชนะทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งสำคัญมากแล้ว เพราะเท่ากับปิดทางที่รัสเซียกับจีนจะโต้กลับ
(เรื่องนี้จะเป็นไปได้ ตราบใดที่สหรัฐสามารถระงับเรื่องนี้ ไม่ให้ลุกลามออกไป เป็นต้นว่า
ไม่ทำให้เกิดความแตกแยกทางเชื้อชาติในอิรักรุนแรงขึ้น หรือทำให้ราคาน้ำมันติดจรวด เป็นต้น)

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่มอสโคว์และปักกิ่งต้องทำทุกวิถีทางที่ทำได้
เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐเอาชัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เหนืออิหร่านและเอเชียกลาง
โดยไม่ไปกระตุ้นให้เกิดความแตกหัก ในสายสัมพันธ์กับวอชิงตัน
อันจะนำมาสู่ความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ

เมื่อ ‘มหายุทธ’ ทางภูมิรัฐศาสตร์เปิดออก โดยมีความกินดี-อยู่ดีทางเศรษฐกิจของโลกเป็นเดิมพัน
ทุกฝ่ายจึงพยายามหาสมัครพรรคพวกกันอย่างสุดฤทธิ์ ใช้กระเดื่องทางการทูตกันอย่างสุดเดช
ตั้งแต่รุกรานอิรักมาตั้งแต่ปี 2003 จุดยืนของสหรัฐในเขตอ่าวฯ กับเอเชียกลาง
ก็เสื่อมทรามลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันนี้ จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลบุช
คือรอยร้าวในสายสัมพันธ์สหรัฐ-ยุโรป อันเกิดจากการที่สหรัฐตัดสินใจฉายเดี่ยว ไปยึดครองอิรักนั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ชาวยุโรปรู้สึกว่าตัวถูกทรยศ จึงไม่ค่อยยอมจะช่วยต่อต้านการกบฏ
หรือออกเงินในการบูรณปฏิสังขรณ์ในอิรัก ทำให้งบประมาณไปบานเบ้อกับฝ่ายสหรัฐ เมื่อกลัวว่าหากมาถึงอิหร่าน
จะเกิดความล้มเหลวอีก ทำเนียบขาวยอมปล่อยให้กระบวนการทางการทูต
เข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งไม่เคยยอมในกรณีอิรักในสมัยซัดดัม ดังนั้น
สหรัฐจึงยอมให้ยุโรปออกมาใช้เกมการทูต ‘แก้’ ปัญหานิวเคลียร์ ได้อย่างจำกัดในระดับหนึ่ง

ในทางกลับกัน สิ่งนี้ก็ทำให้มอสโคว์กับปักกิ่ง มีโอกาสที่จะปัดความหายนะทางภูมิรัฐศาสตร์
ที่จะเกิดกับฝ่ายตัวในอิหร่านออกไป สิ่งนั้นก็คือ การใช้สิทธิยับยั้งของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
มาสกัดกรณีที่สหรัฐขู่จะคว่ำบาตรอิหร่าน ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ บทที่ 7
ซึ่งไม่เพียงจะอนุญาตให้คว่ำบาตร แต่ยังให้ใช้กำลังทหารกับชาติใด ๆ ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสันติภาพโลก
พวกยุโรปต้องการป้องกันไม่ให้มีการลงคะแนนในเรื่องนั้นเกิดขึ้น เพราะรู้ดีว่า ‘ความล้มเหลว’
ในองค์การสหประชาชาติ รังแต่จะไปกระตุ้นสายเหยี่ยวในวอชิงตัน
ที่ปรารถนาจะใช้กำลังกับอิหร่านแบบฉายเดี่ยว ให้ฮึกเหิมขึ้น
ผลก็คือพวกเขาเห็นด้วยกับพวกรัสเซียกับชาวจีน ที่ยืนกรานให้ใช้วิถีทางการทูต
ในการแก้วิกฤตการณ์นี้ลูกเดียว ไม่ว่าจะกินเวลานานแค่ไหนก็ตาม

เซอร์ไก ลาฟรอฟ รมต.ต่างประเทศรัสเซีย กล่าวเมือเดือนมีนาคม ที่ผ่านมานี้ว่า
“รัสเซียเชื่อว่าทางออกแต่เพียงประการเดียวของปัญหานี้ คือต้องพึ่ง IAEA
(องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ- International Atomic Energy Agency) ให้เป็นคนดำเนินการ”
เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ที่คัดค้านการใช้กำลังมาตั้งแต่ต้น ก็ให้ความเห็นทำนองเดียวกันนี้
เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หวู่ไฮ่ลองกอน เอกอัครราชทูตจีนประจำ IAEA ก็ออกมาเรียกร้อง
“ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควบคุมตัวเองและให้อดกลั้น” และ “ไม่กระทำการใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ซับซ้อน
หรือเลวร้ายลง”

เข้าตาจนไปเพื่อใคร?

เป็นของแน่ ฝ่ายสำคัญทุกฝ่ายล้วนเห็นว่า เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในภาพใหญ่
ของการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น รัสเซียกับจีนเริ่มรวบรวมกลุ่ม
คือให้องค์การเพื่อความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization - SCO)
เป็นกลไกขึ้นมาต่อต้านสหรัฐในเอเชียกลาง
แต่เดิม SCO เป็นองค์การที่รัสเซียและจีน ตั้งขึ้นมาต่อสู้กับพวกแบ่งแยกดินแดนในเอเชียกลาง
ตอนนี้กลายมาเป็นองค์การเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค คล้าย ๆ องค์การนาโต้ขนาดย่อม โดยมีอีก 4
ประเทศเข้าร่วม คือคาซักห์สถาน คีร์จีสถาน อุซเบกีสถาน และทาจิกีสถาน

เห็นชัดว่า รัสเซียกับจีนหวังจะให้ SCO มาช่วยตัว ผลักดันอิทธิพลสหรัฐออกไปจากดินแดนอิสลาม
ของอดีตสหภาพโซเวียตเดิมที่อุดมไปด้วยน้ำมัน และสิ่งที่เกิดขึ้นในอุซเบกีสถานขณะนี้
ก็ดูเหมือนจะเป็นความสำเร็จในการเล่นการเมือง ในการประชุมกลุ่มที่ผ่านมาครั้งล่าสุด
สมาชิกปัจจุบันมีความคิดไปไกล ถึงขนาดจะเชิญอิหร่านมาเป็นสมาชิกสมบูรณ์
ท่ามกลางความไม่พอใจของวอชิงตันเป็นอย่างยิ่ง รัมสเฟลด์ไปพูดที่สิงคโปร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า
“สำหรับผมแล้วมันแปลกมาก ที่ใครที่บอกว่าตัวต่อต้านการก่อการร้าย แต่กลับไปเชิญอิหร่าน
ที่เป็นประเทศก่อการร้ายชั้นนำของโลก เข้ามาร่วม”

ขณะเดียวกัน สหรัฐก็ระดมไพร่พลของตนเช่นกัน รวมทั้ง ‘ตัวอะไหล่’ (wildcard) ในเอเชีย
อย่างเช่นอินเดีย เตรียมเผชิญหน้ากับอิหร่าน ถึงแม้ประธานาธิบดีบุชจะยืนยันว่า
เขาพร้อมที่จะใช้การทูตแก้วิกฤตครั้งนี้ แต่เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐ ก็แอบไปขอความช่วยเหลือจากนาโต้
ให้วางแผนใช้เครื่องบินถล่มโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน เช่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายพลอเล็กซ์
ทัทเทลมานน์ หัวหน้ากองกำลังเฝ้าระวังเหตุ และควบคุมทางอากาศ (Airborne Early Warning and Control
Force) ของนาโต้ ก็พูดว่า กำลังของเขาพร้อมจะให้ความร่วมมือกองกำลังของสหรัฐ
ในการโจมตีอิหร่านตั้งแต่ขั้นต้น ๆ สื่อเยอรมันยังรายงานอีกว่า เมื่อปีที่แล้ว ปีเตอร์ กอสส์
อดีตผู้อำนวยการซีไอเอไปเยือนตุรกี เพื่อขอให้ช่วยสหรัฐในการโจมตีอิหร่านทางอากาศ

ทั้งที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ใช้การทูต แต่ก็ยอมรับความจริงว่า
สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ใช่จะเป็นเช่นนี้อยู่ตลอดไป อย่างน้อยอย่างหนึ่งคือ ฐานการเมืองของรัฐบาลบุชที่บ้าน
การทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ความพยายามที่จะครองความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียกลาง
และทางเศรษฐกิจในโลก เริ่มปรากฏรอยร้าว และประเทศอื่น ๆ จะออกมากีดขวางความปรารถนาของตน ฯลฯ

สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบุช ที่ยังคงฝันจะผูกขาดพลังงานโลก มีความรู้สึกว่า
สภาพการณ์ยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อย ๆ ช่องทางในการแสดงออก มีท่าทางว่าจะถูกปิด
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้ามาเบี่ยงเบนการใช้มาตรการทางทหารกับอิหร่าน
ซึ่งพิสูจน์ว่าอิทธิพลของตนในเตหะรานมีจำกัด เช่นความต้องการของยุโรป ยุทธวิธีเท้าราน้ำของรัสเซียและจีน
ความที่อิหร่านไม่ยอมประนีประนอม (ถึงคงจะไม่ใหญ่โตนัก) และความพยายามอย่างหนักของมอสโคว์และปักกิ่ง
ที่หว่านล้อมให้อิหร่านยอมอ่อนให้ในประเด็นนี้

หากในเดือนหน้า ๆ อิหร่านเกิดปฏิเสธความต้องการของสหรัฐ
ที่ให้ยุติการฟอกกากนิวเคลียร์เป็นการถาวรโดยสิ้นเชิง สหรัฐก็ย่อมจะหันมากดดันให้สหประชาชาติ
ทำการคว่ำบาตรอิหร่าน ขณะเดียวกัน หากสภาความมั่นคงฯ (ซึ่งมีรัสเซียกับจีนเตะถ่วง)
ใช้ท่าทีแบบขอไปทีในประเด็นนี้ สหรัฐก็จะต้องกดดันให้ใช้มาตรการคว่ำบาตร ภายใต้บทที่ 7
และหากรัสเซียกับจีนออกเสียงยับยั้ง รัฐบาลบุชก็จำเป็นจะต้องใช้มาตรการทางการทหารเข้าไปแก้
ซึ่งเป็นเรื่องที่มอสโคว์กับปักกิ่งกลัวที่สุด

ดังนั้น คาดว่ารัสเซียกับจีนจะต้องพยายามยืดกระบวนการทางการทูต ออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยหวังว่าประเทศในยุโรปและอื่น ๆ จะเห็นว่ามาตรการทางทหารของสหรัฐ ดูไม่ชอบธรรมมากขึ้น โดยนัยนี้
พวกสายเหยี่ยวในวอชิงตันก็จะยิ่งอดทนต่อความล่าช้าแบบนี้ไม่ไหว
(พวกเขาเห็นว่าเป็นวิธีการเตะถ่วงของรัสเซียกับจีน) ซึ่งหากแนวการทูตไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ก็จะผลักดันให้ใช้การทหารในช่วงปลายปีนี้

ก็เป็นอย่างที่วิกฤตการณ์ในอิหร่านเคยพัฒนามา รายงานการวิเคราะห์ข่าวส่วนใหญ่
ก็ยังรวมศูนย์อยู่ที่สงครามปาก ระหว่างวอชิงตันกับเตหะราน ถึงอย่างนั้นก็ตาม คนวงในจริง ๆ
ก็ยังมองไม่เห็นว่า การสู้รบกันจริง ๆ จะเกิดขึ้น นั่นก็คือ การที่วอชิงตันจะรบกับมอสโคว์และปักกิ่ง
เพื่อแย่งน้ำมันกันในโลก มองในแง่นี้ อิหร่านก็เป็นอีกเพียงสมรภูมิหนึ่ง (ถึงจะสำคัญ)
ในการโรมรันที่จะยาวนานกว่านี้

Michael T Klare is professor of peace and world security studies at Hampshire College and the
author, most recently, of Blood and Oil: The Dangers and Consequences of America's Growing
Dependence on Imported Petroleum (Owl Books) as well as Resource Wars, The New Landscape of Global
Conflict.

โดย : เห็นมา Member [ 25/12/2006, 09:53:15 ]

1

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9490000080122

โดย : เห็นมา Member   [ 25/12/2006, 09:54:08 ]

2

ถึงเวลาเดินม้ากับเดินเรือได้แล้ว
บทความนี้เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองในช่วงนี้ดดยนำหมากรุกเข้าไปเปรียบเทียบ
http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413332543

โดย : ขุนสันต์ Member   [ 18/10/2008, 10:46:29 ]

 
  E-mail: webmaster@thaibg.com Copyright 2002-2024@www.ThaiBG.com (Thailand), All Rights Reserved  
 
  Sponsors