รุก!
สิ้นเสียงประกาศพลันตัวหมากรุกฟาดเปรี้ยงลงบนกระดานสี่เหลี่ยมซึ่งถูกใช้ให้เป็นเวทีแห่งการใช้ชั้นเชิง
ชิงไหวชิงพริบ โดยมีจุดหมายคือโลดไล่ "ขุน"
ของคู่แข่งให้จนมุมอันเป็นสัญญาณสิ้นสุดของการประลองปัญญา นับเป็นเสน่ห์ของกีฬาพื้นบ้านไทยที่ยังคงอยู่
"หมากรุก" มีกำเนิดจากชนชาติใด ตั้งแต่ปีไหนไม่ปรากฏแน่ชัด
แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และคงพบเห็นกันอยู่ทุกแห่งหน
"หมากรุก" มีกำเนิดจากชนชาติใด ตั้งแต่ปีไหนไม่ปรากฏแน่ชัด
แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกบนกระดานไม้ตีช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ขนาด ๖๔
ช่อง หากได้ผู้เดินหมากชั้นเซียนที่มีฝีมือใกล้เคียงกันก็จะทำให้เกมขับเคี่ยวกันมันหยด
สร้างความเพลิดเพลินลุ้นระทึกให้แก่ผู้ชมราวกับเข้าไปนั่งแทนผู้ที่กำลังแข่งขันเสียเอง
การชมหมากรุกในยุคดิจิตอลที่มีเทคโนโลยีก้าวล้ำ
ติดตั้งจอขนาดใหญ่ถ่ายทอดสดการแข่งขันแบบเม็ดต่อเม็ดโดยที่ผู้ชมไม่ต้องเบียดเสียดกันดู
ย้อนกลับไปสมัยก่อนถ้าคนดูเบียดเสียดแทบมองไม่เห็นกระดานแข่ง
ด้วยกุศโลบายอันแยบคายของคนโบราณจึงได้มีการจำลองการแข่งขันมาไว้บนกระดานขนาดใหญ่
กฎกติกาทุกอย่างไม่ต่างจากกระดานเล็ก หากแต่ใช้ "คน" แทนตัวหมากเดินเกมการแข่งขัน เรียกว่า
"หมากรุกคน"
จัดกระบวนทัพ "คน"
พลันที่เสียงปีพาทย์ดังขึ้น หนุ่ม-สาว ผู้สวมบทหมากที่เรียกว่า "เบี้ย"
ใส่เครื่องนุ่งห่มแบบพลทหารก็นวยนาดออกมาพร้อมกับร่ายรำ
แกว่งไกวดาบในมือไปตามจังหวะดนตรีบนตารางซึ่งตีไว้ทั้งหมด 64 ช่องเช่นเดียวกับกระดานหมากรุกโดยทั่วไป
ต่างกันที่ขนาดใหญ่ขึ้นมา 1.5 เมตร
ถัดจากเบี้ย สองสาวหน้าตาแฉล้มผู้แสดงเป็น "เรือ"
อยู่ในชุดเสื้อแขนกระบอกนุ่งโจงกระเบนแบบชาวบ้านค่อยๆแจวพายเข้าสู่ตาราง จากนั้นเสียงปี่พาทย์ขึ้นเพลง
ม้าหย่อง พร้อมกับการปรากฏตัวของคู่ผู้แสดงในตำแหน่ง "ม้า" แต่งตัวตามลักษณะตัวละครสวมหัวม้า
ออกมาพร้อมท่าเต้นโขยก กระโดกกระเดก
ปี่พาทย์เริ่มขึ้นเพลงกราวนอก เปิดตัวผู้แสดงตำแหน่ง "เม็ด" ซึ่งร่ายรำนำหน้า 2
สาวผู้แสดงตำแหน่ง "โคน" แต่งกายแบบละครพันทางมีอาวุธเป็นดาบสองมือ
หมวกที่เม็ดใส่เป็นหมวกทรงประพาส
ปิดท้ายตำแหน่งสำคัญที่สุดเรียกว่า "ขุน" หลังจากออกมาครบทุกตัว เรียงจากริมสุดเรือ ม้า โคน
ขุน เม็ด โคน ม้าและเรือ เมื่อผู้แสดงฝ่ายขาวออกมาจนครบก็จะร่ายรำไปหยุดตำแหน่งประจำตัว
จากนั้นจึงเป็นคราวของฝ่ายดำออกมาซึ่งตำแหน่งต่างๆเหมือนกัน
ต่างกันเพียงชุดในการแสดงและเพลงที่ใช้ประกอบนาฏศิลป์เพื่อให้เกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายเข้าประจำตำแหน่ง เริ่มจากแถวหลังริมตารางคือเรือ ม้า โคน เม็ด ขุน โคน ม้าและเรือ
แถวถัดขึ้นมาคือ เบี้ยทั้ง 8 ตัว บรรดาตัวหมากทั้ง 2 ฝ่ายต่างอยู่ในท่าพร้อมสำหรับเดินเกม
เปิดฉาก(หมาก)รุก
ข้างสนามหมากรุกคนมีโต๊ะเล็กๆใช้เป็นเวทีสำหรับผู้เล่นหมากรุกคน 2 คน
หลังจากมองอยู่นานหนึ่งในผู้แข่งขันเริ่มเปิดเกมด้วยการหยิบเบี้ยขึ้นมาแล้วนำไปวางไว้ในช่องข้างๆกัน
เมื่อกระดานจริงเริ่มแข่งขัน การแสดงก็จะเริ่มไปพร้อมกัน ผู้ประกาศขานหมายเลขให้
"ตัวหมากรุกคน" เดินไปที่ตารางตามที่ผู้แข่งขันเดินหมาก
ตัวหมากในสนามก็จะร่ายรำไปตามจังหวะปี่พาทย์ ซึ่งเพลงที่ใช้เลือกเหมาะสมกับฐานะของหมากแต่ละตัว
"เบี้ย ป 6 เดินไป ป 5" เสียงคนพากย์ผู้ชายเอ่ยพร้อมกับการก้าวเดินของตัวหมากไปบนกระดาน
แต่ละช่องตารางกำกับมุมด้วยพยัญชนะตั้งแต่ ก-ช และ ญ ส่วนอีกด้านเป็นตัวเลข 1-8
โดยผู้เล่นฝ่ายหนึ่งจะอยู่ด้านหมายเลข 1 อีกฝ่ายจะเริ่มเล่นจากทางหมายเลข 8
"ม้าของพม่า ข 8 เดินไป ค 6" เสียงผู้หญิงพากย์ฝ่ายตรงข้าม
ผสมผสานกับเสียงหัวเราะของผู้ชมขบขำในท่าทางกระโดกกระเดกของผู้แสดงเป็นม้า
"...เบี้ยไทย ก ไก่ 3 จิกเบี้ยพม่า ก ไก่ 4..."
ถึงตอนนี้หมากของฝ่ายไทยเดินจากตารางตัวเองไปยังตารางของอีกฝ่าย ซึ่งในเกมกีฬาหมากรุกเรียกว่าการกิน
ต่างกันที่ว่าในการแสดงหมากรุกคนมีการประยุกต์เอาศิลปะการต่อสู้แบบไทยมาใช้ในการช่วงชิงตาราง
"...โคนไทย ค 6 ไป ง 7 แล้วอยู่อย่างนี้จะไปยังไง โคนก็มาอัดเรือก็มาอัด คนดูออกใครแพ้ชนะ
แต่เพื่อความสัมพันธ์อันดี สืบสานกีฬาไทยเชื่อมความสัมพันธ์ เราจะพักรบกันไว้เพียงเท่านี้"
เสียงคนพากย์เอ่ยปิดเกมเป็นเวลาเกือบชั่วโมงที่ขับเคี่ยวกันมา สิ้นสุดลงพร้อมกับผลที่ฝ่ายไทยเรือตัวหมาก
7 ตัว ขณะที่ฝ่ายพม่าเหลือตัวหมาก 8 ตัว
ทำความรู้จักหมากรุกคน
ประวัติความเป็นมาของหมากรุกซึ่งมีหลายตำรา สถาพร ขาวรุ่งเรือง นาฏศิลปินระดับ 6 สำนักสังคีต กรมศิลปากร
ผู้ฝึกซ้อมการแสดงหมากรุกคนให้กับนักศึกษาระดับสถาบันอุดมศึกษา เล่าที่มาให้ฟังพอสังเขปว่า
"แต่ก่อนเรียกอินเดียว่ามัธยมประเทศเพราะประกอบด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ รบพุ่งกันตลอดเวลา
บรรดาอำมาตย์ข้าราชบริพารหาตำราพิชัยสงครามมาศึกษาเพื่อลดการทำศึก ออกมาเป็นตาราง
เอายาเส้นที่เคี้ยวมาทำเป็นตัวหมาก กษัตริย์เห็นว่าเป็นการดีจะได้ไม่หมกมุ่นในการรบ
ต่อมาพอพ่อค้าวานิชจากอินเดียเข้ามาค้าขายในบ้านเราก็ได้นำมาเล่นด้วย อย่างที่2
สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากพม่า แต่ก่อนคนไทยและพม่ารบกัน
เชลยที่ถูกกวาดต้อนไปพบเห็นหมากรุกจึงนำเข้ามาเล่น เมื่อมาถึงเมืองไทย
คนไทยชอบประดิษฐ์ก็นำมาคิดว่าถ้านำหมากมาเรียงกันเพียงอย่างเดียวดูไม่สวย
จึงทำตัวหมากขึ้นมาจนปรากฏเป็นปัจจุบันตัวหมากมีรูปลักษณ์ต่างๆกัน"
สำหรับ "หมากรุกคน"เป็นการแสดงที่ ครูสง่า ศศิวณิช ลูกศิษย์ของพระยาสุนทรเทพระบำ(เปลี่ยน
สุนทรนัฏ) เป็นผู้คิดขึ้นเพื่อประกอบการแข่งขันกีฬาหมากรุก
โดยใช้คนแสดงเป็นตัวหมากมีเพลงบรรเลงและท่ารำประกอบเฉพาะตัว หมากรุกคนนำมาแสดงครั้งแรกในงานปีใหม่ ณ
ท้องสนามหลวง อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการระบุปีพุทธศักราชที่เริ่มแสดงไว้
"การแข่งขันหมากรุกสมัยโบราณมีคนดูมากไม่สามารถมองเห็นเกมได้ชัดเจน
จึงมีการคิดทำตัวหมากรุกเป็นไม้เล่นบนกระดานกว้างๆให้คนไปหยิบแล้วเดินตามตาราง แต่มันไม่ได้อรรถรส
โบราณจึงใช้ตัวคนแทนตัวหมาก หมากรุกคนเล่นตามที่กระดานในการแข่งขันเล่นกัน
ถ่ายทอดจากระดานเล็กให้ลงกระดานใหญ่"
อาจารย์สถาพรของนักแสดงหมากรุกคนอธิบายต่อไปว่าหมากรุกไทยมีตัวหมากทั้งหมด 6 ตัวได้แก่
ประกอบด้วยขุนหรือตัวแม่ทัพ 1 ตัวโคนเปรียบเสมือนทหารเอกคู่ใจหรือรองแม่ทัพ 2 ตัว
เม็ดเปรียบเสมือนทหารหน่วยทะลวงฟัน 1 ตัว ยานพาหนะม้า 2 ตัวและเรือ 2 ตัว
นอกจากนี้ยังมีเบี้ยซึ่งเปรียบเสมือนพลทหารราบลุยเป็นกองทัพหน้าอีก 8 ตัวทั้งหมดบนกระดานมีฝ่ายละ 16
ตัว
"คนที่แสดงเป็นหมากจะอยู่ในชุดแตกต่างกันตามแต่ละหน้าที่ และเพื่อให้แยกความต่างของทั้ง 2
ฝ่ายบางครั้งจึงมีการสมมุติให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายไทย
ส่วนอีกฝ่ายนั้นแล้วแต่จะเลือกประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีลักษณะการแต่งกาย การต่อสู้
เพลงที่ใช้สำเนียงแต่ละชาติแตกต่างง่ายสำหรับผู้ชมสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน"
ในการเดินเข้าตารางหมากรุกคนมีการจำลองรูปแบบการจัดทัพมาใช้เพื่อความสวยงาม
"ม้าถือเป็นตัวสร้างสีสันเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากคนดูได้ทุกครั้งที่แสดงท่าทาง
ส่วนหมากตัวอื่นเป็นเรื่องของท่ารำ ม้าไปกำกับธรรมชาติไม่ได้ ปล่อยไปตามท่าทางตามธรรมชาติ
ผู้แสดงต้องระลึกอยู่เสมอว่าขณะอยู่บนตารางสวมวิญญาณความเป็นม้า
เพราะฉะนั้นจะแสดงท่าทางอย่างไรก็ได้ให้อยู่ในท่าทางตามธรรมชาติของม้า ไม่ว่าจะร้องเป็นเสียงม้า
แสดงท่าทางดีดกะโหลกแบบม้า ท่ารำ และเพลงของม้าที่ใช้แฝงความสนุกอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว
ส่วนอรรถรสของการแสดงมองไปที่การต่อสู้"
ในหมากรุกเวลาจะกินกันนิยมบรรเลงด้วยเพลงเชิด นอกจากนี้ยังนำเอาอาวุธกระบี่กระบองมาใช้ในการต่อสู้
ฝ่ายถูกกินเป็นฝ่ายต้องตาย นิยมใช้เพลงโอดบรรเลงช่วงที่ตัวหมากตาย
"ขุนหมายเลข 4 ฉ. ฉิ่ง เดินไปหมายเลข 5 ช. ช้าง จากนั้นวงมโหรีปี่พาทย์ก็จะเริ่มบรรเลง น้อย นอย
นอย หน่อย น้อย พอไปถึงตารางจุดหมายเพลงก็จะจบลง เบี้ยหมายเลข 2 ฉ.ฉิ่งไปกินเบี้ยหมายเลข 3 จ.จาน
ปีพาทย์ก็จะขึ้นน้อย นอย ก็จะรำไปหา พอถึงตารางที่มีหมากอีกฝ่ายอยู่ก่อนแล้ว ก็จะทำการต่อสู้
ฝ่ายที่โดนกินล้มลง เบี้ยที่รุกเข้ามาก็จะมายืนแทน วงมโหรีปีพาทย์ก็จะขึ้นเพลงเชิด พอตายลงก็จะลงเพลงโอด
จากนั้นเปลพยาบาลก็จะเข้ามารับออกไป เพลงเชิดก็จะบรรเลงขึ้นมาอีกครั้ง"
นอกจากม้าจะเรียกเสียงหัวเราะ หากคนพากย์มีกลเม็ดในการพากย์ก็สามารถสร้างบรรยากาศให้ครื้นเครง
"เอ้า ตายแล้วดูนกกระจอกยังไม่ทันจะกินน้ำเป็นมุกตลกให้คนดูไม่เกิดความรู้สึกเบื่อ"
ส่วนกฎกติกามารยาทของหมากรุกคนไม่แปลกแยกหมากรุกกระดานเล็ก
"ในกระบวนทัพต่างๆผู้ที่มีกำลังมากกว่าย่อมชนะฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่า
และในการเล่นหมากรุกจะทำอย่างไรก็ตามเพื่อให้ขุนเหลือตัวเดียว
แล้วก็โถมกำลังเข้าไปเพื่อให้ขุนไม่มีทางเดิน เมื่อตัวหมากขุนอับถือว่าเสมอ นั่นเท่ากับว่าจบเกม
แต่ถ้าเป็นหมากที่อ่อนกว่า ลูกหมากเยอะ แต่ขุนไม่สามารถเดินไปทางไหนได้
เรียกว่าแพ้กลางกระดานอีกกรณีคือจนบ่งบอกฝ่ายแพ้-ชนะเดินไปจุดไหนก็โดนกินเป็นฝ่ายแพ้"
หมากรุกคนนิยมแสดงในช่วงเทศกาล เช่นสงกรานต์ งานปีใหม่ที่พระประแดง ลพบุรี
และนนทบุรีหรือเทศกาลสำคัญในโอกาสต่างๆ เช่น งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จะมีการจัดแสดงหมากรุกคนทุกปี
"เคยเห็นทาง กทม.จัดแต่ภายหลังก็หายไป ปัจจุบันถ้าจะหาชมหมากรุกคน มหาวิทยาลัยหอการค้าเป็นหลัก
ตามโครงการสืบสานกีฬาไทยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆอย่างมหาวิทยาลัยเกริก เซนต์จอห์น เอเชีย คริสเตียน
และพายัพ"
พูดถึงความนิยมของหมากรุกที่ปัจจุบันหาชมได้ยาก "มีมหรสพอะไรคนไทยก็ดู หมากรุกคนโอกาสแสดงมีน้อย
สมควรอนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นการรวมศิลปะระบำ รำ เต้น กระบี่กระบองพร้อม
อุปสรรค์อีกอย่างคือใช้พื้นที่เยอะ พื้นที่เหมาะสำหรับการแสดงก็คือสนามกีฬา
เพราะมีอัฒจันทร์อยู่ในตำแหน่งสูงพอสำหรับการชม
คนดูสามารถใช้ความคิดตามไปต่างจากตารางเล็กที่กำลังแข่งกันได้ว่าสามารถจะเดินไปยังตารางไหนต่อไป
แต่ถ้าไปเล่นในสนามโดยคนดูอยู่ขนานกับตัวหมาก ก็จะทำให้ดูไม่ค่อยจะรู้เรื่องเท่าไร
เพียงแต่ดูว่าขุนเดินไปตามตารางนี้ พอไปถึงก็ไปรบ นั่นคือดูการแสดงเท่านั้น ต่างจากคนที่ดูจากที่มุมสูง
เพราะสามารถอ่านเกมไปในตัวตามไปด้วย นั่นคือการชักชวนให้คนอยากเข้าไปดู เพราะเกิดอรรถรสมากกว่า
เนื่องจากดูได้ทั้งเกม และการแสดง"
เสน่ห์หมากรุกคน
ยุทธนา เพียรพิทักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ ผู้แสดงหมากรุกคนเป็นขุน
"ขุนเป็นตัวใหญ่สุด มีตัวอื่นๆ มาป้องกัน ลักษณะเฉพาะน่าเกรงขาม ดูนิ่งๆ สง่า
ตอนเรียนมัธยมเคยดูมองว่าแปลก น่าสนใจ พอได้มาแสดงยิ่งชอบมาก เล่นมา 3 ครั้งแล้ว แต่ช่วงนี้ไม่มี
และไม่รู้ว่าที่อื่นจะมีการแสดงหรือไม่ เราต้องอนุรักษ์ไว้"
สิรภาสินี พงษ์ประเสริฐ นักศึกษาคณะบัญชี "เบี้ยเหมือนเป็นตัวเล็กๆในกระดาน
นาฏศิลป์น่าสนใจทุกอย่าง แต่ถ้าพูดถึงหมากรุกคนเป็นสิ่งที่แปลก ไม่ค่อยได้พบเห็นที่ไหน
ความสนุกอยู่ที่คนพากย์ พากย์สนุกก็น่าดู แต่ถ้าเล่นไม่ใส่อารมณ์คนดูอาจจะเบื่อ
เกมๆหนึ่งใช้เวลานานเป็นชั่วโมง ขึ้นอยู่กับผู้เล่นกระดานเล็ก ถ้าต่างมีชั้นเชิงก็เล่นนาน"
วิมลรัตน์ ยุคลธีรวัฒนากุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์แสดงเป็นเรือ "แรกๆ
ทุกคนต้องหัดซ้อมฟันดาบก่อน จากนั้นแยกตามความถนัดฝึกท่ารำ
ตัวเรือพิเศษกว่าตัวอื่นตรงที่สามารถเดินไปได้ไกลกว่าตัวอื่น เป็นลูกล่อลูกชนไม่ให้ถูกกินได้ง่ายๆ
มองว่าหมากรุกคนเป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่คนคิดช่างคิด ถ้าเป็นต่างประเทศคงไม่มี
ควรจะอนุรักษ์ให้คงอยู่ไว้ หมากรุกปกติคิดเงียบๆ อันนี้เฮฮา แม้ไม่ใช่ผู้เล่น
รู้สึกสนุกเหมือนเราเป็นตัวนั้นจริงๆ"
ผู้ชมควรจะมีความรู้การเล่นหมากรุกไทยเป็นพื้นฐานเพื่อให้ชมการแสดงหมากรุกคนได้อย่างออกรสชาติถึงแก่น
- - - - - - -- - - - - -- - - -- - - - -- - - --
ข่าวและภาพบางส่วน จาก : ผู้จัดการรายวัน 30 มิถุนายน 2548
http://www.siam-handicrafts.com/Webboard/question.asp?QID=3507