[ กลับหน้าหลัก ]


ทฤษฎี "เจริญ" (มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย)

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02mar12041249&day=2006/12/04

ทฤษฎี "เจริญ"

คอลัมน์ Market think
โดย สรกล อดุลยานนท์

เคยได้ยินเรื่อง "พญามังกร" อย่าง "เจริญ สิริวัฒนภักดี"
เกือบสะดุดขาตัวเองล้มไหมครับ

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540

ตอนนั้น "เจริญ" สยายปีกไปถือหุ้นใหญ่สถาบันการเงินหลายแห่ง

นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่านี่คือการขยายธุรกิจในแนวดิ่งของ "เจริญ"

เพราะหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ คือ "แหล่งเงิน"

การยึดกุม "หัวใจ" ของธุรกิจจะทำให้ "เจริญ"
ขยายอาณาจักรได้กว้างขวางใหญ่โตมากขึ้น

แต่แท้จริงแล้ว สาเหตุจริงๆ ที่ทำให้ "เจริญ" เข้าไปอยู่ในวังวนของธุรกิจการเงินต่างๆ
ก็เพื่อตอบแทนบุญคุณคนที่เคยให้การช่วยเหลือ

เพราะสมัยที่เขาบุกเบิกธุรกิจเหล้า "เจริญ" ได้รับความช่วยเหลือจากแบงก์จำนวนมาก

สไตล์ของ "จอมยุทธ์น้ำเมา" นั้นถือหลักว่า "บุญคุณต้องทดแทน"

เมื่อแบงก์มาเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟังและขอให้เขาช่วยซื้อหุ้นเพิ่มทุน เขาก็ช่วย

"เจริญ" บอกว่า เขาเป็นคนที่หมุนเงินเก่งมาก

เมื่อฟังปัญหาและรู้จำนวนเงินที่ต้องใช้แล้ว เขามั่นใจว่าเขาหมุนเงินได้แน่นอน

แต่แล้ว "เจริญ" ก็ค้นพบสัจธรรมประการหนึ่งของการช่วยเหลือคน

"คนที่มีปัญหาจะบอกปัญหาไม่หมด"

เป็นธรรมชาติของคนที่มีปัญหา ทุกคนกลัวว่าถ้าบอกปัญหาหมด จะไม่มีใครยอมช่วย เพราะมันหนักหนาสาหัสเกินไป

ถ้าบอกบางส่วน ไม่หนักหนามากนัก คนก็พร้อมจะช่วย

"วิกฤต" ของ "เจริญ" ในครั้งนั้นเกิดจาก สัจธรรมข้อนี้แหละครับ

คนมีปัญหามักจะบอกปัญหาไม่หมด

แม้ "เจริญ" จะเชื่อมั่นว่าตัวเองหมุนเงินเก่ง

เขาประเมินแล้วว่า ถ้าปัญหาขนาดนี้ ใช้เงินขนาดนี้ เขาหมุนเงินได้สบาย

แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงิน "ขยะ" ใต้พรมกลับมีจำนวนมากกว่าที่เขารับรู้หลายเท่านัก

"เจริญ" จึงเอาไม่อยู่ ต้องเสียเงินไปกับธุรกิจการเงินสูงมาก
จนแทบจะฉุดดึงธุรกิจอื่นให้ล้มลงไปด้วย

แต่เขารอดมาได้เพราะธุรกิจดั้งเดิมของเขา

"ธุรกิจเหล้า"

เชื่อไหมครับว่า วิกฤตปี 2540 หนักหนาถึงขั้นไม่มีใครเชื่อใคร

ที่ดินที่เคยเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า กลับไม่มีแบงก์ไหนยอมรับเป็นหลักประกันเงินกู้

แต่ "เจริญ" มีสินทรัพย์หนึ่งที่แบงก์ยอมรับ และเป็นสินทรัพย์ที่คนอื่นไม่มี

นั่นคือสต๊อก "เหล้า"

ช่วงนั้นโรงงานของ "เจริญ" จึงผลิตเหล้าทั้งวันทั้งคืน
และนำสต๊อกเหล้ามาค้ำประกันเงินกู้ของแบงก์

ในที่สุดเขาก็หมุนเงินจนรอดมาได้

และเติบใหญ่จนถึงวันนี้

"เจริญ สิริวัฒนภักดี" จอมยุทธ์น้ำเมาได้รับการขนานนามว่าเป็น
"ผู้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า"

ร่ำลือกันว่าครั้งหนึ่ง คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี นั่งรถผ่านที่ดินแปลงหนึ่งสวยมาก
เธอจึงโทรศัพท์ไปหาคนที่ดูแลเรื่องการซื้อที่ดิน

ถามว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้นคือใคร

คำตอบที่ได้ก็คือ...คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี

จริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ของ "เจริญ"
นั้นมากมายมหาศาลขนาดไหน

"เจริญ" เติบโตจากธุรกิจเหล้า ขยายมาที่เบียร์

มีโรงแรม มีคอนโดมิเนียม มีศูนย์การค้า

เป็นเจ้าของ "เบอร์ลี่ยุคเกอร์"

เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ "โออิชิ"

และอื่นๆ อีกมากมาย

หลักคิดหนึ่งที่น่าสนใจมากของ "เจริญ"

เขาบอกว่า ที่อาณาจักรธุรกิจของเขาใหญ่โตขนาดนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า...

...อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย

ฟังดูเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์น่าดูเลย

แต่ถ้าอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ มูลค่าของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไป

ถ้าที่ดินแปลงหนึ่งราคา 1 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ต่อให้กู้เงิน 1 ล้านบาทมาซื้อที่ดินแปลงนี้และต้องผ่อนจ่ายเป็นเวลา 10 ปี

"เจริญ" เชื่อว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไปจะต่ำกว่ามูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น

ด้วยหลักคิดเช่นนี้เองที่ทำให้ "เจริญ" กลายเป็น "ผู้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า"

ระหว่างการเก็บเงินสดไว้ในกระเป๋า กับการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ

"เจริญ" เลือกการซื้อสินทรัพย์

เพราะเขามั่นใจว่าเขาหมุนเงินเก่ง

อาณาจักรของ "เจริญ" จึงขยายไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด

อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะถ่ายทอดปรัชญาข้อนี้กับลูกน้อง แต่ "เจริญ" ก็เตือนว่า
หลักคิดนี้ใช้ไม่ได้กับทุกคน

บางคนหมุนแล้วไม่รอดก็มี

ครับ กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของนักธุรกิจแต่ละคนนั้นมีความเฉพาะตัว

ไม่ใช่ "ยาวิเศษ" ที่ทุกคนกินเข้าไปแล้วสำเร็จทุกคน

แต่ละคนต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับตัวเอง

หน้า 30

โดย : เห็นมา Member [ 05/12/2006, 10:39:25 ]

 
  E-mail: webmaster@thaibg.com Copyright 2002-2024@www.ThaiBG.com (Thailand), All Rights Reserved  
 
  Sponsors