คอลัมน์ฉลาดเลือก : เกมออนไลน์จำเลยตัวจริงหรือไม่
โดย ณัฐพงษ์ พรคงเจริญ
นสพ.เดลินิวส์
ศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2548
http://www.dailynews.co.th/it/each.asp?newsid=74904
วันนี้ผมขอพูดเรื่องเบา ๆ ในแบบหนัก ๆ ครับ คือ เรื่องของ เกม คอมพิวเตอร์
ซึ่งนับวันยิ่งจะมีบทบาทและอิทธิพล กับทั้งเด็กและเยาวชนทั่วโลก ซึ่งในสายตาของผู้ใหญ่หลายคน
เกมคอมพิวเตอร์อาจเป็นสิ่งเลวร้าย มอมเมา ทำให้เด็กหลายคนไม่สนใจการเรียน
หรือแม้กระทั่งหนีเรียนเพื่อไปมั่วสุม โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว เกมเองอาจจะเป็นเพียง แพะ
เพราะถ้าเด็กหรือเยาวชน มีการดูแลเอาใจใส่อย่างดี เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ ?
จากประสบการณ์ในวงการคอมพิวเตอร์มาสิบกว่าปี ได้คุยได้สัมภาษณ์นักคอมพิวเตอร์รุ่นพ่อ รุ่นพี่
รุ่นราวคราวเดียวกัน หรือรุ่นหลังหลายต่อหลายคน ผมพบว่าเขาเหล่านั้น (รวมทั้งผมเองด้วย)
สนใจคอมพิวเตอร์จากการเล่นเกม ติดใจเสน่ห์ของเกม ความตื่นตาตื่นใจที่ได้จากภาพและเสียง ความเพลิดเพลิน
สนุกสนานจากการแก้ไขปัญหา การผจญภัย โลดโผนโจนทะยาน ฯลฯ และในที่สุด เมื่อรู้สึกอิ่มตัวกับการเล่น
เริ่มเติบโตขึ้น ก็ก้าวผ่านเกมออกสู่การปรับแต่งคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การเขียนโปรแกรม
การทำเว็บ ฯลฯ ซึ่งความได้เปรียบและความคุ้นเคยกับระบบจากการเล่นเกมมาก่อน ทำให้สามารถเรียนรู้
และพัฒนาตัวเองได้เร็วมาก เชื่อไหมครับว่า เท่าที่ได้คุยมา ทุกคนแทบจะเหมือนกันหมดเลยคือ เริ่มต้นจาก
เกม ทั้งสิ้น
แต่นิยามของการเล่น เกม วันนี้ เป็นอย่างนั้นจริงหรือ ?
ขอสารภาพว่า ถึงผมจะอายุมากแล้ว แต่ก็เป็นคนนึงที่ยังคงเล่นเกม และติดตามเกมคอมพิวเตอร์มาโดยตลอด
ได้เห็นพัฒนาการของเกมจากเกมแบบ สแตนอโลน คือ เล่นคนเดียว มาจนถึงยุคนี้ที่เป็นยุคเกมเน็ตเวิร์ก หรือ
เกมออนไลน์ ซึ่งสามารถเล่นกับคนอื่นได้ด้วย
จุดนี้คือจุดเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงสำหรับพฤติกรรมการเล่นเกม เพราะเกมแบบเก่านั้น เล่นคนเดียว
เล่นกับเครื่อง ต่อให้เล่นสนุกมากมาย ยังไงสักวันก็ต้องเหงาต้องเบื่อ
ต้องออกมาหากิจกรรมอื่นที่มีเพื่อนมีฝูงทำกันบ้าง
แต่พอเป็นเกม ออนไลน์ ปัญหาเรื่องการเหงาอยู่คนเดียวก็หมดไป เพราะสามารถหาเพื่อนคุย เพื่อนเล่น
มีการเข้าทีมแข่งขันกันทำนั่นทำนี่ บางทีผมเห็นเด็กเข้าไปในเกมแต่ไม่เล่น แต่ไปนั่ง chat
กันอย่างเดียวเป็นวัน ๆ ก็มี แน่นอนว่า แบบนี้ทำให้วิถีการเล่นเกมของผู้เล่นสนุก
แต่ก็ทำให้ระยะเวลาเล่นนานขึ้นจนน่าเป็นห่วง ผมได้ยินน้องที่ทำร้านเกมบอกว่า มีหลายคน
มานั่งเล่นหน้าเครื่องเป็นอาทิตย์บ้านช่องไม่กลับ ที่หนักกว่านั้นคือ
มีบางคนถึงขนาดกินอยู่ที่ร้านเป็นเดือน (อยากบอกว่าไม่ใช่เดือนเดียวนะครับ แต่ 3-4 เดือน
ผมสงสัยเหลือเกินว่าน้องเขาเอาเงินมาจากไหน) กินอยู่อาบน้ำขับถ่าย ทำมันที่ร้านเกมนั่นแหละ !
และนับวันก็ยิ่งจะมีคนที่เป็นแบบนี้มากขึ้น
หรือเกมมันไม่ใช่แค่เล่นสนุกอีกต่อไป แต่มันคือการสร้างตัวตนแบบหนึ่งในสังคมด้วย !
สังเกตไหมครับว่า ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์เกมไหนก็ตาม ด้วยความที่อยากให้คนเล่นติดเกมนั้น (แน่นอน
เพื่อให้ได้รายได้ค่าสมาชิกเยอะ ๆ) ทุกเกมจะมีคะแนนประสบการณ์ มีสิ่งที่ทำให้คนที่เข้าไปใช้เวลาเล่น
นานกว่า มีความสามารถ หรือสิ่งของในเกม มากกว่า คนที่เข้าไปใช้เวลาเล่นน้อยกว่าเสมอ
บางเกมอาจจะเป็นชุดที่ใส่ดูหรูหรา หรือสวยงาม โดดเด่น หรือบางเกมอาจจะเป็นของวิเศษ ยานพาหนะ
ที่ทำให้มีความสามารถเหนือกว่าคนอื่น ฯลฯ เรื่องแบบนี้เองที่ทำให้เด็ก และเยาวชนหลายคน
ยอมใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมง นั่งหลังขดหลังแข็ง เล่นเกมเพื่อสั่งสมประสบการณ์
ให้ตนเองสามารถขึ้นไปอยู่ในระดับสูง มีชุดเท่ ๆ ใส่ มีอาวุธดี ๆ เอาไว้โชว์เพื่อน
หลายครั้งที่ผมเห็นหลายคนเล่นด้วยความเบื่อหน่าย เพลีย แต่ก็ต้องเล่น เพื่อให้มีสิ่งที่ทำให้ตัวเอง
เป็นที่ ยอมรับ ในเกม เท่านั้น
เป็นไปได้ไหมว่า การที่เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อย อยากอยู่เฉพาะแต่ในโลกออนไลน์
อยากให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ เป็นที่สนใจของคนอื่น อาจเกิดจากกระแสสังคม เล่นตามเพื่อน
เล่นเพื่อความสนุกสนานหรือ....เล่นเพราะแค่อยากมี ตัวตน เป็นที่สนใจ ให้ความนับถือ ชื่นชม ทุกคนยอมรับ
ในขณะที่ในโลกแห่งความจริง เขาอาจไม่ได้รับการใส่ใจดูแล หรือมี ตัวตน ในแบบที่เขาอยากเป็น
ฝากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ช่วยคิดด้วยนะครับ.