[ กลับหน้าหลัก ]


ปิดฉาก 8 ปี"เอ็มไอเอช"

กรุงเทพธุรกิจ
10 พฤศจิกายน 2548
http://www.bangkokbiznews.com/2005/11/11/w016l1_51408.php?news_id=51408

"ที่สุดแล้วก็คือ เอ็มไอเอช ไม่สามารถมี contribute ให้เพราะแม้เขาจะมีฐานสมาชิกเคเบิลทีวีขนาดใหญ่อยู่ที่แอฟริกาใต้ แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับการร่วมทุนทางนี้ เพราะในแง่ของการเจรจาซื้อรายการ ก็ไม่น่าจะเป็นการซื้อแล้วนำมาใช้ร่วมกัน"

บทเรียนล้ำค่าลงทุนไทย

"ทรู" ประกาศซื้อหุ้นยูบีซี 60% ด้วยมูลค่าเกือบ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อหนุนแผนถอนหุ้นยูบีซีจากตลาดหลักทรัพย์ และดึงมาอยู่ใต้ร่มเงาของกลุ่มทรู คอร์ป. อย่างเต็มตัวนั้น เรียกได้ว่าแทบจะเป็นการ "ปิดฉาก" ธุรกิจในประเทศไทยของผู้ให้บริการเคเบิลทีวี เบอร์ 1 จากแอฟริกาใต้เลยทีเดียว

เมื่อพิจารณาจากขนาดธุรกิจที่ขายออกไป ซึ่งมีรายได้รวมเมื่อปีที่ผ่านมา มากกว่า 2 พันล้านบาท ต่างจากเอ็มเว็บ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เก็บไว้นั้น มีรายได้ไม่ถึง 200 ล้านบาท

ย่างก้าวแรกของเอ็มไอเอชในตลาดไทย ผ่านการเข้าไปถือหุ้นบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไอบีซี เมื่อครั้งใกล้ๆ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พร้อมพกความมั่นใจเต็มร้อย จากประสบการณ์ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี อันดับ 1 ของแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจเคเบิลทีวีจำเป็นต้องฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ จนไอบีซีต้องเข้ามาควบรวมกิจการกับ บมจ.ยูบีที เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค หรือยูบีที เมื่อปี 2541 ภายใต้ชื่อ บมจ.ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น บทบาทของเอ็มไอเอชกลับค่อยๆ ลดลง แม้จะมีสัดส่วนการถือหุ้นถึง 30.61% สิทธิในการบริหารทั้งหมดกลับอยู่ในมือของกลุ่มทรู

"ที่ผ่านมา เอ็มไอเอชก็ไม่ค่อยแฮปปี้ ที่จะอยู่ในฐานะจูเนียร์ พาร์ทเนอร์ไปเรื่อยๆ" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดเอ็มไอเอชกล่าว

แต่แล้วการขยายลงทุนไปยังธุรกิจดอทคอม เมื่อช่วงปี 2542-2543 ก็กลับกลายเป็นการก้าวผิดครั้งที่ 2 เพราะเป็นช่วง "peak" ของอุตสาหกรรมดอทคอม ทำให้ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนสูงมาก หากหลังจากซื้อแล้ว ตลาดกลับอยู่ในภาวะขาลง

ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเวบไซต์สนุกดอทคอม ที่มีกระแสข่าวว่ามูลค่าซื้อขายแตะหลักร้อยล้านบาท และจัดตั้งบริษัท เอ็มเว็บ (ประเทศไทย) ขึ้นมาบริหารจัดการธุรกิจเวบไซต์ต่างๆ ที่ซื้อมาหลังจากนั้นด้วย

รวมไปถึงการซื้อกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ต ของบริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต จำกัด ซึ่งแม้ไม่เป็นที่เปิดเผยว่ามีมูลค่ามากน้อยเท่าไร แต่บรรดาผู้อยู่ในแวดวงดอทคอม ก็ยืนยันว่าเอ็มไอเอชต้องจ่าย "สูง" มาก

สนุก"สะดุด"เอ็มเอสเอ็น

ต้องยอมรับว่า ยุคเริ่มแรกของอุตสาหกรรมดอทคอมในไทย สนุกดอทคอม (www.sanook.com) เป็นเวบไซต์ที่มาแรง และมีส่วนสร้างสีสันให้กับการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางสืบค้นข้อมูล พบปะพูดคุยผ่านโลกออนไลน์ และแหล่งรวมความสนใจของการใช้ชีวิตทุกรูปแบบ สำหรับคนทุกเพศทุกวัย

ขณะที่การหารายได้ในธุรกิจดอทคอมนั้น ยังต้องพึ่งค่าโฆษณาเป็นหลัก ซึ่งสัดส่วนรายได้นั้น จะอิงอยู่กับปริมาณผู้เข้ามายังเวบไซต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดอินเทอร์เน็ตไทยเริ่มเข้าที่เข้าทาง ผู้เล่นระดับโลกก็เริ่มเข้ามาบุกเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล ไซต์ค้นหาชื่อดังก็เปิด www.google.co.th และไมโครซอฟท์ ซึ่งเข้ามาในไทยผ่าน www.msn.co.th หลังเห็นยอดผู้ลงทะเบียนคนไทยที่สูงถึงหลักล้านคน

ทั้งนี้ ความครบวงจรที่ยักษ์ใหญ่ทุนหนานำเสนอ ได้ดูดปริมาณ "ทราฟฟิก" จากบริการเวบท่าของไทยออกไปเรื่อยๆ เพราะสามารถใช้บริการได้ครอบคลุม ตั้งแต่ เช็คข่าว อีเมล์ ไปจนถึงข้อความทันใจ (ไอเอ็ม) ส่วนฟากของธุรกิจ หรือองค์กรรายใหญ่ๆ ที่ต้องการลงโฆษณา ก็หันมาเป็นสปอนเซอร์ให้มากขึ้น ทำให้ผู้เล่นที่เป็น "โลคัล เพลเยอร์" ลำบากขึ้น

ไม่แฮปปี้ทั้งเจ้าบ้าน-ผู้อาศัย

อย่างไรก็ตาม การแยกทางกันของเอ็มไอเอช และกลุ่มทรู ในธุรกิจเคเบิลทีวี จะไม่สร้างผลกระทบกับยูบีซี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันมานานหลายปี และผู้ถือหุ้นฝั่งไทย ก็เรียนรู้โนว์ฮาวต่างๆ หมดแล้ว

ขณะที่เรื่องของ "ซอฟต์แวร์รายการ" นั้น ก็สามารถบินไปซื้อจากงานประจำปีของวงการนี้ ที่จะมีผู้ผลิตรายการระดับโลกหลายๆ รายร่วมกันนำผลงานมาเสนอ ซึ่งผู้บริหารคนไทยน่าจะรู้จักและเข้าใจตลาดผู้บริโภคในประเทศได้ดีกว่าต่างชาติ

"ที่สุดแล้วก็คือ เอ็มไอเอชไม่สามารถมี contribute ให้ เพราะแม้เขาจะมีฐานสมาชิกเคเบิลทีวีขนาดใหญ่อยู่ที่แอฟริกาใต้ แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับการร่วมทุนทางนี้ เพราะในแง่ของการเจรจาซื้อรายการ ก็ไม่น่าจะเป็นการซื้อแล้วนำมาใช้ร่วมกัน" แหล่งข่าวกล่าว

ดังนั้น ก็มาถึงจุดสุดท้ายคือ ผู้ถือหุ้นที่ไม่มีอำนาจบริหาร จึงมีสภาพเปรียบเสมือนผู้อาศัย ส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย ก็ไม่เห็นประโยชน์จากการร่วมทุน ทำให้ต่างฝ่ายต่าง "ไม่แฮปปี้"

ก้าวพลาดจากโมเดลธุรกิจ"ก๊อบปี้แคท"

แหล่งข่าวระบุว่า ต้องยอมรับว่าธุรกิจที่เอ็มไอเอชต้องการเข้ามาล้วนแต่เป็นธุรกิจที่ "ยาก" ดังนั้นเมื่อตัดสินใจลงทุน ก็เปรียบเสมือนเป็นการ "วางเดิมพัน" ซึ่งเมื่อยุคแรกเริ่ม เอ็มไอเอชยังคิดว่าจะสามารถบริหารความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพตลาดในบ้านเดิมของตัวเองได้

สำหรับปัญหาใหญ่ที่ทำให้เอ็มไอเอช ไม่ประสบความสำเร็จกับตลาดไทย ก็คือ "โลกทัศน์" เพราะคิดว่าโมเดลการทำธุรกิจที่เคยได้ผลมาแล้วกับตลาดหนึ่ง จะใช้ได้กับตลาดอื่นๆ ด้วย ขณะที่กติกาในไทยนั้นแตกต่างกับแอฟริกาใต้อย่างสิ้นเชิง

เนื่องจากในแอฟริกาใต้นั้น บริษัทแม่ของเอ็มไอเอช คือ แนสเปอร์ (NASPERS) ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลของประเทศดังกล่าว เมื่อผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่สนับสนุนการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน และความริเริ่มทางธุรกิจ โดยเป็นผู้ให้บริการระบบทีวีแบบบอกรับสมาชิก (เปย์ทีวี) รายแรกของประเทศ จึงทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง

"แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย กติกาเดิมไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะเรามีกฎหมายคุ้มครองธุรกิจ ทำให้บริษัทต่างชาติต้องเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทไทย" แหล่งข่าวกล่าว

โดย : เห็นมา Member [ 11/11/2005, 07:08:14 ]

1

มีบางคอลัมน์นิตส์วิจารณ์ว่าซื้อเพราะมั่นใจในกสช.ชุดใหม่
อาจมีโฆษณาเกิดขึ้นได้ในubc

โดย : ผ่านมา Guest   [ 12/11/2005, 00:58:20 ]

2

ความเห็นส่วนตัวนะครับ

1. กลุ่มซีพีมีหนี้กว่า แปดหมื่นล้านบาทแล้ว งานนี้ต้องกู้อีกกว่าหมื่นล้าน ก็กลายเป็นหนี้มหึมาราวๆ
แสนล้าน ! มาพิจารณาว่าที่กู้มาหลังสุดนี้ทำอะไร? ยูบีซีมีอนาคตดีจริงหรือ? ในเมื่อวิทยาการใหม่ๆ
น่าจะมีอะไรที่ให้มากและดีกว่า การซื้อครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการนำเงินบริษัท(จากแห่งหนึ่ง)
ไปซื้อกิจกรรมที่ตระกูลถืออยู่(อีกแห่งหนึ่ง) แล้วเอาเงินสดเข้ากระเป๋า
2. การซื้อ MKSC ( ก็ ksc เดิมที่รู้จักกัน) ในราคา 400 กว่าล้าน ซึ่งดูอย่างไรก็แพง
เอ็มเว็บซื้อเคเอสซีมาตอนนั้นดูดีมีอนาคต และหลายคนเห็นด้วยว่าเป็นความฉลาดอย่างยิ่ง เทียบได้กับการที่
AOL ปรับจากผู้ใช้บริการทั่วไปให้เป็นลูกค้า ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ถึงวันนี้
เคเอสซีเป็นแม้จะมองว่าเป็นเบอร์สาม รองจากทรู และ ซีเอส ฯ แต่ระยะห่างมากขึ้น
สินค้าและบริการที่มีก็ด้อยกว่าไปเรื่อยๆ ทำให้มูลค่าของบริษัทลดลงไปทุกวัน
การขายออกไปช่วงนี้จึงน่าจะดีที่สุด หากไม่คิดจะลุยสู้ต่อ ซึ่งแน่นอนว่าต้องลงทุนอีกมหาศาล
จึงน่าจะมองได้ว่านี่เป็นออปชั่น(ที่ปฎิเสธไม่ได้) ที่ทางทรูจะต้องซื้อพ่วงไป

โดย : เห็นมา Guest   [ 12/11/2005, 08:41:34 ]

3

เพิ่มเติมข้อมูล จาก "ประชาชาติ" 10/11/48
http://www.matichon.co.th/prachachart/prachachart_detail.php?s_tag=02com01101148&day=2005/11/10


ทุ่มหมื่นล.ยึด UBC-KSC "ทรู" เดิมพันอนาคต "เจียรวนนท์" ยุคดิจิทัล


"เบญจรงคกุล" ขายหุ้นยูคอม-ดีแทคให้ "เทเลนอร์"

"ไชน่า เทเลคอม" ทาบซื้อหุ้น "ชินคอร์ป"

"เทเลคอม มาเลเซีย" ดอดเจรจาซื้อหุ้นกลุ่มทรู

ทั้งหมดเป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงโทรคมนาคมไทยที่ดังกระหึ่มขึ้นในรอบ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา แม้จะมีเพียงดีลแรกเท่านั้นที่สำเร็จเป็นรูปธรรม

ขณะที่ดีลอื่นๆ แม้จะได้รับการปฏิเสธจากยักษ์สื่อสารไทย แต่ก็ทำให้กระแสการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมไทยของกลุ่มทุนข้ามชาติเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับการจับตามองจากวงการธุรกิจอย่างกว้างขวาง

ถึงกระนั้นยังเป็นที่คาดการณ์ด้วยว่า ไม่ช้าก็เร็วต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มทุนข้ามชาติกระเป๋าเงินใหญ่กว่าของคนไทยมากนัก ประกอบกับธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกินกำลังความสามารถสำหรับบริษัทคนไทยแท้ๆ

แต่คงไม่ใช่สำหรับกลุ่มทรูในเครือ "ซี.พี." หรือเจริญโภคภัณฑ์ใช่หรือไม่

หากพิจารณาจากดีลล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ของ "ทรู"

เพราะไม่ใช่การขายหุ้นบางส่วนให้บริษัทต่างชาติเพื่อแลกกับทุนก้อนโตสำหรับนำมาใช้ลงทุนขยายธุรกิจต่อ แต่เป็นการรุกคืบเหมาซื้อหุ้นจากพันธมิตรต่างชาตินาม "เอ็มไอเอช" ผู้ถือหุ้น 30.59% ในยูบีซีเป็นเงินสูงถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ ที่ถือในยูบีซีรวมกันอีกประมาณ 30% ในราคาหุ้นละ 26.50 บาท เท่ากันกับที่ซื้อจาก "เอ็มไอเอช" เป็นเงินอีก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

เบ็ดเสร็จ 300 ล้านเหรียญ หรือ 12,000 ล้านบาท !!!

นั่นทำให้ "ทรู" ผงาดขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน "ยูบีซีเคเบิลทีวี" จากที่มีอยู่ก่อนแล้วราว 40%

ยังไม่หมดแค่นั้น "ทรู" ยังรุกซื้อหุ้นใน "เอ็มเคเอสซี" ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภายใต้แบรนด์ "เคเอสซี" เป็นเงิน 10.6 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก "เอ็มไอเอช" อีกต่างหาก

"ทุนไทย" สู้ต่างชาติไม่ได้ในแง่ความลึกของกระเป๋าสตางค์และขนาดของเงินก็จริงอยู่ แต่ความใจถึงคนไทยไม่เป็นรองใครแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มทุนไทยที่เจ้าของนามสกุล "เจียรวนนท์" !!!

ก็ขนาด "ทรู" มีภาระหนี้ก้อนโตอยู่ในปัจจุบันมากตั้ง 8.5 หมื่นล้านบาท !!!

ย้ำอีกครั้ง 85,000 ล้านบาท

ยังใจถึงลงทุนเพิ่มอีกตั้งหมื่นกว่าล้านบาท ซื้อหุ้นจาก "เอ็มไอเอช" เข้าให้อีก ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ของกลุ่มทรู

อะไรทำให้มั่นใจขนาดนั้น ???

โดย "ทรู" ใช้บริษัทย่อยของตนเอง ได้แก่ บริษัทเค.ไอ.เอ็น. (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการซื้อหุ้น "ยูบีซี" และบริษัท ทรู มัลติมีเดีย จำกัด ซื้อหุ้นใน "เอ็มเคเอสซี"

กลุ่ม "ทรู" จึงไม่ได้เป็นเจ้าของ "ยูบีซี" เคเบิลทีวีแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่ยังลดคู่แข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตของตนเองลงด้วย เพราะเคเอสซีเป็นผู้ให้บริการอันดับ 3 ในตลาดปัจจุบัน รองจากทรู และซีเอส ล็อกซอินโฟ

ทั้งนี้ "เคเอสซี" จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตของทรูในตลาดลูกค้าองค์กร และต่างจังหวัด แต่ในอนาคตแบรนด์ "เคเอสซี" คงค่อยๆ หายไปจากตลาดในที่สุด เพราะกลุ่มทรูมีเป้าหมายชัดเจนที่จะให้ทุกสินค้าและบริการของบริษัทอยู่ภายใต้แบรนด์เดียวกันหมด รวมถึง "ออเร้นจ์" ที่อยู่ระหว่างการหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนแบรนด์

ว่ากันว่าการผนึกรวมยูบีซีให้มาเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มทรู ทำให้การหา "พาร์ตเนอร์" หรือพันธมิตรใหม่ในอนาคต (ถ้ามีซึ่งคงต้องมี เพื่อไม่ให้ทรูมีภาระในการหาเงินมาลงทุนมากไปกว่านี้) คงต้องเป็นระดับ "บิ๊กเบิ้ม" เท่านั้นจริงๆ เพราะเมื่อเข้ามาถือหุ้นทั้งที จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อสารครบวงจรเลยทีเดียว

เว้นแต่ "พาร์ตเนอร์" ที่ว่าจะเลือกถือหุ้นในบริษัทย่อยก็เป็นอีกเรื่อง

"ศุภชัย เจียรวนนท์" บิ๊กบอสกลุ่มทรู แจกแจงว่า ดีลนี้ทำให้ทรูมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ในอนาคต เพราะทำให้กลุ่มทรูกลายเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายแรกและรายเดียวของไทยที่สามารถให้บริการด้านบริการเสียง ข้อมูล และภาพแบบครบวงจร หรือที่เรียกกันว่า "triple player"

เป้าหมายเดียวกับกลุ่มชินคอร์ป ยักษ์สื่อสารมือวางอันดับหนึ่งของเมืองไทย

ซึ่งไม่เพียงเป็นการสานต่อวิสัยทัศน์ของกลุ่มทรูในการก้าวขึ้นสู่การเป็น "ผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจร" หนึ่งเดียวที่ตอบสนองและเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้อย่างครบถ้วนเท่านั้น ยังสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกอนาคตที่เทคโนโลยีจะหลอมรวมกันเป็นเนื้อเดียว (convergence) อีกด้วย

"คอนเซ็ปต์ทริปเปิลเพลย์ยังไม่มีจริงในโลกที่บอกว่า สำเร็จหรือไม่ แต่ทุกคนมองเห็นแนวโน้มเรื่องการรวมกันของเทคโนโลยีในอนาคตกันหมด เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสนับสนุนการผสมผสานการให้บริการบรอดแบนด์ทีวีและเคเบิลทีวีเข้าด้วยกันได้ ดีลนี้จึงทำให้ทรูได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่การขยายธุรกิจด้านการให้บริการเนื้อหาที่เพิ่มขึ้น และการขยายเครือข่ายการบริการลูกค้าให้ครอบคลุมช่องทางที่หลากหลายขึ้น"

"ศุภชัย" บอกว่า "ยูบีซีและเอ็มเคเอสซี" จะดำเนินธุรกิจสนับสนุนซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี โดยใช้โครงข่ายและฐานลูกค้าร่วมกัน ทำให้บริษัทมีการเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าของยูบีซีและทรูด้วยการผสมผสานการบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบรอดแบนด์, สาระบันเทิง และบริการอื่นๆ เข้าไว้เป็นแพ็กเกจเดียวกันได้ด้วย

การประสานความร่วมมือ (synergy) ระหว่างบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่กลุ่มทรูประกาศไว้เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา จึงน่าจะดำเนินการในระดับที่เข้มข้นและเต็มรูปแบบมากขึ้นด้วย

ที่ผ่านมาทำโดยการโคโปรโมชั่นระหว่างสินค้า และบริการในเครือ โดยทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วในรูปแบบซีรีส์แคมเปญ "All Together Bonus" แต่ต่อไปเชื่อว่าคงยิ่งมีสีสันและลูกเล่นใหม่ๆ เยอะขึ้นอย่างแน่นอน

ที่ "ลูกค้า" คาดหวังอยากเห็นเป็นที่สุด หนีไม่พ้นแพ็กเกจ "เคเบิลทีวี" ในราคาถูกลงกว่านี้ เหมือนที่ได้สัมผัสมาแล้วในบริการโทรศัพท์มือถือ "ออเร้นจ์" ที่ใช้ราคาเป็นกลยุทธ์สร้างฐานลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง

"ที่ผ่านมาเราเห็นการซินเนอร์ยี่ระหว่างทรูกับยูบีซีก็จริง แต่ก็เห็นคอนฟลิกของธุรกิจด้วยเช่นกัน เพราะบรอดแบนด์ทีวีจะค่อยๆ ทับซ้อนไปเรื่อยๆ ระหว่างยูบีซีกับทรู ดีลนี้จึงเป็นผลดีกับทั้งทรูและเอ็มไอเอช แต่เมื่อมารวมกับทรูโดยมีผู้ถือหุ้นเดียวกัน ปัญหาจะหมดไปทันที ซึ่งโดยรวมแล้วเรามองว่านอกเหนือจากการเติบโตของธุรกิจแล้ว ยังนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ไปยังผู้บริโภคได้ เติมเต็มไลฟ์สไตล์และสร้างยุคใหม่ของธุรกิจสื่อสารในเมืองไทย"

และที่เห็นชัดเจนคือลูกค้ายูบีซีจะรับรายการได้หลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ทั้งผ่านเครือข่ายเคเบิลทีวีทางข่ายสายไฟเบอร์ออปติก และจานรับสัญญาณดาวเทียม, ทางอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ หรือช่องทางอื่นๆ ในอนาคต

ไม่มีใครสงสัยในความคิด ความเชื่อ และความฝันของ "กลุ่มทรู" ในเรื่องการรวมกันของเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า "triple player"

ด้วยว่าเป็นแนวโน้มที่ผู้ให้บริการโทรคมนา คมเห็นตรงกัน และกำลังก้าวเดินไป โดยเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา หรือบ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่าง "ฮ่องกง" มียักษ์ใหญ่ "พีซีซีดับบลิว" ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว

ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตามองมากกว่าจึงอยู่ที่การสานต่อวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ให้บริการเสียง-ข้อมูล และภาพครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรมของ "กลุ่มทรู" ให้สมกับที่ได้ลงทุนลงแรงไปไม่ใช่น้อยๆ

นี่จึงเป็นทั้งบทพิสูจน์และเป็นความท้าทายของ "ศุภชัย เจียรวนนท์" ในฐานะ "เจียรวนนท์" รุ่นใหม่ที่มีภารกิจในการสร้างความสำเร็จบนโลกธุรกิจยุคใหม่อย่างแท้จริง ในฐานะแม่ทัพ "ธุรกิจดิจิทัล" ของเครือเจริญโภคภัณฑ์อีกด้วย หลัง "ซี.พี." รุ่นพ่อทำสำเร็จมาแล้วในธุรกิจการเกษตรและค้าปลีก

โดย : เห็นมา Member   [ 12/11/2005, 21:28:30 ]

4

2 เว็บฮ็อตหมื่นล้าน "YOUTUBE" "MYSPACE" ขุมทรัพย์โลกไซเบอร์

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01131249&day=2006/12/13

โดย : ขุนสันต์ Member   [ 15/12/2006, 10:41:41 ]

 
  E-mail: webmaster@thaibg.com Copyright 2002-2024@www.ThaiBG.com (Thailand), All Rights Reserved  
 
  Sponsors