[ กลับหน้าหลัก ]


การวางแผนใน chess

การที่เราคิดว่าหมากรุกคือการรุกขุนของคู่ต่อสู้ให้จนเท่านั้น
เป็นความคิดที่เรียบง่ายและเป็นนามธรรมเกินไป การเล่นหมากรุกที่ถูกต้อง คือ การสร้างความแตกต่าง หรือ
อสมมาตร ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับฝ่ายเรา

อสมมาตร (Imbalance) หมายถึง ความแตกต่างในการยืนหมาก หรือความแตกต่างในตำแหน่งหมากของแต่ละฝ่าย
ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายตรงข้าม แน่นอนว่า ผู้เล่นมักจะไม่ค่อยคำนึงถึงความแตกต่างนี้มากนัก
โดยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการโจมตีขุนของคู่ต่อสู้มากกว่า
การรุกขุนให้จนนั้นเป็นผลที่ตามมาจากสภาพหมากที่หมดทางช่วยแล้วจริงๆ หรือถูกที่ชี้นำโดยอสมมาตร
เมื่อเราเข้าใจยิ่งขึ้นจะทราบว่า อสมมาตร ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อได้เปรียบเสมอไป แต่เป็นเพียง ความแตกต่าง
ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เล่นที่ต้องเปลี่ยนความแตกต่างเหล่านี้ให้เป็นความได้เปรียบให้ได้

อสมมาตร สามารถจำแนกได้เป็นองค์ประกอบ 7 ประการ ดังนี้
- ตัวหมากที่มีประสิทธิภาพมากกว่า (Superior Minor Piece) คือ การเล่นระหว่างม้า และ บิชอพ
อีกนัยหนึ่งคือ ความพยามยามที่จะทำให้ม้าของเรามีประสิทธิภาพกว่าบิชอพของคู่ต่อสู้ หรือ
ความพยามยามที่จะทำให้บิชอพของเรามีประสิทธิภาพมากกว่าม้าของฝ่ายตรงข้าม
- โครงสร้างเบี้ย (Pawn Structure) ลักษณะโครงสร้างเบี้ย เป็นองค์ประกอบกว้างๆ ที่รวมถึง เบี้ยซ้อน,
เบี้ยโดดเดี่ยว, เบี้ยผ่าน, เบี้ยล้าหลัง
- พื้นที่ (Space) คือ การครอบครองพื้นที่บนกระดาน
- ตัวหมาก (Material) คือ การที่เราได้เปรียบตัวหมาก หรือมีตัวหมากที่มีค่ามากกว่าฝ่ายตรงข้าม
- การควบคุมคลองเรือ และตำแหน่งสำคัญ (Control of a Key File or Square) คลอง แถว และแนวทแยง
เป็นทางเดินของเรือและบิชอพ ขณะที่ตาสำคัญเป็นตำแหน่งที่ทำให้หมากของเราวางลงได้
ซึ่งแผนการดำเนินเกมส์ส่วนใหญ่ในระดับสูงล้วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมคลองเรือ หรือตาสำคัญทั้งสิ้น
- การขึ้นหมาก (Development) เมื่อเราขึ้นหมากได้เร็วกว่าจะทำให้เรามีอำนาจในส่วนใดส่วนหนึ่งของกระดาน
- การเป็นมือนำ (Initiative) การกำหนดจังหวะของเกมส์ ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้เล่นฝ่ายหนึ่งมีบิชอพขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีม้าซึ่งเป็นความแตกต่างที่สำคัญ
เช่นเดียวกันกับกรณีที่ผู้เล่นฝ่ายหนึ่งมีโครงสร้างเบี้ยที่ดีกว่า ขณะที่คู่ต่อสู้ได้พื้นที่มากกว่า
รูปหมากในทั้งสองกรณีถือได้ว่ามีความแตกต่าง หรือ อสมมาตร นั่นเอง สิ่งที่เราต้องทำต่อมาก็คือ
การใช้ความแตกต่างเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์และกดดันคู่ต่อสู้ ดังนั้น
การกำหนดแผนการเล่นทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับ อสมมาตร ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้
บ่อยครั้งที่การกำหนดแผนการเล่นจะมีการคำนวณเพียงเล็กน้อย หรือบางครั้งไม่มีการคำนวณหมากที่ซับซ้อนเลย

โดย : v Guest [ 21/06/2005, 23:57:09 ]

1

พอดีมีเกมจากการแข่งขันที่พัทยาที่ผมอยากให้น้องๆๆรุ่นเล็กๆๆได้
ดูกันเลยขอถือโอกาสมาโพสไว้ในกระทู้นี้เลย เห็นว่าพอใช้ขยาย
ความเนื้อหาของกระทู้ได้
http://www.thaibg.com/Chess/viewgame.php?id=23205308
เป็นเกมในรอบ 3 รุ่นต่ำกว่า 18 ปี ระหว่าง
Nguyen Huynh Minh Huy เวียดนาม (2195) กับ Pham
Duc Thang เวียดนาม (2229)
ยังไงคุณ v ก็ช่วยขยายความด้วยแล้วกัน หรือคุณ v มีตัวอย่างที่จะ
ลงอยู่แล้วก็ขอโทษด้วยที่มาแทรกเกมนี้ไว้

โดย : ขุนสันต์ Guest   [ 22/06/2005, 07:37:51 ]

2

ข้อความข้างบนแปลมาจากหนังสือ The Reassess of Your Chess Workbook : How to Master Chess Imbalance
แปลไว้เยอะกว่านี้ มีรูปประกอบมากมายด้วย แต่ขนาดของไฟล์ใหญ่เกินไป ยังหาวิธีโพสท์ไม่ได้ค่ะ

v*tina

โดย : v Guest   [ 22/06/2005, 12:35:34 ]

3

น่าเสียดาย จัง

ลองติดต่อกับ ทาง มู๋ตี๋เยอรมัน
ให้ช่วยเอาขึ้น ทาง
http://chess.thaibg.com ไหมครับ

เพราะยังงายเป็นที่รวม content chess อยู่แล้ว

โดย : ไร้น้ำตาล Guest   [ 22/06/2005, 13:32:18 ]

4



น่าสนใจดีจัง
แต่ท่าทางจะยาก

โดย : dd Guest   [ 22/06/2005, 16:02:25 ]

5

ยากจริงๆด้วย พรุ่งนี้ค่อยดูอีกที

โดย : จอมเช่นศิษย์ขุนสันต์ Guest   [ 22/06/2005, 22:07:29 ]

6

ตอนนี้กำลังแปล My System ของ Nimzowitsch อยู่ ยากน่าดู ของเก่ายังไม่เสร็จเลย งุงิ

โดย : v Guest   [ 22/06/2005, 22:47:21 ]

7

ส่งเป็นเมลเข้ามา somkid22@hotmail.com ได้เลยครับ
เด๋วจะช่วยเผ่ยแพร่ให้ครับ

โดย : มู๋ตี๋ Member   [ 22/06/2005, 22:57:06 ]

8

จักรออ่านจากเว็บของท่านมู๋ตี๋ขอรับ

- คนหมากรุกไทย

โดย : หมากรุกไทย Member   [ 23/06/2005, 07:58:10 ]

9

ตอนนี้ส่งไฟล์ไปแล้วนะคะ คิดว่าคุณมู๋ตี๋คงช่วยเอาขึ้นเวปให้ ขอบคุณมั่กๆ

โดย : v Guest   [ 23/06/2005, 23:17:44 ]

10



จากรูป คุณระบุความแตกต่างระหว่างหมากขาวกับหมากดำได้ไหม? ถ้าคุณสังเกตดูแล้วพบจุดอ่อนที่ตำแหน่ง d5 ,
เบี้ยล้าหลังที่ d6 ประกอบกับความจริงที่ว่าหมากขาวมีม้า ขณะที่หมากดำมีบิชอพ
นั่นแสดงว่าคุณทำได้ดีทีเดียว

แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนี้อย่างไรล่ะ? ตาเดินไหนจะสร้างความได้เปรียบให้เราบ้างนะ?
ก่อนอื่นลองพิจารณาคำแนะนำดังต่อไปนี้

- ม้าจำเป็นต้องมีตายืนถาวรในแดนหน้า เพื่อที่จะเหนือกว่าบิชอพของคู่ต่อสู้
- ตาที่เป็นจุดอ่อน มักจะเป็นที่ยืนที่ดีสำหรับตัวหมากของเรา
- บางครั้งเราไม่สามารถโจมตีเบี้ยที่อยู่ล้าหลังได้ในทันที
เราอาจแช่แข็งโดยทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถขยับเบี้ยตัวนั้นได้ และจะกลายเป็นเป้านิ่งภายหลัง
(การตีอะไรก็ตามที่อยู่กับที่ ย่อมง่ายกว่าการตีของที่วิ่งหนีได้ จริงมั้ย? ^_^)

จากคำแนะนำดังกล่าว เราน่าจะคาดเดาได้ว่า หมากขาวคงต้องการขยับม้าให้มาอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น
เพื่อที่จะทำให้ม้าขาว “แรง” กว่าบิชอพดำ ….. จะทำได้ยังไงเอ่ย? เดินม้าลุยไป b5 ดีมั้ย? ไล่ควีนด้วย
แต่ b5 ไม่ใช่ตำแหน่งที่ดีในระยะยาวสำหรับม้าแน่ เพราะควีนดำสามารถหลบไปตาที่ปลอดภัย
และไล่ม้าให้เสียตำแหน่งภายหลังด้วย a5-a6

จริงๆ แล้วม้าตัวนี้คงอยากเดินไปฝังอยู่ที่ d5 และเมื่อได้อยู่ในตำแหน่งนั้น
สังเกตว่าหมากดำไม่มีหมากที่จะมาไล่ม้าได้ เนื่องจากเบี้ยตา c7 ได้ถูกแลกไปแล้ว!!
แล้วม้าจะไปอยู่ตำแหน่งนั้นได้ยังไง? ทั้งนี้ กระบวนการคิดที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง คือ การ “พูดกับตนเอง”
แต่อย่าหลุดปากพูดออกมาระหว่างเล่นนะ คนอื่นเค้าจะคิดว่าบ้า

เราทราบเป้าหมายของเราว่าต้องการใช้ม้ายึดตำแหน่ง d5 เราจะพบว่า
เรามีตัวเลือกที่จะเดินอยู่เพียงทางเดียว นั่นคือเดินม้ามาที่ c2 เพื่อที่จะไปตา e3 หรือ b4 และลงบ่อที่
d5 ต่อไป และเมื่อม้าฝังอยู่ที่บ่อ d5 เบี้ยดำตา d6 ย่อมหนีไปไหนไม่ได้แน่นอน
(สังเกตว่ากระบวนการคิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังไม่มีการคำนวณเข้ามาเกี่ยวข้องเลย)

ตอนนี้เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าประโยชน์ของ อสมมาตร เป็นอย่างไร
ต่อมาเราจะพูดถึงองค์ประกอบของมันโดยละเอียด คราวหน้า (หรือติดตามอ่านได้ในเวปคุณมู๋ตี๋

โดย : v Guest   [ 24/06/2005, 23:47:37 ]

11

ตัวหมากที่มีประสิทธิภาพมากกว่า (Superior Minor Piece)
การสู้กันระหว่างม้ากับบิชอพ เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งใน chess
ผู้เล่นที่ดีย่อมจะเหลือม้าที่แรงกว่าบิชอพของคู่ต่อสู้ (หรือเหลือบิชอพที่แรงกว่าม้าของคู่ต่อสู้)
เมื่อเล่นกับผู้เล่นที่อ่อนกว่า ในทางตรงกันข้าม เมื่อเขาเล่นกับผู้เล่นที่เก่งกว่า
เขาย่อมจะมีม้าหรือบิชอพที่อ่อนแอกว่าคู่ต่อสู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับม้า และ บิชอพ
จะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ในขณะนั้นและช่วยชี้นำทางเดินที่ถูกต้องให้เราได้

บิชอพ
เราสามารถจำแนกบิชอพออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ
- บิชอพที่ดี (Good Bishop) เกิดขึ้นเมื่อโครงสร้างเบี้ยกลางกระดานส่วนใหญ่อยู่ตาเดินคนละสีกับ บิชอพ
และไม่ขัดขวางทางเดินของบิชอพ
- บิชอพที่แย่ (Bad Bishop) เกิดขึ้นเมื่อโครงสร้างเบี้ยกลางกระดานส่วนใหญ่อยู่ตาเดินสีเดียวกันกับบิชอพ
และซึ่งขัดขวางทางเดินของบิชอพ
- บิชอพที่มีประสิทธิภาพ (Active Bishop) บิชอพที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งบิชอพที่ดี
หรือบิชอพที่แย่ก็ได้ ที่เราเรียกว่ามีประสิทธิภาพเนื่องจากมันใช้งานได้ดีและมีประสิทธิภาพนั่นเอง

อย่าไปใส่ใจกับนิยามว่า “ดี” หรือ “แย่”
แต่เราควรให้ความสำคัญกับหน้าที่ของบิชอพว่าสามารถใช้งานได้ดีมีพลังและมีประสิทธิภาพหรือไม่

โดย : v Guest   [ 24/06/2005, 23:49:22 ]

12

ได้ความรู้มากเลยครับ

โดย : Quu Member   [ 25/06/2005, 00:07:45 ]

13

การที่เราคิดว่าหมากรุกคือการรุกขุนของคู่ต่อสู้ให้จนเท่านั้น
เป็นความคิดที่เรียบง่ายและเป็นนามธรรมเกินไป

คิดว่าเป็นความเห็นของพวก เล่นหมากรุกไม่เป็น หรือเล่นไม่รุ่ง แล้วมาโจมตีมากกว่า
เออ แต่ว่า My System... ผู้เชี่ยวชาญจัดว่าเป็นหนังสือสำหรับ พวก Advance
ไม่เหมาะสำหรับเป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่าน ไม่รู้ว่าจะแปลไปให้ใคร หรือ ขายใคร ไม่ลองแปลเล่มง่ายๆ หรือ
จะดีกว่า เป็นประโยชน์ด้วย

โดย : Bob Fischer Guest   [ 26/06/2005, 13:21:53 ]

14

เขียนได้ดีมากเลยครับ ใช้สำนวนอ่านเข้าใจง่าย
อ่านแล้วชวนติดตาม
สงสัยเคยเขียนหนังสือมาแน่เลย

ผิดกะมู๋ตี๋ ที่ไม่แตกภาษาไทย เอิ้กๆๆ

ถ้าสนใจเล่มพวกนี้
Tactical Play: School of Chess Excellence 2
Strategic Play: School of Chess Excellence 3
Dvoretsky's Endgame Manual

Improve Your Positional Chess -- by Carsten Hansen
บอกที่อยู่ไว้กะทางมู๋ตี๋ เด๋วผมส่งซีร้อกไปให้

โดย : ไร้น้ำตา Member   [ 26/06/2005, 19:45:10 ]

15

อืม ผมถึงเลิกเขียนไง

โดย : มู๋ตี๋ Guest   [ 26/06/2005, 20:52:34 ]

16



รูปบน หมากขาวมี “บิชอพที่ดี” และมีประสิทธิภาพแต่หมากดำมี “บิชอพที่แย่” และไร้ประสิทธิภาพ

โดย : v Guest   [ 26/06/2005, 21:23:30 ]

17



รูปต่อมา ทั้งหมากดำและหมากขาวมีบิชอพที่แย่ แต่บิชอพของหมากขาวมีประสิทธิภาพมาก

โดย : v Guest   [ 26/06/2005, 21:24:52 ]

18

หลักเกณฑ์ของบิชอพ 1 บิชอพเป็นหมากที่เดินได้ระยะไกล และชอบตำแหน่งหมากที่เปิด
โดยไม่มีเบี้ยขัดขวางในกลางกระดาน
หลักเกณฑ์ของบิชอพ 2 ในปลายกระดาน บิชอพ สามารถใช้เพื่อหยุดเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามได้ดี
โดยสามารถหยุดได้แม้จะอยู่คนละฟากของกระดาน

โดย : v Guest   [ 26/06/2005, 21:25:35 ]

19



ตามรูป บิชอพของหมากขาวสามารถหยุดเบี้ยดำได้หมด ซึ่งในกรณีนี้ บิชอพขาวแสดงอำนาจระยะไกลได้ดี
และเหนือกว่าม้าดำ

หลักเกณฑ์ของบิชอพ 3 หากเราโชคร้าย บังเอิญต้องมี “บิชอพที่แย่” คำแนะนำในกรณีนี้มี 3 ข้อ ดังนี้
- แลกบิชอพที่แย่ของเรากับบิชอพหรือม้าของฝ่ายตรงข้าม (หรือหมากอื่นที่มีศักย์สูงกว่า)
- ทำบิชอพให้เป็น “บิชอพที่ดี” โดยการเดินเบี้ยกลางกระดานออกจากตาสีเดียวกับบิชอพ
- ทำบิชอพให้มีประสิทธิภาพ โดยการเดินบิชอพออกจากโครงสร้างเบี้ย

โดย : v Guest   [ 26/06/2005, 21:27:26 ]

20



ตามรูปจะเห็นว่า บิชอพของหมากขาวด้อยกว่าบิชอพของหมากดำมาก ในกรณีนี้
รูปหมากเปิดโอกาสให้หมากขาวแลกบิชอพกับหมากดำ โดยเดิน 1.Ba4

โดย : v Guest   [ 26/06/2005, 21:28:42 ]

21



ในรูปนี้ บิชอพของหมากขาว ดูเหมือนจะแพ้ม้าหมากดำ
แต่เราสามารถทำให้บิชอพตัวนี้กลับมามีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง โดย 1.g3 ตามด้วย 2.Bh3 (ถ้า 1…Qd7 2.Kh2!
ยังคงสามารถนำบิชอพกลับมาสู่เกมส์ได้อีกครั้ง)





หลักเกณฑ์ของบิชอพ 4 ผู้เล่นที่มีบิชอพคู่ สู้กับม้าคู่ หรือสู้กับม้า+บิชอพ
โดยปกติแล้วจะรักษาบิชอพคู่ไว้ เพราะว่าเมื่อบิชอพ 2 ตัวทำงานด้วยกัน
จะช่วยกันคุมตาเดินจุดอ่อนของกันและกัน ครอบคลุมทั้งตาสีขาวและตาสีดำ แต่ถ้าคู่ต่อสู้ของเรามีบิชอพคู่
ให้เราแลกบิชอพออกเสียตัวหนึ่งให้กลายเป็นสถานการณ์ ม้าสู้บิชอพ หรือ บิชอพสู้บิชอพ
ซึ่งเดินได้ง่ายกว่า

คราวหน้ามาว่ากันต่อด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ของม้า อิอิ ^^

อนึ่ง งานชิ้นนี้แปลมาจาก The Reassess Your Chess Workbook: How to Master Chess Imbalances , by IM
Jeremy Silman

เพื่อนที่เล่นหมากรุกท่านใดคิดว่าเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง สามารถข้ามกระทู้นี้ โดยไม่ต้องอ่านก็ได้ค่ะ

my system แปลยากจังเลยต้องพักไว้ก่อน งุงิ

โดย : v Guest   [ 26/06/2005, 21:35:08 ]

22

ดีจัง ขอบคุณคุณ v หลายๆ (ใครกันเอ่ย?)

คุณไร้
xerox ผมยังอยู่ไหมเอ่ย?

โดย : FunMate Member   [ 26/06/2005, 23:04:39 ]

23

ผมได้อัพโหลดขึ้นไปให้แล้วนะครับ สามารถดาว์โหลดไปอันได้กันตามลิงค์นี้

http://chess.thaibg.com/download/vtina1.pdf

ให้ถือลิงค์นี้เป็นตัวอย่างที่แปลออกมาจากหนังสือ เพื่อการโฆษนาหนังสือ

โดย : มู๋ตี๋ Member   [ 26/06/2005, 23:59:15 ]

24

เรียนคุณ มู๋ตี๋
เนื้อหาส่วนอื่นที่ต่อจากส่วนที่ส่งให้คุณมู๋ตี๋ยังมีข้อติดขัดทางเทคนิคนิดหน่อย
เนื่องจากขนาดของไฟล์ใหญ่เกินกว่าจะส่งทาง hotmail ได้ จึงยังไม่สามารถนำส่งคุณมู๋ตี๋ได้ในขณะนี้นะคะ
(พยายามแก้ปัญหาแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ)
ดังนี้นเพื่อให้เพื่อนๆ สามารถติดตามอ่านได้ จึงทยอยตัดข้อความพร้อมภาพประกอบลงกระทู้นี้ค่ะ
จึงเรียนมาเพื่อทราบ

โดย : v Guest   [ 27/06/2005, 14:48:47 ]

25

ม้า (Knight)
ม้าเป็นหมากชนิดเดียวบนกระดานที่สามารถกระโดดข้ามหมากตัวอื่น
ด้วยคุณลักษณะพิเศษนี้ทำให้ม้ามีประสิทธิภาพมากในเกมปิด (Closed) แต่ค่อนข้างล่อแหลมต่อการถูกกินโดย
บิชอพ ในสถานการณ์ที่มีแนวเปิดสำหรับ บิชอพ และไม่มีเบี้ยคอยสนับสนุน (Steinitz
กล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะเอาชนะม้า คือ การยึดตำแหน่งที่คอยสนับสนุนม้าหรือที่เรียกว่า support
point)
Support Point หมายถึง ตายืนที่ไม่มีเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามมาไล่ได้ ซึ่งตายืนในแถวที่ 6 (นับจากฝั่งตนเอง)
เป็นตายืนที่ดีที่สุดสำหรับม้า ว่ากันว่า ม้าที่ยืนในตำแหน่งนี้มีค่าพอๆกับเรือ
หรือมีค่าพอๆกับบิชอพถ้ายืนในแถวที่ 5 หรือยืนในแถวที่ 4 ยังค่อนข้างดี
แต่คุณค่าของม้าจะลดน้อยลงในแถวที่ 3 แถวที่ 2 และแถวที่ 1 ตามลำดับ โดยเฉพาะในแถวที่ 1 และ 2
จะไม่ใช่ตายืนที่ดีสำหรับม้า

หลักเกณฑ์ของม้า 1 ม้า ต้องการจุดยืนที่มีเบี้ยสนับสนุน (Support Point) ในแดนหน้า เพื่อที่จะประสบความ
สำเร็จในการสู้กับบิชอพ

โดย : v Guest   [ 27/06/2005, 22:11:30 ]

26



ตัวอย่างของม้าที่มีอำนาจครอบคลุมทั้งกระดาน สังเกตว่าตำแหน่ง e6
เป็นตำแหน่งที่หมากดำไม่สามารถนำเบี้ยมาขับไล่ม้าได้ เนื่องจากเบี้ยในคลอง d ได้เดินไป d6 แล้ว
และเบี้ยในคลอง f ได้ถูกแลกออกไปแล้ว


หลักเกณฑ์ของม้า 2 ม้า ค่อนข้างจะดีกว่าบิชอพในเกมที่ปิด เนื่องจากกำแพงเบี้ยจะขัดขวางตาเดินของ
บิชอพ แต่ม้าสามารถกระโดดข้ามกำแพงเบี้ยนี้ได้ และสามารถใช้งานได้

โดย : v Guest   [ 27/06/2005, 22:12:34 ]

27



ตัวอย่างของม้าในเกมปิด ม้าขาวในตัวอย่างซ้ายมือนี้ค่อนข้างยืดหยุ่นและมีความสุขกับโครงสร้างเบี้ย
ม้าตัวนี้จะขยายอำนาจครอบคลุมได้ทั่ว หลังจาก Nd3 – f2 – e4 ซึ่งจะจ้องเบี้ยดำที่ตา d6
และกันเบี้ยผ่านของหมากดำที่ตา e5 , นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการขยายเบี้ยฝั่งขุนของหมากขาว
รวมทั้งยังอาจเดินไป Ne4 – g5 – เพื่อลงบ่อที่ e6 ได้ด้วย


หลักเกณฑ์ของม้า 3 ม้า เป็นตัวหมากที่ดีที่สุดในการกันเบี้ยผ่านของฝ่ายตรงข้าม
ม้าสามารถหยุดเบี้ยผ่านได้
และยังคงมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคุณสมบัติในการกระโดดข้ามหมากตัวอื่น

โดย : v Guest   [ 27/06/2005, 22:13:43 ]

28



ในรูปทางซ้าย ม้าดำ และบิชอพขาว ต่างทำหน้าที่เป็นตัวกันเบี้ยผ่านของฝ่ายตรงข้าม แต่จะเห็นได้ชัดว่า
บิชอพของหมากขาวไม่สามารถใช้งานได้ ในขณะที่ม้าดำ นอกจากจะกันเบี้ยผ่านของหมากขาวแล้ว
ยังสามารถโจมตีเบี้ยหมากขาวที่ตา c4 และ e4 ได้ด้วย ซึ่งถ้าหากขาวเดิน Bc2 เพื่อป้องกันเบี้ยที่ตา e4
หมากดำจะเดิน Qf4 บุกรุกเข้ามาในโครงสร้างตำแหน่งของหมากขาว และสร้างปัญหาให้กับหมากขาวอย่างมาก



หลักเกณฑ์ของม้า 4 โดยปกติ ม้าจะดีกว่าบิชอพในช่วงปลายกระดานที่มีเบี้ยอยู่ทางฝั่งเดียวของกระดาน
(ฝั่งขุน หรือฝั่งควีนก็ได้) ซึ่งในตำแหน่งดังกล่าว ความสามารถในการเดินไกลของบิชอพไม่มีประโยชน์มากนัก
อีกทั้งบิชอพไม่สามารถเดินไปตาสีอื่นได้ ขณะที่ม้าสามารถเดินสลับเพื่อกันได้ทั้งตาสีขาวและตาสีดำ


คราวหน้ามาว่ากันต่อด้วยเรื่องของ โครงสร้างเบี้ย (Pawn Structure)

โดย : v Guest   [ 27/06/2005, 22:15:06 ]

29



วางแผนมาก ระวังเวียนหัวอย่างนี้

โดย : อ้อม Member   [ 28/06/2005, 16:39:18 ]

30

ได้ความรู้เยอะมากเลยครับ เขียนได้ดีมาก ...อึ้งง

โดย : แบงค์2005 Member   [ 28/06/2005, 18:29:53 ]

31

ไครกานน๊าคุณ V
เก่งจัง

แปลเขียนออกมาได้ดีมากค๊ะ
อ่านเข้าใจง่ายดีค๊ะ

ต้องขอบคุณมากน๊ะค๊ะ
ที่ได้สละเวลาแปลแล้วเอามาเผื่อที่นี้ด้วยอ่ะค๊ะ

โดย : YimSoo Guest   [ 28/06/2005, 21:44:09 ]

32

โครงสร้างเบี้ย (Pawn Structure)
เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1700 นักหมากรุกสากลชื่อ Andre Philidor กล่าวไว้ว่า “เบี้ยเป็นหัวใจสำคัญของหมากรุก”
คำพูดง่ายๆ ประโยคนี้บอกเราว่า เบี้ยเป็นสิ่งชี้นำกว่าเราควรจะใช้แผนการใดในขณะนั้น ,
หรือเมื่อใดเราควรจะตัดหมากเข้าสู่ช่วงปลายกระดาน ,
หรือเรามีข้อด้อยหรือจุดบกพร่องใดบ้างในตำแหน่งหมากของเรา

ในประเด็นเรื่องโครงสร้างเบี้ยนี้จะครอบคลุมถึงลักษณะเบี้ยซ้อน เบี้ยโดดเดี่ยว เบี้ยล้าหลัง
และเบี้ยผ่าน

เบี้ยซ้อน (Doubled Pawns)
ในการเล่นหมากรุก เบี้ยซ้อนมักไม่เป็นที่พึงปรารถนาของผู้เล่นส่วนใหญ่
แต่ในความเป็นจริงแล้วเบี้ยซ้อนไม่จำเป็นต้องเป็นจุดอ่อนเสมอไป
และบางครั้งอาจเป็นข้อได้เปรียบของเราได้ด้วย

หลักเกณฑ์ของเบี้ยซ้อน 1 ผู้เล่นที่มีเบี้ยซ้อน มักจะมีคลองเรือเสมอ

หลักเกณฑ์ของเบี้ยซ้อน 2 ถ้าเป็นเบี้ยซ้อนกลางกระดาน จะสามารถคุ้มกันตาที่เป็นจุดอ่อนของเราได้
(และส่วน
ใหญ่เป็นตาสำคัญมากด้วยเนื่องจากอยู่กลางกระดาน) ซึ่งทั้งนี้หากเราไม่มีเบี้ยซ้อน ตา
สำคัญดังกล่าวจะไม่สามารถหาเบี้ยมาคุ้มกันได้เลย

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:11:24 ]

33



ในรูปนี้แสดงให้เห็นเบี้ยซ้อนที่เป็นประโยชน์ โดยเบี้ยซ้อนของหมากขาวช่วยให้หมากขาวสามารถคุมตา d5, f5,
d4 และ ตา f4 ได้ รวมทั้งทำให้หมากขาวได้คลองเรือที่คลอง f
อนึ่ง รูปนี้มักเกิดจากการเปิดหมาก Giuoco Piano โดยหมากขาวนำบิชอพมาต่อที่ตำแหน่ง e3
และหมากดำกินแลกบิชอพ

หลักเกณฑ์ของเบี้ยซ้อน 3 เบี้ยซ้อนทำให้รูปทรงของหมากขาดความยืดหยุ่น และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด
เบี้ยซ้อนนี้จะกลายเป็นจุดอ่อน หรือเป้านิ่งให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:12:31 ]

34



ในรูปนี้ เบี้ยขาวที่ตา c3 ยังไม่มีหมากดำตัวใดสามารถโจมตีได้ แต่อย่างไรก็ตาม เบี้ยขาวที่ตา c4
กลับอยู่ในตำแหน่งที่หมากดำสามารถโจมตีได้ง่ายหลังจากหมากดำเดิน …Nb8 – c6 – a5 ตามด้วย Ba6
สร้างความกดดันเบี้ยซ้อน

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:13:19 ]

35

เบี้ยโดดเดี่ยว (Isolated Pawns)
เบี้ยโดดเดี่ยวเกิดขึ้นเมื่อคลองที่อยู่ติดกันกับเบี้ยตัวนั้น (ทั้งซ้ายและขวา) ไม่มีเบี้ยเหลืออยู่
ทำให้ไม่สามารถหาเบี้ยมาผูกมันได้ ผลที่ตามมาคือ มันมักจะถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี
ผู้เล่นส่วนใหญ่มักคิดว่า เบี้ยโดดเดี่ยวเป็นจุดอ่อนเสมอ
แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอาจมีคุณลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างดังเช่นหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

หลักเกณฑ์ของเบี้ยโดดเดี่ยว 1 เบี้ยโดดเดี่ยวอาจเป็นเบี้ยผ่านที่คู่ต่อสู้ไม่สามารถหยุดได้

หลักเกณฑ์ของเบี้ยโดดเดี่ยว 2 มันอาจอยู่ในตำแหน่งกลางกระดานและช่วยป้องกันตาสำคัญได้

หลักเกณฑ์ของเบี้ยโดดเดี่ยว 3 บางครั้งเราสามารถใช้เบี้ยโดดเดี่ยวนี้เพื่อการโจมตี
โดยเข็ญขึ้นไปแลกกับเบี้ย
ของฝ่ายตรงข้าม และทำให้รูปทรงเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามเสียไป

หลักเกณฑ์ของเบี้ยโดดเดี่ยว 4 แม้ว่าเบี้ยโดดเดี่ยวของเราจะไม่สามารถขยับได้
แต่เรือของเรามักใช้งานได้ดี
กว่าฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากเราจะมีคลองเรือสองข้าง ขนาบซ้ายขวาเบี้ยโดด
เดี่ยวตัวนั้น

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:14:03 ]

36



ในรูปนี้ เบี้ยโดดเดี่ยวของหมากขาวที่ตา d4 ช่วยให้หมากขาวคุมตา c5 และ e5 ได้

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:15:19 ]

37



รูปต่อมา หมากดำจะเดินเบี้ย 1…a4 ทิ่มเข้ามาโจมตีเบี้ยคู่ริมกระดานของหมากขาว และภายหลังจากการแลกเบี้ย
อาทิ ….a x b3 หมากดำสามารถกำจัดเบี้ยโดดเดี่ยวที่เป็นจุดอ่อนของตนเองได้
และเปลี่ยนโครงเบี้ยของหมากขาวฝั่งควีนที่ดูสวยงาม ให้กลายเป็นเบี้ยโดดเดี่ยว แทน




หลักเกณฑ์ของเบี้ยโดดเดี่ยว 5 ถ้าคู่ต่อสู้ของเรามีเบี้ยโดดเดี่ยว
เราต้องมั่นใจว่าสามารถควบคุมตาสำคัญที่
อยู่ด้านหน้าเบี้ยตัวนั้นได้ ซึ่งนอกจากเราจะหยุดเบี้ยตัวนั้นไม่ให้บุกรุกเข้ามา
ได้แล้ว ตาสำคัญที่อยู่หน้าเบี้ยโดดเดี่ยวยังเป็นจุดยืนที่ดีของหมากเรา เนื่อง
จากคู่ต่อสู้ไม่มีเบี้ยมาขับไล่หมากเราได้

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:16:21 ]

38



ตามรูป หมากขาวสามารถควบคุมตา d4 และหยุดเบี้ยโดดเดี่ยวของหมากดำ และใช้ตา d4 เป็นจุดยืนที่ดีของม้าได้

หลักเกณฑ์ของเบี้ยโดดเดี่ยว 6 เบี้ยโดดเดี่ยวในตำแหน่งสูง อาทิ เบี้ยขาวตา e4 หรือเบี้ยดำตา e5
ช่วยให้ได้
พื้นที่ และทำให้ตัวหมากอื่นใช้งานได้ดี

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:19:47 ]

39




หลักเกณฑ์เบี้ยของโดดเดี่ยว 7 ตรงกันข้ามกับหลักเกณฑ์ข้อ 6
เมื่อเราเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่มีเบี้ยโดดเดี่ยว เรา
ควรแลกม้าและบิชอพออก (ตัวหมากของคู่ต่อสู้จะไม่มีทางใช้งานได้ดีถ้ามัน
อยู่นอกกระดาน ^^) ตามด้วยการซ้อนเรือ และ / หรือควีน ในคลองเดียวกัน
กับเบี้ยตัวนั้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับเบี้ยโดดเดี่ยวอย่างมาก


ในรูปนี้ สมมุติว่าต่อจากรูปที่แล้ว หมากขาวสามารถคุมตาสำคัญหน้าเบี้ยโดดเดี่ยวได้
และแลกม้ากับบิชอพออกไปได้ ตามด้วยการซ้อนเรือ และควีน บังคับให้หมากดำต้องคอยคุ้มกันเบี้ยตัวนี้
ในรูปนี้หมากขาวสามารถกินเบี้ยฟรีได้โดยเดินเบี้ย e4

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:21:23 ]

40

คราวหน้าต่อด้วยเรื่องเบี้ยล้าหลัง Backward Pawns ค่ะ

โดย : v Guest   [ 29/06/2005, 00:22:18 ]

41

เป็นกระทู้ที่ดีและน่าสนใจมากครับ

โดย : SaWaPoP Member   [ 29/06/2005, 08:46:40 ]

42

ตัวอย่างบทวิจารณ์ของหนังสือ
The Reassess Your Chess Workbook
By Jeremy Silman

Reviewed by John Donaldson

The Reassess Your Chess Workbook is not this sort of manual. Silman has become famous for his theory
of imbalances in chess, and this book is aimed at improving the reader's understanding of the game
through this vehicle. Since the publication of Alexander Kotov's Think Like a Grandmaster in 1971,
the chess public has become aware of the idea of candidate moves. Kotov's suggestion was that in a
position the player try to determine the best course of action by selecting around five plausible
moves and analyzing only them. Since human beings are not computers, this suggestion makes good
sense. But how does one select the right candidate moves? This is the question I.M. Silman attempts
to answer in his book.

The 1981 U.S. Open Champion believes the way to correctly orient oneself to finding the right
candidate moves is through a checklist of the imbalances that exist in most positions. He considers
the following seven to be the key criteria.

List of Imbalances


Superior Minor Piece - the interplay between Bishops and Knights (trying to make one superior to the
other).

Pawn Structure - a broad subject that encompasses doubled pawns, isolated pawns, backward pawns,
passed pawns, etc.

Space - the annexation of territory on a chessboard.

Material - owning pieces of greater value than the opponent's.

Control of a key file or square - files, ranks, and diagonals act as pathways for your pieces, while
squares act as homes. Whole plans can center around the domination of a file, or the creation of a
weak square in the enemy camp.

Development - a lead in development gives you more force in a specific area of the board. This is a
temporary imbalance because the opponent will eventually catch up.

Initiative - dictating the tempo of a game. This can also turn out to be a temporary imbalance.




โดย : อ้อม Member   [ 29/06/2005, 15:33:33 ]

43

เป็นกระทู้ที่มีประโยชน์มากๆ ทั้งมือเก่ามือใหม่เลยทีเดียว

ที่จริงเรื่องนี้ ผมมีหนังสืออีกเล่มที่แนะนำให้ไปหาอ่าน เขียนโดยสุดยอด GM ของอเมริกาในอดีต คือ
ซามูเอล รีเซฟกี้ ชื่อหนังสือคือ The art of Positional Play หนังสือเล่มนี้
มีทั้งการนำเกมมาวิจารณ์แล้ว ยังมีข้อเสนอแนะ และข้อแนะนำในการเล่น
ผมอ่านดูแล้วเป็นหนังสือที่ดีอีกเล่มหนึ่งน่ะครับ

โดย : Zyberman Member   [ 30/06/2005, 14:58:10 ]

44

ขอขอบคุณ คุณ v ที่แปลเนื้อหาดีๆ ให้อ่านครับ
แม้ว่ายังอ่านไม่จบ เพราะต้องค่อยๆ ขบ
แต่ก็อ่านง่าย เข้าใจง่าย แปลได้สละสลวยดีครับ

ส่วน มู๋ตี๋ อย่าเพิ่งเลิกเขียนเลย
นายยังมีภูมิความรู้อีกมากมาย
เพียงแต่เปลี่ยนการแปลคำศัพท์ บางคำที่คนอ่านแล้วงง
เช่น บิชอพ ก็น่าจะพอแล้วนะครับ
เพราะข้อมูลเดิมที่ทำมา
ทั้งหมดยังมีคุณค่ากับคนรักหมากกระดานอยู่เสมอ

โดย : ซึซึอิ Guest   [ 30/06/2005, 16:44:45 ]

45

อยากอ่านเบี้ยล้าหลังอะ โพสต่อจิๆๆ

โดย : แบงค์2005 Member   [ 03/07/2005, 13:32:26 ]

46


เคยนึกอยากจะหัดเล่นหมากรุกสากลบ้างหรือเปล่าครับ
ผมเคยพบหลายๆคนที่อยากจะลองหัดเล่นแต่ไม่สบโอกาสเสียที โดยมากจะเป็นเพราะไม่มีคนรู้จักสอนกติกาให้
อันที่จริงกติกาหมากรุกฝรั่งเข้าใจไม่ยากครับ เพียงแต่มันยังไม่แพร่หลายในเมืองไทยเท่านั้นเอง
คนที่เล่นเป็นจึงมีอยู่น้อย แต่เมื่อคุณมาถึงที่นี่แล้วอย่ากลับออกไปมือเปล่าเลยนะครับ
ลองทำความรู้จักมันดูหน่อย หากตอนนี้ยังไม่มีอารมณ์อ่าน บุคมาร์คไว้ก่อนก็ได้ครับ

ประโยชน์จากการเล่นเชสนั้นสารพัดข้อครับ เชสเป็นเกมที่ให้ความบันเทิงแบบไม่มีที่สิ้นสุด
คุณจะได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้สังสรรค์กับเพื่อนเก่า ได้ฝึกสมองให้เฉียบคม ได้ฝึกสมาธิ
ได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะเชสเป็นเกมที่ลึกซึ้งเกินหยั่ง
เคยมีนักคณิตศาสตร์บางคนอุตริคำนวณว่า จำนวนเกมที่เป็นไปได้ทั้งหมดของเชสนั้น
มีมากกว่าจำนวนอะตอมที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจักรวาลของเราเสียอีก

สำหรับเด็กๆแล้วแน่นอนครับ เชสช่วยฝึกสมาธิ บุคลิกและสติปัญญาได้เป็นอย่างดี จินตคณิต เปียโน
ไวโอลินหรือการซ้อมว่ายน้ำ ก็มีข้อดีแตกต่างกันไป
แต่ผมไม่เคยเห็นผู้ปกครองคนไหนจัดให้เชสเป็นกิจกรรมเสริมกับเด็กๆเลยครับ
อันที่จริงเชสก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยและหวังผลได้
มีงานวิจัยหลายชิ้นให้ผลออกมาในทำนองเดียวกัน สรุปว่าเด็กที่หัดเล่นหมากรุกสากลมีผลการเรียนที่ดีขึ้น
นักวิจัยคิดกันว่าน่าจะเป็นเพราะเด็กเหล่านั้นสามารถรวบรวมความสนใจได้ดีขึ้น
อีกข้อคือเด็กๆจะมองว่าเชสเป็นเกมที่เอาไว้เล่นสนุกเสียมากกว่า การชักชวนให้เด็กซ้อมเชส
คงจะง่ายกว่าบังคับให้เขาลงสระว่ายน้ำหรือทำการบ้านเลขแน่ๆครับ

เชสนั้นเกิดในอินเดีย เล่นกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่เจ็ด
และมีหลักฐานบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีเชสมาตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งด้วยซ้ำ
เชสในสมัยนั้นไม่เหมือนที่เราเล่นกันทุกวันนี้นะครับ เรียกกันว่า Chaturanga
กระดานรวมทั้งตัวหมากและตาเดินจะคล้ายกับยุคของเรา
แต่ใช้ผู้เล่นสี่คนและตำแหน่งเริ่มต้นบนกระดานก็ไม่เหมือนกันด้วย จากอินเดีย
เชสได้แพร่ไปยังเปอร์เซียและอาหรับอย่างรวดเร็ว เชสเดินทางมาถึงยุโรปในศตวรรษที่แปด
เมื่อพวกมัวร์ยึดสเปนไว้ได้ ผ่านไปเพียงสองศตวรรษ เชสก็แพร่หลายไปทั่วยุโรปและรัสเซีย

ชาวยุโรปเล่นเชสแบบของมุสลิมได้ราวหกร้อยปี จึงเปลี่ยนวิธีเดินของบิชอพและควีน
โดยเฉพาะควีนกลายเป็นหมากที่มีอำนาจที่สุดในกระดาน เกมที่เคยเชื่องช้าจึงหมดไป
เชสกลายเป็นเกมเร็วตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าเป็นต้นมา

อุปกรณ์จำเป็นของเชส ได้แก่ กระดานและตัวหมาก ส่วน chess clock นั้นคงจะเหมาะใช้ในการแข่งขันมากกว่า
พวกเราที่เล่นกันตามบ้านคงไม่มีธุระจะใช้มัน กระดานที่ใช้เล่นเป็นกระดานจตุรัสขนาด 8x8 ตา
สลับสีอ่อนและเข้ม สีที่สบายตาที่สุดคงเป็น เขียวหรือน้ำตาลสลับครีม ส่วนตัวหมากรุกก็มีสองสีเช่นกัน
เราเรียกสีอ่อนว่าขาว และสีเข้มว่าดำ แต่ละฝ่ายมีหมากคนละสิบหกตัว
เป็นพอน(คล้ายกับเบี้ยในหมากรุกไทย)แปดตัว และหมากนายอีกแปดตัว ได้แก่ คิง ควีน คู่บิชอพ คู่ไนท์
และคู่รุค กระดานที่ใช้เล่นในทัวร์นาเมนต์เป็นกระดานไม้หรือไวนิลชนิดอ่อน ความกว้างของแต่ละช่องตั้งแต่
1.5-2 นิ้ว ตัวหมากที่นิยมกันทำด้วยพลาสติกหรือไม้ ความสูงของคิงประมาณ 3.5-4 นิ้ว
เฉพาะตัวหมากที่ทำด้วยไม้เนื้อดีอาจมีราคาสูงถึงสี่พันบาท
เซตที่หรูหราจริงๆจะแพงกว่าตู้เย็นสองประตูเสียอีก คุณๆที่หัดเล่นก็ไม่ต้องคิดมากอะไร
ไปที่ห้างสรรพสินค้า ดูที่แผนกของเล่น หรือแผนกเครื่องกีฬา
มองหาเซตแม่เหล็กเล็กๆทำด้วยพลาสติกราคาไม่ถึงร้อยบาทก็พอเล่นได้แล้ว หรือถ้ามีเงิน
ก็ลองไปเดินที่จตุจักรดูนะครับ มีเซตที่ทำด้วยหินสบู่พร้อมกระดานสวยหรูขายเหมือนกัน
ราคาราวพันถึงพันห้าร้อยบาท ขึ้นกับขนาดกระดาน แต่ผมมีข้อติอยู่สองอัน คือ ดีไซน์ตัวหมากไม่เป็นมาตรฐาน
สอบถามคนขายได้ความว่านำเข้าจากเนปาล อีกข้อคือตัวหมากทำด้วยหิน ถ้าคุณเล่นไม่ระวังแล้วรับรองว่าเละ
ตกพื้นเป็นอันแตก กระแทกกันแล้วบิ่น เวลาคุณเลือกซื้อก็ตาดีหน่อย ดูให้ดีว่าตัวหมากไม่บิ่น
ถ้าเซตจตุจักรนี้ไม่ถูกใจคุณ ก็ลองสั่งซื้อในอินเตอร์เนตดูนะครับ ลองสืบราคาก่อน ค่าส่งคงแพงนิดนึง
เพราะตัวหมากที่เกรดดีจริงๆนั้นหนักมาก แต่ในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้รัดเข็มขัดหน่อยดีไหมครับ

ผู้เล่นฝ่ายขาวจะได้เดินก่อนเสมอ จากนั้นจึงผลัดกันเดินหมากคนละครั้งไปจนจบเกม
ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งจะบอกผ่านไม่ได้ แม้รู้ทั้งรู้ว่าเดินแล้วจะแพ้ก็ต้องฝืนเดิน
ส่วนการกินกันก็ไม่มีอะไรพิศดาร คุณเอาหมากของคุณไปวางแทนที่ แล้วยกหมากศัตรูเดิมออก ให้สังเกตว่า
ตาเดินของหมากนายจะเป็นตากินของมันด้วย ส่วนพอนนั้นแปลกไป มันจะเดินตรงและกินเฉียง
หมากทุกตัวกินกันเองได้หมด เว้นคิงซึ่งคุณจะปล่อยให้โดนกินไม่ได้ ถ้าคุณพยายามแล้ว ก็ยังเอาคิงไม่รอด
ก็เป็นอันจบเกม

คราวนี้มารู้จักหมากแต่ละตัวกัน

รุค(Rook) รุคเป็นหมากสำคัญอีกตัว เป็นรองเพียงควีนตัวเดียวเท่านั้น รุคเดินได้ทั้งแนวดิ่งและแนวขนาน
โดยไม่จำกัดระยะทาง เว้นแต่มีหมากบางตัวขวางแนวนั้นไว้



บิชอพ(Bishop) เดินในแนวทแยงสี่ทิศโดยไม่จำกัดระยะเช่นกัน ลักษณะการเดินของบิชอพนั้นคล้ายกับนักแม่นธนู
คอยลอบยิงจากที่ไกล เป็นเพราะตาเดินแบบนี้ จึงจำกัดให้บิชอพแต่ละตัวเดินบนตาสีเดียวตลอดชีวิตของมัน
บิชอพเดี่ยวจึงเป็นอย่างคนพิการ ในขณะที่คู่บิชอพนั้นทรงพลังจริงๆ



ควีน(Queen) เดิมทีควีนเป็นหมากที่อ่อนแอที่สุดบนกระดาน จนกระทั่งปี 1475
ตาเดินของควีนถูกเปลี่ยนไปจนกลายเป็นหมากที่แข็งแกร่งที่สุด ในตาเดินหนึ่งควีนอาจจะเดินทแยง
เดินในแนวขนาน หรือแนวดิ่ง ได้โดยไม่จำกัดระยะทาง เว้นแต่มีหมากบางตัวขวางแนวนั้นไว้
ใช้ความสังเกตนิดหน่อยจะพบว่า ควีนเดินเหมือนรุคผสมบิชอพ



คิง(King) คิงเป็นหมากตัวสำคัญที่สุดบนกระดาน เพราะการเสียคิงก็หมายถึงความพ่ายแพ้
คิงสามารถเดินได้หนึ่งตาในทิศทางใดๆ เพราะฉนั้นหากคิงอยู่กลางกระดาน
คิงจะมีตาเดินให้เลือกมากที่สุดแปดตาเดิน จำง่ายๆว่าคิงเดินเหมือนควีน แต่เดินได้เพียงก้าวเดียว
คุณอาจจะมองว่าคิงเป็นหมากที่ค่อนข้างกระจอก ในช่วงกลางเกม ซึ่งมีหมากดุๆอยู่เต็มกระดาน
ก็คงจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าถึงท้ายเกมแล้วคุณยังฝืนไม่เอาคิงมาเล่นเป็นแพ้แน่ๆครับ
เรื่องแปลกอย่างหนึ่งของคิงคือ คิงขาวกับคิงดำจะแตะเนื้อต้องตัวกันไม่ได้เด็ดขาด
เพราะคิงเองก็มีตากินของมันเหมือนกัน การเดินคิงไปตกตากินของฝ่ายตรงข้ามนั้นผิดกติกาครับ



ไนท์(Knight) ไนท์มีตาเดินค่อนข้างแปลก มันเดินสองก้าวในแนวดิ่งตามด้วยอีกหนึ่งก้าวในแนวขนาน
หรือสองก้าวในแนวขนานตามด้วยหนึ่งก้าวในแนวดิ่ง ประกอบกันเป็นอักษร L
ไนท์เท่านั้นที่สามารถกระโดดข้ามหมากตัวอื่นๆ ไปหยุดที่จุดหมายของมันได้



พอน(Pawn) พอนเป็นหมากราคาถูก และเป็นประชากรส่วนใหญ่บนกระดาน หน้าที่หลักของพอนคือการแผ้วถางหนทาง
เพื่อเตรียมการบุกของบรรดาหมากนาย พอนเป็นหมากชนิดเดียวที่เดินถอยหลังไม่ได้
และตากินของมันก็ไม่เหมือนตาเดินด้วย พอนจะเดินไปข้างหน้าทีละก้าว
เว้นแต่มีหมากตัวอื่นมาขวางทางเดินของมันเอาไว้ ส่วนตากินของมัน คือสองตาทแยงด้านหน้า
พอนขาวในรูปมีตาเดินให้เลือกสามตา คือ กินไนท์ กินพอน หรือเดินไปข้างหน้า ความพิเศษของพอนยังมีอีกสองข้อ
แรกคือพอนที่ยังไม่เคยเดินมาก่อน มีสิทธิ์เลือกเดินหนึ่ง หรือสองก้าวก็ได้
สองคือพอนที่รอดตายมุ่งหน้าไปจนถึงแถวสุดท้ายของกระดาน จะได้รับโปรโมทเป็นหมากนายหนึ่งในสี่ชนิด ได้แก่
ควีน รุค บิชอพ และ ไนท์



หัวข้อต่อไปคือการตั้งกระดานเพื่อเริ่มเล่น ให้สังเกตคู่ของคิงกับควีนที่อยู่ในสุด
ถัดออกมาเป็นคู่บิชอพ คู่ไนท์ และคู่รุค ตามลำดับ
พอนแปดตัวนั้นไม่มีปัญหาคุณถมมันให้เต็มแถวถัดขึ้นมาได้เลย จุดที่ชวนสับสนที่สุดคงจะเป็นคิงและควีน
จำง่ายๆว่า Always put the Queen on her color. และอย่าลืมตั้งกระดานให้มุมขวาล่างเป็นสีอ่อนด้วยนะครับ
ข้อนี้ให้จำว่า White on right.



การกินผ่าน(En Passant) กติกาข้อนี้ระบุว่าหากคุณมีพอนอยู่ในแถวที่ห้า และพอนของอีกฝ่ายเดินหน้าสองตา
เพื่อจะเดินหนีพอนของคุณ คุณอาจจะกินพอนศัตรูตัวนั้นได้เหมือนว่ามันเดินเพียงก้าวเดียว
ถ้าคุณเจออย่างนี้แล้วอยากจะกิน คุณต้องกินเลย ถ้าไพล่ไปเดินตาอื่นแล้วเขาจะถือว่าคุณสละสิทธิ์
ลองดูรูปนะครับ



การเข้าป้อม(Castling) เป็นโอกาสเดียวในเกมที่คุณจะขยับหมากสองตัวในตาเดินเพียงหนึ่งครั้ง
หมากสองตัวที่ว่าคือ คิงและรุค คิงจะได้หลบไปอยู่ด้านข้างของกระดาน (ซึ่งน่าจะปลอดภัยกว่าแนวกลางกระดาน)
พร้อมกับได้นำรุคออกมาใช้งาน ในสถานการณ์ทั่วไปแล้ว การเข้าป้อมนับว่าเป็นตาเดินที่ดีทีเดียว
การเข้าป้อมนั้นจะเกิดได้สองข้างคือ คิงไซด์(ด้านใกล้) และควีนไซด์(ด้านไกล)



จัดการเคลียร์ทางเดินระหว่างคิงกับรุคฝั่งที่คุณหมายตาให้ว่างไว้
เมื่อถึงเวลาให้คุณเดินคิงสองก้าว(มากกว่าปกติ) ไปหารุคฝั่งนั้น
แล้วเดินรุคข้ามหัวมาจอดติดกับคิงได้ในจังหวะเดินเดียวกัน ยังมีรายละเอียดอีกสองสามข้อ
1.คิงที่ขยับแล้วหมดโอกาสเข้าป้อม
2.เข้าป้อมได้เฉพาะฝั่งที่รุคไม่เคยขยับ
3.ห้ามเข้าป้อมเพื่อหนีตาเช็คของศัตรู
4.ห้ามเข้าป้อม เมื่อคิงต้องเดินผ่านตาเช็ค หรือป้อมแล้วทำให้คิงตกตาเช็ค



จากรูปคิงขาวเข้าป้อมได้ทั้งสองข้าง แต่คิงดำป้อมไม่ได้เลย เพราะมีไนท์ขาวบีบขมับอยู่

ยังมีศัพท์อีกสามคำที่คุณต้องรู้(หลังจากได้ยินแว่วๆหลายครั้ง) คือ เช็ค(check) เช็คเมท(checkmate)
และสเตลเมท(stalemate)

เราเรียกการขู่จะกินคิงศัตรูแต่ละครั้งว่าเช็ค เจ้าของคิงตัวนั้นมีทางเลือกสามทาง
1.Capture the piece that is attacking the King. จับตัวปัญหากิน
2.Put Something in the way of the enemy piece, thereby blocking the check.
เอาหมากตัวใดตัวหนึ่งมาบล็อกแนวเช็คเอาไว้ มีข้อสังเกตคือ ตาเช็คของไนท์นั้นบล็อคไม่ได้
3.Move the King to a square that is not under attack. เดินคิงหลบ
ถ้าไม่มีตาเดินไหนช่วยคิงให้พ้นภัยได้ เป็นอันจบเกม เราเรียกว่าเช็คเมท และฝ่ายที่ส่งเช็คเมทเป็นผู้ชนะ
ตัวอย่างเช็คเมทสี่แบบ




สเตลเมทหรือตาอับ เกิดเมื่อผู้เล่นฝ่ายหนึ่งไม่มี legal move เหลือให้เลือกเดินแม้สักหนึ่งตา
ถือว่าเกมจบลงด้วยการเสมอของทั้งสองฝ่าย



ในรูปนั้นพอนดำทั้งสองตัวถูกบล็อกไว้ ไนท์ที่มุมขวา ก็ถูกกักด้วยพอนสีเดียวกัน
และคิงจะเดินไปตกตาเช็คไม่ได้

เช็คเมทและสเตลเมทนั้นแตกต่างกัน ในเช็คเมท คิงถูกโจมตีและเอาตัวไม่รอด แต่สเตลเมท
คิงยังปลอดภัยดีอยู่เพียงแต่ไม่มี legal move

หากผู้เล่นฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ หรือทั้งสองฝ่ายตกลงเสมอ เกมย่อมจบลง

หากผู้เล่นฝ่ายหนึ่งมีแต้มเดิน ที่ทำให้ตำแหน่งของหมากทุกตัวในกระดานปรากฏซ้ำเป็นรอบที่สาม
ผู้เล่นฝ่ายใดๆอาจร้องขอเสมอได้

ยังมีการเสมออีกแบบ เกิดขึ้นเมื่อแมทีเรียลไม่พอ มีหลายกรณีคือ
King vs King
King + Bishop vs lone King
King + Knight vs lone King
King + 2 Knights vs lone King
King + Bishop vs King + Bishop
การเช็คเมทจะเกิดไม่ได้เลย เพราะคิงอีกฝ่ายจะหนีรอดไปได้เสมอ แต่ King + Pawn vs lone King
นั้นอาจจะเช็คเมทได้ เพราะพอนยังมีโอกาสจะโปรโมทเป็นควีนหรือรุคได้

มีกติกาสำคัญอีกหนึ่งข้อ "ทุกตาเดินที่ทำให้คิงตกตาเช็คเป็นตาห้าม (illegal move)"



รุคขาวกำลังจะกินควีนดำ ควีนดำชะตาขาด เพราะหลบไม่ได้
การทำอย่างนั้นจะเปิดตาเช็คจากรุคขาวไปถูกคิงดำซึ่งยืนอยู่ด้านหลัง ดำไม่มีทางเลือกต้องแลกควีนกับรุค

เกมคลาสสิกเมื่อสองร้อยปีที่แล้วตกมาถึงมือคนรุ่นเราก็ด้วยการบันทึกตาเดิน
การบันทึกตาเดินแบบหนึ่งที่แพร่หลายที่สุดคือ algebraic notation
การบันทึกแบบนี้จะแบ่งกระดานเป็นแปดคอลัมน์ แปดแถว ชื่อคอลัมน์เป็นอักษรอังกฤษตั้งแต่ a ถึง h
รันจากซ้ายไปขวา ชื่อแถวเป็นตัวเลขรันตั้งแต่ 1-8 จากล่างขึ้นบน หมากของฝ่ายขาวจะอยู่ครึ่งล่างเสมอ
ดังนี้แล้วเราจะระบุตำแหน่งบนกระดานได้ทั้ง 64 ตำแหน่งได้ด้วยการประกาศชื่อคอลัมน์ตามด้วยชื่อแถว
เราจะบันทึกตาเดินของหมากใดๆ ด้วยการระบุชื่อหมากนั้นพร้อมตาเดินที่เป็นจุดหมาย ตัวอย่างเช่น Qa4
หมายถึงควีนเดินไปที่ตา a4 Ke2 หมายถึงคิงเดินไปยังตา e2 R แทนรุค B แทนบิชอพ และ N แทนไนท์
การเดินพอนนั้นพิเศษคือไม่ต้องระบุตัวหมาก ถ้าพอนตัวหนึ่งเดินไปยังตา d4 เราบันทึกเพียง d4
ส่วนการกินกันให้ใช้เครื่องหมาย x แทรกเพิ่มเข้าไป เช่น Nxd5 หมายถึงไนท์กินหมากบนตา d5 และ Kxa1
หมายถึงคิงกินหมากบนตา a1 แต่ถ้าพอนเป็นตัวกินแล้ว ให้เพิ่มชื่อคอลัมน์เดิมของพอนกินตัวนั้นเข้าไปด้วย
ดังนั้น dxe5 จึงหมายถึงพอนจากคอลัมน์ d กินอะไรสักอย่างบนตา e5 มีกฏพิเศษอีกอันหนึ่งก็คือ
ถ้ามีหมากเหมือนกันสองตัวเดินไปที่ตาจุดหมายได้ทั้งคู่ คุณต้องระบุให้ชัดว่าเป็นตัวไหน
ด้วยการเพิ่มเลขแถวหรือคอลัมน์เข้าไป เช่น Rad1 หมายถึงรุคบนคอลัมน์ a เดินไปยังตา d1 หรือ N3d4
หมายถึงไนท์บนแถวที่สามเดินไปยังตา d4 เครื่องหมายอื่นๆที่ใช้ในการบันทึกตาเดิน ได้แก่
O-O หมายถึง การเข้าป้อมฝั่งคิงไซด์(ด้านใกล้)
O-O-O หมายถึง การเข้าป้อมฝั่งควีนไซด์(ด้านไกล)
ch หรือ + หมายถึง ตาเดินที่เช็คคิงฝ่ายตรงข้าม
mate หรือ ++ หมายถึงเช็คเมท(checkmate) เป็นอันจบเกม
= หมายถึงการโปรโมทพอน เช่น e8=Q หมายถึง พอนเดินไปถึงตา e8 และโปรโมทเป็นควีน
! - excellent move
!! - brilliant move
? - poor move
?? - gross blunder
?! - dubious move
!? - interesting move
ตาเดินที่สมบูรณ์หนึ่งตา ต้องประกอบด้วยตาเดินของทั้งฝ่ายขาวและฝ่ายดำ เช่น
1.d4 d5
2.Nc3 Nf6
3.Bb5
เมื่อเราต้องการจะอ้างตาเดินที่สองของฝ่ายขาว ใช้ 2.Nc3 ได้ทันที แต่ถ้าเป็นการอ้างตาเดินของฝ่ายดำ
ต้องใช้ ...(สามจุด) แทนตาเดินของฝ่ายขาว เราจึงอ้างตาเดินที่สองของดำด้วย 2. ... Nf6
อาจจะรู้สึกว่างงในช่วงแรกๆ แต่ใช้เวลาไม่นานคุณจะคุ้นไปเอง
การบันทึกตาเดินมีความสำคัญก็เพราะมันมักจะเป็นส่วนหนึ่งในตำราเชสเสมอ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของมันก็คือ
คุณสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือบันทึกเกมของคุณเอง เพื่อเก็บไว้วิเคราะห์หาจุดบกพร่องในภายหลังได้

โดย : แบงค์2005 Member   [ 03/07/2005, 17:55:33 ]

47

หากคุณเล่นเชสโดยไม่มีหลักการแล้ว เกมของคุณจะเป็นเกมที่ไม่สนุกเลย คุณไม่ได้ทำอะไรนอกจากขยับหมากไปมา
และถ้ามันบังเอิญกินกันได้คุณก็กิน เล่นกันพักนึงจับพลัดจับผลูคุณจึงเชคเมทกันได้
ฝรั่งจึงเรียกพวกหัดใหม่ว่า Woodpusher ฟังดูไม่ดีเลยใช่ไหมครับ

เชสเป็นเกมสงครามแบบหนึ่ง ที่ต้องเรียกว่าเกมก็เพราะเชสเป็นการช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย
ต่างพยายามเอาเปรียบกันให้ได้มากที่สุด
ฝ่ายที่วางแผนรอบคอบและรัดกุมกว่าย่อมจะฉวยเอาทรัพยากรส่วนใหญ่ไปได้
แลสามารถใช้กำลังที่เหนือกว่านี้ทำลายกองทัพฝ่ายตรงข้ามได้โดยง่าย

ลองจินตนาการกระดานหมากรุกเป็นสมรภูมิ และให้ตัวหมากของเราเป็นกำลังพล
เราลำเลียงกองทัพออกจากค่ายไปยังแนวรบให้ได้เร็วและมากที่สุด เพื่อเตรียมการต่อสู้แบบตะลุมบอน
เมื่อฝุ่นบางตาลงเราจะพบซากความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย
และเรามักจะพบว่ามีฝ่ายหนึ่งเริ่มมีเปรียบเหนืออีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด
หากฝ่ายแรกคิดว่ายังเอาเปรียบได้อีกก็จะพยายามต่อไป หรือถ้าห่างชั้นกันมากพอแล้ว
เขาจะเดินบุกไปเคาะประตูบ้าน "ท่านผู้นำ" ทันที
เมื่อท่านผู้นำถูกจับและรับคำตัดสินประหารแล้วก็เป็นอันจบเกม

เกมสงครามเป็นโมเดลที่ใช้อธิบายเชสดีที่สุด ช่วยให้คุณเข้าถึงหัวใจเชสได้อย่างลึกซึ้ง
เราพยายามตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม ด้วยกับดักและอาวุธแบบต่างๆ เราพยายามครอบครองตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์
เหมือนที่ร้านพิซซ่าฮัทบุกห้างเซนทรัล เพราะลูกค้าเยอะดี เราพยายาม "รุมกินโต๊ะ"
ทุกครั้งที่มีโอกาส แบบที่เด็กช่างกลนิยม เรามองหาจุดอ่อน เราตัดเส้นทางลำเลียง
เราเปิดแนวโจมตีพร้อมกันสองด้าน ฯลฯ

เราเรียกแผนระยะสั้น ซึ่งเน้นความได้เปรียบเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมทีเรียลว่า แทกติก (tactic)
และเรียกแผนระยะยาว ซึ่งเน้นความได้เปรียบของตำแหน่งบนกระดานว่า สเตรทจี (strategy)
คำที่คู่กับสเตรทจีเสมอคือ positional play
หมายถึงการมุ่งความสนใจไปยังตำแหน่งของตัวหมากบนกระดานมากกว่าแมทีเรียล คำแนะนำทั่วไปในการเล่นคือ
คุณต้องเปิดเกมโดยอาศัยสเตรทจีเป็นแนวทาง เพราะในช่วงแรกของเกมนั้นจะยังไม่มีการปะทะกันมากนัก
ความได้เปรียบเชิงตำแหน่งเป็นสิ่งเดียวที่คุณพอจะฉวยเอาไว้ได้
แต่ความได้เปรียบเชิงตำแหน่งนั้นคล้ายกับทรายในอุ้งมือ ด้วยว่ามันจะค่อยๆหนีไปจากมือคุณทีละน้อย
เป็นความได้เปรียบที่ไม่ค่อยยั่งยืนนัก คุณต้องหาทางเปลี่ยนความได้เปรียบเชิงตำแหน่งนี้
เป็นความได้เปรียบในเชิงแมทีเรียลโดยเร็ว ด้วยการงัดเอาบรรดาแทกติกและกับดักทั้งปวงขึ้นมาใช้
แทกติกจะให้ผลทันตา แต่ต้องอาศัยตาไวและตำแหน่งที่ดีงามเป็นพื้นฐาน อย่าเล่นแทกติกแผลงๆอย่าง
"ถ้าเธอมองไม่เห็นฉันจะกิน" หรือกับดักแบบ "วัดใจ" เด็ดขาด
(แทกติกนั้นใส่ไว้แล้วในหน้าแรกลองอ่านดูนะครับ)

คราวนี้เมื่อคุณมีเปรียบทางด้านแมทีเรียลแล้ว ก็ถึงช่วงเวลาสำคัญคือการเผด็จศึก
เพราะคุณต้องไม่ลืมว่าจุดหมายของเชสคือการล่าคิงศัตรู ถ้าคุณซื้อเชคเมทด้วยควีนได้จ่ายไปเลยครับ
จะไม่มีใครตำหนิคุณ หนำซ้ำทุกคนยังชอบใจแต้มเดินนั้นเสียอีก ด้วยเห็นว่าเป็นการลงทุนหนักอันคุ้มค่า
แต่ผมแนะนำว่าวิธีที่แน่นอนที่สุดในการจับคิงก็คือ จัดการกับบรรดากับองครักษ์ให้หมดเสียก่อน
พอคิงเหลือตัวเปล่าแล้วคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร ใช่ไหมครับ

ทรัพยากรบนกระดานหมากรุกที่เรานิยมพูดถึงกันมีอยู่สี่อย่างครับ

1 - Material เป็นความได้เปรียบที่ค่อนข้างชัดเจน หมากสี่ตัวย่อมหาทางรุมหมากตัวเดียวได้เสมอ
แต่กว่าจะเล่นให้ฝ่ายตรงข้ามเหลือหนึ่งในขณะที่เราเหลือสี่นั้นคงเหนื่อยไม่ใช่เล่นครับ
ได้กล่าวไปแล้วว่าแทกติกจะนำความได้เปรียบด้านแมทีเรียลมาให้ ต้องดูว่าเราเสียหมากตัวไหนไป
และเราได้ตัวไหนคืนมา กำไรมากน้อยแค่ไหนเราดูจากราคาของหมากแต่ละตัวครับ
พอนนั้นราคาถูกที่สุด (แต่ต้องไม่ลืมว่ามันโปรโมทเป็นควีนได้) คิดเป็นหนึ่งแต้ม
ไนท์และบิชอพเป็นไมเนอร์พีซ ถือว่ามีค่าเทียมกัน ให้สามแต้ม
รุคเป็นเมเจอร์พีซ ให้ห้าแต้ม
ควีนเป็นเมเจอร์พีซเช่นกัน ให้เก้าแต้ม
คิง เมื่อไม่สามารถเอาคิงไปกินแลกได้ และการเสียคิงหมายถึงความพ่ายแพ้ จึงมีค่าเป็นอนันต์
ฉะนั้นหากคุณแลกไนท์กับรุคได้ ถือว่าประสบความสำเร็จครับ เพราะคุณได้กำไรสองแต้ม
หรือการเอาบิชอพแลกกับพอนสามตัวถือว่าเสมอกัน (แต่จะดีกว่าไหม
ถ้าคุณใช้บิชอพจัดการกับพอนจากที่ไกลๆโดยไม่เสียเลือดเนื้อ)

2 - Space เกณฑ์อันหนึ่งซึ่งใช้วัดความได้เปรียบของตำแหน่งก็คือ space count
หมายถึงจำนวนนับตากินที่ยื่นเข้าไปในแดนศัตรู ฝ่ายที่มี space count
มากกว่าย่อมจำกัดตาเดินของฝ่ายตรงข้ามได้ และแทกติกที่เรามองเห็นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า




ฝ่ายขาว: ควีนบน b3 ให้ space count 2 ไนท์บน c3 ให้ 2 บิชอพบน c4 ให้ 5 พอนบน e4 ให้ 2 และบิชอพ g5
ให้ 2 รวม space count 13 ตา
ฝ่ายดำ: พอนบน e5 ให้ 2 ควีนบน e7 ให้ 2 ไนท์บน f6 ให้ 2 รวม 6 ตา
ฝ่ายขาวได้เปรียบด้าน space และมีโอกาสชนะค่อนข้างมาก
หมากนายส่วนใหญ่จะมีตากินมากที่สุดเมื่อถูกวางไว้กลางกระดาน ถ้าคุณอยากได้เปรียบด้าน space
ก็ต้องหาทางยึดศูนย์กลาง (center คือสี่ตากลางกระดาน) เอาไว้ให้ได้

3 - Time คือ tempo หรือจังหวะการเดิน ให้สังเกตว่าผู้เล่นสองฝ่ายผลัดกันเดินคนละหนึ่งตา
หลักการข้อนี้มีอยู่ว่าจังหวะเดินแต่ละก้าวนั้นมีค่ามาก คุณต้องใช้มันให้คุ้มค่า
ถ้าคุณใช้มันไม่คุ้มค่าแล้วมันจะโกรธและลงโทษคุณ สมมติว่าในช่วงเปิดเกมคุณถอยไนท์กลับเข้ามา
เพียงเพราะคุณอยากเดินอย่างนั้น นี่เป็นตาเดินที่ไม่มีประโยชน์เลย
ตาเดินนี้มีค่าเท่ากับปล่อยให้ศัตรูของคุณเดินได้สองตาติดกัน
ซึ่งอาจทำให้ตำแหน่งของคุณถึงกับเสียศูนย์ได้ง่ายๆ
นักหมากรุกหัดใหม่มักมองข้ามหลักการนี้ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ที่เซียนหมากรุกไม่แนะนำให้รีบเอาควีนมาเดินแต่แรก เพราะเสี่ยงมากกับการเสีย tempo
เมื่อควีนถูกไล่ให้วิ่งวุ่นไปมาบนกระดานโดยไม่เกิดประโยชน์ การเช็คคิงศัตรูแบบไม่มีเหตุผลก็ทำให้เราเสีย
tempo ได้เช่นกัน นักเล่นหัดใหม่สอบตกข้อนี้กันเป็นแถว รู้แล้วอย่าทำนะครับ

4 - Pawn Structure ในกระดานมีพอนมากถึงสิบหกตัว หน้าที่ของมันนั้นหลากหลาย เช่น ใช้เป็นกำแพงให้คิง
ใช้เป็นเหยื่อล่อ ใช้เป็นตัวบุก ใช้เป็นตัวเฝ้าหมากนายอื่นๆ ใช้โปรโมท
เพราะฉะนั้นโครงสร้างพอนจึงมีความสำคัญขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ พอนนั้นเปรียบเสมือนเด็กเล็ก
ซึ่งจะเติบโตและเพิ่มคุณค่าในวันข้างหน้า (ด้วยการโปรโมท) แต่กว่าจะถึงวันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะศัตรูย่อมหาทางจับพอนกินทุกครั้งที่มีโอกาส
การใช้หมากนายไปเพื่อดูแลพอนนั้นไม่ใช่เรื่องดีงามอะไรเลย เหมือนเป็นการดูถูกคนของตัวเอง
หนทางที่เหมาะสมสำหรับจัดการเรื่องนี้คือให้พอนดูแลกันเอง
โครงสร้างพอนซึ่งบรรดาพอนสามารถดูแลปกป้องกันเองได้นั้น ถือเป็นตำแหน่งดี
ส่วนพอนซึ่งดูแลกันเองไม่ได้นั้นเป็นจุดอ่อนสำหรับล่อเป้าโดยเฉพาะ จุดอ่อนในโครงสร้างพอนนั้น
มีหลายแบบเช่น
พอนซ้อนสอง(doubled pawns) เกิดเมื่อพอนเดินตากินไปตกหน้าพอนอีกตัวหนึ่ง
พอนซ้อนสาม(tripled pawns) เกิดจากตากินเช่นกันเป็นจุดอ่อนซึ่งแย่มากๆ
พอนเดี่ยว(isolated pawn) หมายถึงพอนซึ่งไม่มีเพื่อนพอนในคอลัมน์ติดกันคอยดูแลเลย
โอกาสตายมีมากเป็นพิเศษ
พอนหลัง(backward pawn) คือพอนซึ่งทำหน้าที่เป็นฐานเฝ้าพอนตัวอื่นๆ จะเสี่ยงต่อการถูกโจมตี
เพราะถ้าฐานพังลงแล้วเป็นไปได้มากว่าพอนทั้งสาย(pawn chain)อาจจะถล่มลงมาด้วย
คุณจึงต้องเฝ้าระวังพอนหลังนี้ให้ดี ตัวอย่างเช่น พอนหนึ่งตัวเฝ้าพอนที่อยู่ติดกันสองตัว
เมื่อฐานนี้ถูกทำลาย พอนที่เหลืออีกสองตัวจะตกตาร้ายทันที
เพราะฉะนั้นเวลาเดินพอนดูให้ดีนะครับ อย่าให้มีตำหนิในโครงสร้างพอนเด็ดขาด

คราวนี้คุณก็ได้ไอเดียเรื่องสเตรทจีไปบ้างแล้ว บทเรียนอีกอันหนึ่งซึ่งสำคัญพอกันก็คือ
เรื่องเฟส(phase)ของเกม ถ้าคุณเล่นเชสโดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเฟสของเกมเลย นับว่าคุณเสียเปรียบมาก
ความรู้เรื่องสเตรทจีของคุณจะด้อยค่าลงทันที บทเรียนเรื่องเฟสต่างๆในเกมจะช่วยคุณปรับตัว
ให้เข้ากับรูปเกมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ในหนึ่งเกมเราจะแบ่งออกได้เป็นสามเฟส ได้แก่
ระยะเปิดหมาก(Opening) ระยะกลางเกม(Middlegame) และระยะจบเกม(Endgame)

ระยะเปิดหมาก(Opening) อยู่ในช่วงสิบถึงสิบห้าตาแรก
(ขาวและดำเดินข้างละหนึ่งครั้งนับรวมเป็นหนึ่งตาเดิน) จุดมุ่งหมายสำคัญของเฟสนี้คือ
การเร่งส่งกำลังไปยังแนวรบให้ได้มากและมีคุณภาพที่สุด เพื่อให้พร้อมสำหรับเฟสต่อไป
ส่งกำลังให้ได้มากเป็นไปได้ด้วยการเดินหมากแต่ละตัวเพียงหนึ่งครั้งในช่วงเปิดหมาก
ส่วนการเปิดอย่างมีคุณภาพหมายถึง การวางหมากคุมศูนย์กลางให้ได้มากที่สุด
และคิงของฝ่ายตัวอยู่ในตำแหน่งปลอดภัยแล้ว (เวลาบุกเราจะได้ไม่ต้องพะวงหลังมากนัก)
ตัวเดินที่มีบทบาทมากในเฟสนี้คือ พอน ไนท์และบิชอพ

ระยะกลางเกม(Middlegame) เป็นระยะแห่งการตะลุมบอน(จริงๆครับ) เพื่อชิงความได้เปรียบด้านแมทีเรียล
ฝ่ายที่ตำแหน่งดีกว่าและเลือกใช้แทกติกได้อย่างเหมาะสม จะมีอนาคตสดใสเมื่อถึงเวลาของเฟสสุดท้าย
เมเจอร์พีซอย่างรุคและควีนจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในเฟสนี้ ถ้าเชคเมทกันไม่ได้
เกมจะเคลื่อนเข้าสู่เฟสสุดท้าย

ระยะจบเกม(Endgame) เฟสนี้ตัวหมากในกระดานจะเหลือน้อยเต็มที โดยมากจะเหลือคิง รุค และพอน
คิงซึ่งเคยหลบๆซ่อนๆก็จะสำคัญขึ้นทันที คิงอาจจะร่วมมือกับรุคเพื่อเชคเมทคิงศัตรู
หรือคอยคุ้มกันพอนไปจนถึงแถวสุดท้ายเพื่อโปรโมทแล้วหาทางเชคเมทภายหลัง
เทคนิกในการส่งพอนให้ถึงจุดหมายก็คือ ใช้รุคเฝ้าพอนฝ่ายเราจากด้านหลัง แล้วดันพอนขึ้นไปเรื่อยๆ
(ในทางกลับกันจะจัดการกับพอนศัตรูคุณก็ต้องอ้อมไปด้านหลังเช่นกัน)

เสน่ห์ของเกมนี้คงอยู่ที่ความตึงเครียดเล็กๆซึ่งมันมอบให้
ผู้เล่นที่รู้มรรยาทเชสจะต้องเอาจริงและเล่นเต็มฝีมือเสมอ การอ่อนให้นั้นเป็นการดูถูกซึ่งหน้า
และการยื้อเกมโดยไม่มีเหตุผลนั้นเป็นการกระทำที่น่าขายหน้าที่สุด แม้มันจะเป็นเกมที่เครียด
เพราะมรรยาทเชสเรียกร้องให้เราจริงจังเช่นนั้น แต่คุณต้องไม่ลืมเรื่องน้ำใจนักกีฬาเด็ดขาด
เชสไม่ใช่สงคราม มันเป็นแค่เกมหนึ่งที่เราเล่นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น คนที่เราเล่นด้วยก็ไม่ใช่ใคร
ก็เพื่อนๆเรานี่แหละ แพ้บ้างชนะบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ถนอมน้ำใจกันไว้ดีกว่า อย่าไปซีเรียสอะไรมากมาย
เล่นเอามันเถอะครับ อิอิ

โดย : แบงค์2005 Member   [ 03/07/2005, 17:57:20 ]

48

ในระหว่างการแข่งหมากรุกสากลชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยที่อาคารพันธุ์ทิพย์ทุกๆปีนั้น
มักจะมีคนพาบุตรหลานตัวเล็กๆ อายุสัก 7-8 ขวบขึ้นไป
และมาถามว่ามีตำราหมากรุกฝรั่งภาษาไทยอย่างเริ่มต้นที่เขาจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง คำตอบคือไม่มีครับ
มีแต่ตำราภาษาฝรั่งซึ่งสอนถึงขั้นสูง แถมยังมีราคาแพงอีกต่างหาก
ผู้เขียนจึงได้รวบรวมสิ่งที่คิดว่าน่าจะมีสาระประโยชน์สำหรับผู้เริ่มเล่นไว้เพื่อให้ศึกษากัน
เข้าใจยุทธวิธีการเล่น

จุดหมายหลักในการเดิยก็คือการจัดที่ปลอดภัยสำหรับคิงของเรา
และการวางตัวหมากของเราให้สามารถโจมตีคู่ต่อสู้ได้เร็วที่สุด ฉะนั้นเราจึงพยายามที่จะเข้าป้อม (castle)
โดยเร็วที่สุด (เพื่อให้คิงอยู่ในที่ปลอดภัย)
และพยายามเดินหมากตัวใหญ่ของเราหลายๆตัวไปยังศูนย์กลางกระดาน (ไม่ใช่วางตัวไว้ที่ริมหรือขอบกระดาน
ซึ่งเป็นการลดอำนาจการกระจายกำลังลงไป)

มีวิธีประมาณค่าหรือกำลังของตัวหมากต่างๆโดยคร่าวๆดังนี้

ควีน (Queen) = 9 แต้ม
เรือ (Rook) = 5 แต้ม
บิชอพ (Bishop) = 3 แต้ม
ม้า (Knight) = 3 แต้ม
เบี้ย (Pawn) = 1 แต้ม

จะเห็นได้ว่าเรือมีค่าโดยประมาณเท่ากับม้ากับเบี้ยสองตัว หรือบิชอพกับเบี้ยสองตัว
และควีนมีค่าเกือบเท่ากับเรือสองตัว เป็นต้น

มีข้อที่น่าสนใจและน่ารู้คือ

หมากรุกไทย : ม้าจะดีกว่าโคนเล็กน้อย
หมากรุกฝรั่ง : บิชอพจะดีกว่าม้าเล็กน้อย
หมากรุกจีน : เผ่า (ปืนใหญ่) จะดีกว่าม้าเล็กน้อย

แต่ข้อสังเกตข้างต้นนี้มีข้อยกเว้นมากมาย (เหมือนหมากรุกทุกชนิด) ขึ้นกับความถนัดความชอบของแต่ละบุคคล
ขึ้นกับรูปหมาก ฯลฯ มีผู้เล่นจำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะผู้ที่เคยเล่นหมากรุกไทย)
ที่เห็นว่าม้าจะดีเท่ากับหรือดีกว่าบิชอพ

ผู้เขียนขอสรุปเรื่องม้ากับบิชอพของหมากรุกฝรั่งว่า โดยทั่วๆไป ถ้าไม่มีกรณีพิเศษเกิดขึ้นแล้ว
บิชอพจะดีกว่าม้าอย่างแน่นอน

ข้อควรจำ

ต่อไปนี้เป็นหลักการใหญ่ๆ หรือข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้เริ่มเล่นหมากรุกฝรั่ง

1. ในการเดินวาระแรกให้เดินเบี้ยหน้าคิง หรือหน้าควีนสองช่อง (คือ e2-e4 หรือ d2-d4)

- กรณี e2-e4 หมากจะเป็นระบบเปิด (open game) คือตัวไม่ขัดกันมาก
โอกาสใช้หมากตัวใหญ่ในที่เปิดกว้างมีมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบเกมเปิดโจมตีรุนแรง มีโอกาสใช้ตัวใหญ่

- กรณี d2-d4 หมากจะเป็นรูปค่อนข้างปิด (semi-closed game) คือเบี้ยจะขัดกัน
ช่องไฟล์ที่เปิดจะมีน้อยกว่ารูปหน้าคิง เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบตั้งป้อมไปสู้กันกลางกระดานหรือปลายกระดาน
ผู้ที่เล่นหมากรุกไทยมาก่อนนิยมเล่นรูปนี้มากเหมือนกัน เพราะมีเวลาตั้งหลักได้มากกว่า อนึ่ง
ผู้ที่เล่นจนถึงระดับสูงๆของโลกมักจะเดินรูปหน้าควีนได้ดี
หรืออย่างน้อยเมื่อเป็นฝ่ายดำก็เดินรับรูปที่ฝ่ายขาวขึ้นเบี้ยหน้าควีนได้อย่างคล่องแคล่ว
แชมเปี้ยนในประเทศไทยระยะหลายปีหลังๆนี้ก็นิยมเล่นโดยขึ้นเบี้ยหน้าควีนเช่นกัน
มีเสียงเกจิอาจารย์หมากรุกโลกกล่าวกันว่า รูปเบี้ยหน้าควีนนี้เป็นรูปมวยหลัก รูปหมากลึกซึ้ง
ถึงแม้ตอนต้นกระดานอาจจะไม่ค่อยมีรูปโจมตีรุนแรงเท่าใดนักเหมือนรูปเบี้ยหน้าคิง
แต่ถ้าเข้าใจหลักการโดยแจ่มแจ้งแล้ว ก็สามารถปัดป้องการโจมตีของขาวได้ไม่ยากนัก เพราะจุดอ่อนไม่ค่อยมี
และรูปป้องกันมักจะซ้ำๆกัน

ทั้งสองรูปคือ เปิดหน้าคิงหรือหน้าควีน มีผู้นิยมเล่นมากพอๆกัน
อดีตแชมป์โลกชาวอเมริกันที่มีวิธีการเล่นเยี่ยมยอดชื่อ บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ (Bobby Fischer) นิยมขึ้น e2-e4
มาก และไม่ยอมขึ้นหมาก d2-d4 เป็นอันขาด (โดยชี้แจงว่าขัดกับหลักการของเขา 'I have never opened with
the QP--on principle') แต่แชมป์โลกปัจจุบันชาวรัสเซีย แกรี่ คาสปารอฟ (Garry Kasparov
อ่านว่าคาสป๊ารอฟ-ลงเสียงหนักตัวที่สอง) ชอบเดินหมาก d2-d4 และเดินได้ชำนาญมาก
แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบเล่นรูปหน้าคิง e2-e4 เช่นกัน เป็นการยากที่จะบอกว่าผู้เริ่มเล่นควรเลือกเล่น e4
หรือ d4 ผู้เขียนแนะได้แต่เพียงว่าให้เลือกรูป e4 หรือ d4 แล้วลองเล่นดูบ้าง
ถ้าชอบแบบไหนก็ยึดแบบนั้นเล่นไปเรื่อยๆให้คล่อง เพราะทั้ง e4 และ d4 เล่นไปจนถึงขั้นสูงสุดได้ทั้งสองรูป
ทั้งเป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว

บางครั้งก็มีคนขึ้นหมากด้วย 1.Nf3
ซึ่งแปลกออกไปแต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงเพราะเป็นรูปที่ผิดแผกจากมาตรฐาน
ในขั้นแรกผู้เริ่มเล่นควรเลือกรูปมาตรฐานและฝึกฝนให้ชำนาญก่อน เพราะรูปมาตรฐานคือ 1.e4 หรือ 1.d4
มีรูปให้เลือกเล่นมากมายอยู่แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่าบางครั้ง ผู้ที่เปิด 1.Nf3 ต้องการหลีกเลี่ยงจากตำราของรูปมาตรฐานต่างๆ
เพื่อให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถใช้วิชาเปิดตอนต้นกระดานเดินเอาเปรียบได้ ความคิดของผู้เล่น 1.Nf3
เช่นนี้ก็ดีอยู่ แต่ผู้เริ่มเล่นควรฝึกฝนหาความรู้จากรูปมาตรฐาน 1.e4 และ 1.d4 เพราะมีรูปเด็ดๆ
หลุมพรางดีๆที่สามารถทำให้เราเอาชนะคู่ต่อสู้ได้โดยรวดเร็วและเด็ดขาด
ผู้เขียนรู้สึกว่าผู้ที่เล่นหมากรุกฝรั่งโดยขึ้น 1.Nf3 โดยที่ยังไม่ไปลองเล่น e4 และ d4
มักจะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยยอมฝึกซ้อมหรือศึกษาตำรามาตรฐาน แต่อยากแปรจากรูปมาตรฐานไปสู้กันแบบหมากนอกระบบ
(บางครั้งกลายเป็นมวยวัดไปก็มี) แต่นี่เป็นนานาจิตตัง ใครชอบแบบไหน ก็เลือกเอาครับ

2. ให้พยายามเข้าป้อม (castling ย่อว่า O-O หรือ O-O-O) ให้เร็วที่สุด เพื่อให้คิงอยู่ในที่ปลอดภัย
จะเห็นได้ว่าการเข้าป้อมทางด้านคิงจะเร็วกว่าด้านควีน เพราะมีช่องว่างเพียงสองช่อง
ไม่ใช่สามช่องอย่างด้านควีน

มีผู้เริ่มเล่นจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมเข้าป้อม เพราะเมื่อเข้าป้อมแล้ว บางทีก็โดนโจมตีรุกจนในป้อมนี้เอง
ข้อนี้เป็นข้อที่เข้าใจผิดอย่างมากของผู้เริ่มเล่น
ที่เข้าใจว่าการเข้าป้อมเป็นจุดอ่อนให้คิงโดนโจมตีได้ง่าย
ความจริงเมื่อเข้าป้อมแล้วมีวิธีที่จะรักษาป้อมให้แข็งแรง โดยต้องปฏิบัติดังนี้
(ขอยกตัวอย่างขาวเข้าป้อมทางด้านคิง O-O)

ก. เบี้ย 3 ตัวหน้าป้อม (เบี้ย f2, g2, h2) อย่าเดินถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เพราะเป็นการสร้างจุดอ่อนของป้อม
ถ้าจำเป็นจริงๆก็เดินแค่ h3 เท่านั้น ถ้าโดนบังคับจนทนไม่ไหวต้องขยับเดินเบี้ย f2 หรือ g2
เมื่อไรแล้วก็ถือว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะมีจุดอ่อนให้โจมตีได้มาก

ข. ม้า Nf3 โดยตอนเริ่ม จะเห็นว่าคู่ต่อสู้ไม่สามารถขึ้น e4 หรือ e5 ได้ แต่บางกรณี คู่ต่อสู่จะขึ้น e4
e5 ขู่.....ลองพิจราณาดู ถ้าม้ากิน จะถือว่าเป็นการเสียตาเดิน ซึ่งเซียนป่องได้กล่าวไว้

โดย : แบงค์2005 Member   [ 03/07/2005, 18:00:55 ]

49




ครั้งที่แล้วเราพูดถึงเรื่องกำลังหรือ material ไปแล้ว เราพยายามเล่นแทกติกก็เพื่อเอาเปรียบ material
ของฝ่ายตรงข้ามนี่เอง material อันนั้นหมายถึงมูลค่าหมากนายทุกตัวบนกระดานนับรวมกัน
ยังมีบางกรณีที่แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมี material เท่ากัน แต่ลักษณะการกระจายของหมากนาย
อาจเป็นผลให้ฝ่ายหนึ่งมีกำลังเหนือกว่าฝ่ายหนึ่งบนบางส่วนของกระดานได้



เราลองมาพิจารณากระดานนี้กัน ถ้านับแต้มบนกระดานจะเห็นว่า
ทั้งสองฝ่ายมีกำลังเท่ากันคือฝ่ายละยี่สิบแต้ม หากไม่พูดถึงตำแหน่งบนกระดานนี้แล้ว โดยส่วนตัวผมจะถูกใจ
Q+R ของฝ่ายขาวมากกว่า R+R+B ของฝ่ายดำ เพราะ Q เหมาะมากกับการเล่นแทกติกพลิกแพลง
ยิ่งเป็นท้ายเกมซึ่งกระดานค่อนข้างโล่งแล้ว Q ยิ่งเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

แต่น่าเศร้าที่ Q ขาวบนกระดานนี้ต้องตายทั้งเป็น เพียงเพราะความผิดพลาดของเจ้าของ เดินพอนของตัวมาขัดขา
Q ดำไม่ปล่อยโอกาสทองนี้ให้หลุดไป ปิดตายทางออกสุดท้ายด้วย R ผลคือ R ของฝ่ายขาวต้องลุยกับ R+R+B
ของฝ่ายดำโดยลำพัง และต้องแพ้ไปในที่สุด

โดย : แบงค์2005 Member   [ 03/07/2005, 18:03:15 ]

50

ขอความที่ผมโพสมานี้ เป็นข้อความที่ผมอยากรู้และอยากอ่าน ..พอดีผมไปเจอเว็บนี้ขึ้นมา เลยไป
ก๊อบปี้มาโพสไห้หลายๆคน ได้อ่าน ....
บางกระทู้ไม่สมบูรณ์ ผมก้อแต่งเติมบ้าง ..อิอิ

โดย : แบงค์2005 Member   [ 03/07/2005, 18:09:29 ]

51

เบี้ยล้าหลัง (Backward Pawns)
เบี้ยล้าหลัง คือ เบี้ยที่อยู่หลังเบี้ยตัวอื่น และไม่สามารถนำเบี้ยตัวอื่นมาผูกได้

หลักเกณฑ์เบี้ยล้าหลัง 1 เบี้ยล้าหลังอาจเป็นจุดอ่อนหากอยู่ในคลองเรือของฝ่ายตรงข้าม
แต่หากเบี้ยล้าหลังนั้น
ไม่อยู่ในคลองเรือฝ่ายตรงข้าม เบี้ยตัวนั้นอาจไม่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญนัก

หลักเกณฑ์เบี้ยล้าหลัง 2 แม้ว่าเบี้ยล้าหลังจะอยู่ในคลองเรือของฝ่ายตรงข้าม
แต่ถ้าหากมีตัวคุ้มกันอย่างแข็งแรง
ก็สามารถต้านทานการโจมตีได้

หลักเกณฑ์เบี้ยล้าหลัง 3 บ่อยครั้งที่เบี้ยล้าหลังไม่ได้เป็นจุดอ่อนในตัวมันเอง
แต่จุดอ่อนกลับกลายเป็นตาที่อยู่
ด้านหน้าเบี้ยล้าหลังนั้นๆ ซึ่งหากตาเดินนั้นได้รับการคุ้มกันจากหมากตัวอื่นเบี้ยล้าหลัง
ตัวนั้นก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

หลักเกณฑ์เบี้ยล้าหลัง 4 เบี้ยล้าหลังมักจะมีประโยชน์ในแง่ที่ว่า
มันช่วยคุ้มกันเบี้ยที่อยู่ด้านหนัามันได้

หลักเกณฑ์เบี้ยล้าหลัง 5 บ่อยครั้งที่เบี้ยล้าหลังนั้น “ล้าหลัง” เพียงแค่ชื่อ
ซึ่งหากเบี้ยตัวนั้นสามารถเดินไป
ข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย ก็จะไม่เป็นเบี้ยล้าหลังอีกต่อไป

โดย : v Guest   [ 05/07/2005, 00:08:29 ]

52



ดังรูปนี้ เบี้ยล้าหลังของหมากดำที่ตา b7 ไม่เป็นจุดอ่อน เนื่องจากมันไม่ได้อยู่ในคลองเรือของหมากขาว
(haft open file) แต่เบี้ยล้าหลังของหมากดำอีกตัวหนึ่งที่ตา d6 เป็นจุดอ่อนอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งเบี้ยตัวนี้ต้องได้รับการคุ้มกันตลอดเวลา และผลกระทบที่ตามมา คือ ตาเดินที่อยู่หน้าเบี้ยตัวนี้ หรือ
ตา d5 เป็นจุดอ่อนให้ขาวนำหมากตัวอื่นมายืนได้

โดย : v Guest   [ 05/07/2005, 00:09:51 ]

53



ในรูปต่อมา เบี้ยล้าหลังของหมากขาวในตา d6 ได้รับการคุ้มกันอย่างหนาแน่น เช่นเดียวกับตา d5
ที่ได้รับการป้องกันจากม้าและบิชอพ ทั้งนี้ หมากดำสามารถเดินเบี้ยล้าหลังตัวนี้ขึ้นมาเมื่อไรก็ได้
ดังนั้นเราไม่จัดว่าเบี้ยล้าหลังที่ตา d6 ของหมากดำเป็นจุดอ่อน

โดย : v Guest   [ 05/07/2005, 00:11:22 ]

54

เบี้ยผ่าน (Passed Pawns)
ผู้เล่นเกือบทั้งหมดมักคิดว่าเบี้ยผ่านเป็นข้อได้เปรียบ ซึ่งก็เป็นจริงในกรณีส่วนใหญ่
โดยเฉพาะในช่วงปลายกระดาน แต่กระนั้นเบี้ยผ่านก็สามารถเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน

หลักเกณฑ์เบี้ยผ่าน 1 เมื่อผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างเล่นในส่วนอื่นของกระดาน
ขณะที่ฝ่ายหนึ่งมีเบี้ยผ่านอยู่อีกฟากของกระดาน แม้ว่าเบี้ยผ่านในขณะนั้นยังไม่มีบทบาทมากนัก
แต่จะเป็นข้อได้เปรียบมากในช่วงปลายกระดาน

หลักเกณฑ์เบี้ยผ่าน 2 เมื่อผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเบี้ยผ่าน ตาสำคัญที่สุดสำหรับผู้เล่นทั้งสองฝ่าย
คือ ตาที่อยู่หน้าเบี้ยผ่านตัวนั้น

หลักเกณฑ์เบี้ยผ่าน 3 หากเบี้ยผ่านถูกฝ่ายตรงข้ามกันหรือ block อย่างแน่นหนา
เบี้ยผ่านที่มีจะกลับกลายเป็นข้อเสียเปรียบ
ทั้งนี้เนื่องจากตัวเบี้ยผ่านนั้นจะกันคลองเรือและแนวตาเดินของบิชอพฝ่ายตนเอง
และทำให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ประโยชน์จากตาที่อยู่หน้าเบี้ยผ่าน โดยนำหมากตัวอื่นมาวางได้

โดย : v Guest   [ 05/07/2005, 00:12:29 ]

55



ในรูปนี้ เบี้ยผ่านของหมากขาวถูกกันโดยม้าหมากดำ ซึ่งหากหมากดำไม่สามารถหยุดเบี้ยตัวนี้ได้
หมากขาวจะเดินเบี้ยตัวนี้ไปตา d5 แต่ในกรณีนี้ เบี้ยผ่านกลายเป็นตัวขัดขวางตาเดินของบิชอพ
และปิดกั้นคลองเรือของตนเอง นอกจากนี้ เบี้ยผ่านตัวนี้ยังแย่งจุดยืนที่ดีของม้าไปด้วย


หลักเกณฑ์เบี้ยผ่าน 4 ในกรณีที่เบี้ยผ่านไม่ถูกปิดกั้น
เบี้ยผ่านจะเดินฝ่าแนวป้องกันมุ่งไปยังขอบกระดานฝั่งตรงข้าม สร้างปัญหาให้กับแนวรับของคู่ต่อสู้
โดยปกติแล้ว เบี้ยผ่านจะเริ่มสร้างแรงกดดันให้คู่ต่อสู้เมื่อมันอยู่แถวที่ 5 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์เบี้ยผ่าน 5 โดยทั่วไป ผู้เล่นที่มีเบี้ยผ่านมักจะแลกม้าและบิชอพออก (โดยเฉพาะม้า)
ซึ่งตัวหมากเหล่านี้จะเป็นตัวปิดกั้นเบี้ยผ่าน และจะเหลือเรือและควีนเอาไว้ ทั้งนี้
ควีนที่เหลืออยู่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถนำขุนมาปิดกั้นเบี้ยผ่านได้

โดย : v Guest   [ 05/07/2005, 00:13:56 ]

56



สถานการณ์สมมุติจากรูปที่แล้ว กรณีที่หมากขาวสามารถแลกม้าและบิชอพกับหมากดำ
ทำให้เบี้ยผ่านเดินขยายผลต่อไปได้ และสร้างความได้เปรียบที่ชัดเจน

ต่อไปเป็นหัวข้อเรื่องพื้นที่นะคะ

โดย : v Guest   [ 05/07/2005, 00:15:34 ]

57

ขอบคุณสำหรับความเห็นเพิ่มเติมค่ะ

โดย : v Guest   [ 05/07/2005, 00:18:40 ]

58

อืมม คุณวีนี่ดีจริงๆ นำความรู้เหล่านี้มาไห้พวกเราอ่าน ได้ความรู้เยอะมากเลยครับ รู้ใหม
ผมติดตามกระทู้นี้ทุกวันเลย

โดย : แบงค์2005 Member   [ 05/07/2005, 18:48:39 ]

59

ขอบคุณครับ จะติดตามอ่านอีกนะครับ

โดย : แมวอ้วนตัวจิง Member   [ 06/07/2005, 14:47:54 ]

60

พื้นที่ (Space)

เมื่อเรามีบ้านหรือที่ดิน เรามักจะล้อมรั้วกันใช่ไหม? ใน Chess ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน
แต่แทนที่จะใช้รั้วไม้หรือลวดหนาม เราใช้ เบี้ย (Pawn) เป็นตัวกั้นอาณาเขต

หลักเกณฑ์ของพื้นที่ 1 การครอบครองพื้นที่มากกว่าเป็นข้อได้เปรียบด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ
ยิ่งเรามีพื้นที่มากขึ้น ตัวหมากของเราก็จะมีที่เดินเพิ่มขึ้น
หรือกรณีที่เราเป็นฝ่ายบุกและมีพื้นที่มากกว่า จะทำให้ฝ่ายรับที่มีพื้นที่น้อยกว่าตั้งรับได้ลำบาก
เนื่องจากการตำแหน่งหมากติดขัด และการโยกย้ายตัวหมากไม่สามารถแปรขบวนรับหมากของเราได้ทันท่วงที

หลักเกณฑ์ของพื้นที่ 2 ฝ่ายที่มีพื้นที่มากกว่าควรหลีกเลี่ยงการกินแลกหมาก
เนื่องจากการแลกหมากจะทำให้ฝ่ายที่มีพื้นที่น้อยกว่าเดินได้ง่ายขึ้น

หลักเกณฑ์ของพื้นที่ 3 ตรงกันข้ามกับข้อ 2 ฝ่ายที่มีพื้นที่น้อยกว่า ควรหาทางกินแลกหมากกันเสีย
ซึ่งจะช่วยให้หมากที่กำลังติดขัดอยู่นั้น มีพื้นที่เดินเพิ่มมากขึ้น

โดย : v Guest   [ 06/07/2005, 23:20:55 ]

61



ในรูปนี้ หมากขาวมีข้อได้เปรียบด้านพื้นที่ ทำให้ขยับตัวหมากได้สะดวกและรวดเร็วกว่า

โดย : v Guest   [ 06/07/2005, 23:21:50 ]

62

กำลังหมาก / ตัวหมาก (Material)
การมีข้อได้เปรียบด้านตัวหมาก ในที่นี้ได้รวมถึงการมีจำนวนตัวหมากมากกว่า และ/หรือ
การมีตัวหมากที่มีศักย์หมากสูงกว่า เป็นข้อได้เปรียบที่ส่งผลในทุกช่วงการเล่น ช่วงเปิดหมาก
ช่วงกลางกระดาน และช่วงปลายกระดาน
ซึ่งในความเป็นจริงส่วนใหญ่การได้เปรียบตัวหมากในช่วงปลายกระดานมักจะมีผลสืบเนื่องมาจากช่วงกลางกระดาน
ทั้งนี้ทำให้ฝ่ายรับมีข้อจำกัดในเรื่องตัวเดิน

หลักเกณฑ์ของตัวหมาก 1 การเล่นช่วงปลายกระดานจะเอื้ออำนวยให้แก่ฝ่ายที่ได้เปรียบตัวหมาก
หรืออีกนัยหนึ่งฝ่ายที่เสียเปรียบตัวหมากอยู่นั้น
โดยปกติไม่ต้องการแลกหมากกับฝ่ายตรงข้ามที่กำลังได้เปรียบตัวหมากอยู่

หลักเกณฑ์ของตัวหมาก 2 หากเรามีโอกาสใช้ตัวหมาก “พิเศษ” ที่มีมากกว่าฝ่ายตรงข้ามได้
อย่าลังเลที่จะใช้มัน

หลักเกณฑ์ของตัวหมาก 3 แต่ถ้าหากว่าเรายังไม่สามารถใช้ตัวหมาก “พิเศษ” ตัวนั้นได้ ก็จงอย่ากังวลนัก
เนื่องเพราะ ตัวหมากที่มีมากกว่าคู่ต่อสู้นั้นจะเป็นประกันได้ว่าเราจะได้เปรียบในช่วงปลายกระดาน
ทำให้คู่ต่อสู้ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือยื้อไว้ไม่ให้เข้าสู่ช่วงปลายกระดานให้นานที่สุด

หลักเกณฑ์ของตัวหมาก 4 เมื่อเราดำเนินแผนการใดๆ ที่ทำให้เราได้เปรียบตัวหมากแล้วนั้น
เราควรปกป้องจุดอ่อนของเราโดยทันที และนำตัวหมากของเรากลับมายืนในตำแหน่งที่สามารถทำงานรวมกันได้
อย่าเพิ่งพยายามบุกต่อไปหากหมากของเราเสียหลัก ทั้งนี้
บ่อยครั้งที่ตัวหมากของเราจะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดีนักหลังจากที่เรากินตัวหมากของฝ่ายตรงข้ามฟรี

หลักเกณฑ์ของตัวหมาก 5 หากเรามีตัวหมากที่น้อยกว่าฝ่ายตรงข้าม ให้เรารีบหาสิ่งชดเชยให้เร็วที่สุด
สิ่งชดเชยดังกล่าวได้แก่ อสมมาตร ในประเด็นอื่น อาทิ ประสิทธิภาพของตัวหมาก (ที่เหลืออยู่)
การได้เปรียบมือนำ การขึ้นหมากที่เร็วกว่า หรือพื้นที่ เป็นต้น

โดย : v Guest   [ 06/07/2005, 23:23:55 ]

63



ในรูปนี้ หมากขาวเสียเปรียบระหว่างม้ากับเบี้ย สู้เรือหมากดำ หมากดำดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
แต่ความได้เปรียบของหมากดำยังไม่มีประโยชน์มากนัก เนื่องจากไม่มีคลองให้เรือวิ่ง ดังนั้น หมากดำเดิน
1...b5! เปิดคลอง b ทำให้หมากดำนำเรือบุกรุกเข้ามาในแนวรับของหมากขาวได้

โดย : v Guest   [ 06/07/2005, 23:25:12 ]

64



ในรูปนี้ หมากดำขึ้นหมากได้เร็วกว่า (Lead in Development) และสามารถคุมตา d4 ได้ (Control of Key
Square) ซึ่งปัจจัย 2 ข้อนี้ เป็นสิ่งชดเชยกับการที่เสียเปรียบเบี้ย 1 ตัว

ครั้งหน้าจะกล่าวถึงการควบคุมตาสำคัญ (Key Square) และคลองสำคัญ (Key File) ค่ะ

โดย : v Guest   [ 06/07/2005, 23:27:57 ]

65

อืมม

โดย : แบงค์2005 Member   [ 07/07/2005, 18:49:05 ]

66



หมากรุกสากลนี่ เล่นยากจัง
ขอบคุณครับ ที่ช่วยลงบทความที่น่าอ่านมาก ๆ

โดย : ต่ายพเนจร Member   [ 07/07/2005, 20:04:59 ]

67

การควบคุมหรือการยึดคลองสำคัญ (Control of a Key File)

“เรือ..จำเป็นต้องมีคลองให้วิ่ง” เราได้ยินประโยคนี้บ่อยครั้ง แต่ด้วยเหตุผลบางประการ
มีผู้เล่นเพียงส่วนน้อยที่สามารถใช้ประโยชน์จากวลีดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

เราคงไม่ปฏิเสธได้ว่า เรือ เป็นตัวหมากที่ทรงอานุภาพมากตัวหนึ่ง
แต่ทำไมเราจึงปล่อยให้เรือของเรานิ่งอยู่กับที่ตรงมุมกระดานโดยไม่ทำประโยชน์เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง?
คำตอบของคำถามนี้อยู่ที่การเคลื่อนพลของหมากตัวอื่น
เราสามารถนำม้าออกมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยการเดินขึ้นมาอยู่แถวที่สาม หรือเราเพียงแค่เดินเบี้ยที่ d2
ขึ้นไป บิชอพ ของเราที่ c1 ก็สามารถครอบคลุมแนวทแยง c1 – h6 ได้

ในทางตรงกันข้าม การนำเรือออกมาเล่นหรือนำเรือบุกเข้าไปในเขตแดนของคู่ต่อสู้นั้นยากกว่า
แต่หากเราสามารถนำเรือบุกรุกเข้าไปในตำแหน่งหมากของคู่ต่อสู้ได้ ด้วยความแรงของเรือ
จะแสดงอานุภาพออกมาอย่างเห็นได้ชัด

หลักเกณฑ์ของเรือ 1 เรือของเราจะไม่มีประโยชน์ ถ้าหากไม่มีคลองให้วิ่ง

หลักเกณฑ์ของเรือ 2 แม้ว่าเราจะยึดคลองเรือได้แล้ว
แต่คลองเรือที่เปิดอยู่จะสร้างปัญหาให้แก่คู่ต่อสู้ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถนำเรือไปวางได้
หากไม่มีตำแหน่งให้วาง คลองเรือนั้นก็ไร้ประโยชน์

หลักเกณฑ์ของเรือ 3 โดยทั่วไป คู่ต่อสู้คงไม่ยกคลองเรือให้แก่เราโดยง่าย ดังนั้นเรามีหน้าที่ต้อง “ยึด”
คลองเรือนั้น และนำเรือออกมาใช้

หลักเกณฑ์ของเรือ 4 เมื่อมีคลองเรือเปิดอยู่
มักจะนำไปสู่การประจันหน้ากันระหว่างเรือของเรากับของฝ่ายตรงข้าม ผลที่ตามมา คือ การแลกเรือ
ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราหลีกเลี่ยงการแลกเรือ ก็เท่ากับว่าเรายกคลองเรือให้แก่อีกฝ่ายนั่นเอง

คลอง , แถว , และแนวทแยง เป็นทางเดินของตัวหมากเรา ขณะที่ตาสำคัญ เป็นที่ยืนของตัวหมาก ในหมากรุกชั้นสูง
แผนการส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการยึดตาสำคัญ คลองเรือ
หรือการสร้างตาเดินที่เป็นจุดอ่อนในโครงสร้างหมากของฝ่ายตรงข้าม

โดย : v Guest   [ 07/07/2005, 23:36:00 ]

68



ในรูปนี้ หมากดำและหมากขาวต่างยึดคลองเรือได้ฝ่ายละคลอง แต่คลองเรือ a ที่หมากดำยึดได้นั้น
ไม่สามารถนำเรือมาวางได้ เนื่องจากติดตาเบี้ยและบิชอพ
ขณะที่คลองเรือที่ฝ่ายขาวยึดได้มีความแตกต่างกันมาก ในที่นี้ หมากขาวสามารถนำเรือไปวางได้ที่ตา e6 e7
หรือบางกรณีหลังจากมีการเตรียมการบางอย่าง ฝ่ายขาวอาจวางเรือได้ที่ตา e8
กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับคลองเรือที่มีประโยชน์ และคลองเรือที่ไร้ประโยชน์

โดย : v Guest   [ 07/07/2005, 23:39:37 ]

69

การควบคุมหรือการยึดตำแหน่งสำคัญ (Control of a Key Square)

การเดินหมาก
หรือการทุ่มเททรัพยากรเพื่อยึดตำแหน่งสำคัญเพียงตาเดียวอาจเป็นแนวคิดที่เข้าใจยากอยู่บ้างสำหรับมือใหม่
แต่กระนั้นการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งนั้นมีความสำคัญไม่แพ้การได้เปรียบกำลังพล
และผู้เล่นมือใหม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจเพื่อที่จะพัฒนาการเดินหมากของตน

หลักเกณฑ์ฯ 1 เหตุผลที่เราต้องยึดตำแหน่งตาที่สำคัญไว้ เนื่องจากตำแหน่งนั้นจะเป็นฐาน (บ่อ)
ให้เราสามารถนำม้า และ / หรือ บิชอพไปวางได้ (เราสามารถนำควีนและเรือไปวางได้เช่นกัน
แต่เป็นเพียงบางครั้งเท่านั้น)

หลักเกณฑ์ฯ 2 เมื่อเรานำหมากไปลงบ่อได้
ตัวหมากนั้นย่อมเหนือกว่าตัวหมากชนิดเดียวกันของฝ่ายตรงข้ามซึ่งไม่มีตำแหน่งยืนที่ดี

หลักเกณฑ์ฯ 3 บ่อยครั้งที่แผนการเล่นทั้งหมดอาจขึ้นอยู่กับการยึดตำแหน่งสำคัญฯ นั้นไว้

โดย : v Guest   [ 07/07/2005, 23:40:41 ]

70



ในรูปนี้ เห็นได้ชัดว่าม้าของหมากขาวที่ตา c3 เหนือกว่าม้าของหมากดำที่ตา c6 เนื่องจากหมากขาวยึดตาสำคัญ
d5 ไว้ได้ และม้าตัวนี้พร้อมจะไปลงบ่อได้ทุกเมื่อ

โดย : v Guest   [ 07/07/2005, 23:42:45 ]

71




ในรูปนี้หมากขาวต้องบังคับเพื่อยึดเอาตำแหน่ง d5 ด้วยการเดิน 1.b5 ทำลายเบี้ย c6 ที่คุ้มกันตำแหน่ง d5
อยู่ ภายหลังจาก 1...c5 หมากขาวสามารถยึดตำแหน่ง d5 ได้ทันที (1…cxb5 2.axb5
ทำให้เรือของหมากขาวได้โจมตีเบี้ย a7โดยอัตโนมัติ)

โดย : v Guest   [ 07/07/2005, 23:44:31 ]

72

เก่งจังอะ...

โดย : แบงค์2005 Member   [ 08/07/2005, 18:24:21 ]

73



ขอบคุณมาก ที่นำมาให้อ่าน อยากรู้มานานแล้ว

นับถือ นับถือ

โดย : WiMAX Guest   [ 08/07/2005, 22:08:30 ]

74

การขึ้นหมาก (Development)

ในการขึ้นหมากนั้น เราจำเป็นต้องนำตัวหมาก “ทั้งหมด” ขึ้นมาใช้งาน ในที่นี้ ผู้แต่งได้เน้นตัวหมาก
“ทั้งหมด” เนื่องจากผู้เล่นบางคนเริ่มต้นเปิดหมากบุกโดยนำตัวหมากออกมาใช้เพียงไม่กี่ตัว
ซึ่งในการเล่นหมากรุกที่ถูกต้องนั้น เราจำเป็นต้องนำตัวหมากทุกตัวที่มีอยู่ออกมาใช้งาน
โดยต้องระลึกอยู่เสมอว่า หมากรุกเป็นเกมที่เล่นเป็นทีมต้องมีการประสานงานระหว่างตัวหมากแต่ละตัว
(เหมือนฟุตบอล, บาสเกตบอล ฯลฯ) นำขุนเข้าป้อมให้ปลอดภัยแล้วค่อยเริ่มคิดถึงการแปรขบวนเปิดเกมรุก

ในบางครั้ง ผู้เล่นอาจจะขึ้นหมากได้ช้ากว่าฝ่ายตรงข้ามมาก เราจะเรียกว่า “Behind in development”
เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามได้ใช้ตัวหมากที่นำออกมาเล่นมากกว่า
และเมื่อเราได้เปรียบจากการนำตัวหมากขึ้นมาใช้ได้เร็วกว่า เราเรียกว่า “lead in development”
ในการใช้ประโยชน์จากอสมมาตรข้อนี้อย่างเต็มที่
เราจำเป็นต้องเปิดเกมอย่างรวดเร็วโดยมุ่งหวังจะได้ประโยชน์บางอย่างจากการที่ฝ่ายตรงข้ามยังไม่นำขุนเข้าป
้อม หรือยังไม่สามารถนำตัวหมากขึ้นมาได้หมด

หลักเกณฑ์ฯ 1 การที่เรานำตัวหมากออกมาใช้งานได้มากกว่า เป็นข้อได้เปรียบเพียงชั่วคราว
ซึ่งหากเราไม่รีบใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบนี้ ฝ่ายตรงข้ามจะสามารถนำหมากขึ้นมาได้ทัน
และทำให้ความได้เปรียบหายไป (ขณะที่ การได้เปรียบศักย์หมากหรือตัวหมาก การได้เปรียบโครงสร้างเบี้ย
การได้เปรียบตำแหน่งตาสำคัญ หรือการได้เปรียบระหว่างม้า Vs. บิชอพ เป็นความได้เปรียบที่คงที่ / ตายตัว
และส่งผลในระยะยาว เราเรียกว่า “static advantages” หรือบางตำราเรียกว่า permanent advantages)

หลักเกณฑ์ฯ 2 หากในตำแหน่งกลางกระดาน (d4, d5, e4, e5) มีเบี้ยปิดกั้นอยู่
การเปิดหมากได้เร็วกว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก
เนื่องจากเบี้ยที่ปิดกั้นกันอยู่นั้นจะขัดขวางไม่ให้เราสามารถทะลุทะลวงเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามได้ในทันที

หลักเกณฑ์ 3 เมื่อตำแหน่งหมากกลางกระดานเปิด (หมายถึง มีคลองเรือ และ / หรือมีแนวทแยงให้บิชอพ
ซึ่งเอื้ออำนวยให้เรานำตัวหมากบุกรุกเข้าในโครงสร้างหมากของฝ่ายตรงข้ามได้)
การเปิดหมากได้เร็วกว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง

โดย : v Guest   [ 09/07/2005, 18:11:50 ]

75



ในรูปนี้หมากขาวขึ้นหมากได้เร็วกว่า นำตัวหมากทุกตัวออกมาใช้ประสานงานกันได้ดี
ขณะที่หมากดำเพิ่งเดินหมากได้เพียง ม้า ควีน และบิชอพ ตัวหมากส่วนใหญ่ยังนิ่งอยู่กับที่
แต่น่าเสียดายที่ตำแหน่งกลางกระดานยังปิดตายอยู่ เบี้ยหมากดำและหมากขาวล็อกซึ่งกันและกัน
ทำให้หมากขาวยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอสมมาตรข้อนี้ได้

โดย : v Guest   [ 09/07/2005, 18:12:50 ]

76



รูปต่อมา เป็นรูปสมมุติเปรียบเทียบกับรูปที่แล้ว โดยนำเบี้ยกลางกระดานออกไป เปิดตำแหน่งหมากกลางกระดาน
ทีนี้การที่หมากขาวมี lead in development หรือหมากขาวขึ้นหมากได้เร็วกว่า ทำให้หมากขาวได้เปรียบถึงชนะ
แต่ทั้งนี้ หมากขาวต้องใช้ประโยชน์ข้อนี้อย่างรวดเร็วและต้องไม่เปิดโอกาสให้หมากดำได้ตั้งตัว
ด้วยการเดิน 1.Bb5+ Kf8 (ถ้า 1…Nc6 2.Bc5 ชนะ) 2.c5! Qxc5 3.Rd8+ Ne8 4.Rdxe8 รุกจน

โดย : v Guest   [ 09/07/2005, 18:13:39 ]

77

มือนำ (Initiative)

ผู้เล่นที่สามารถบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามเดินหมากตอบรับการเดินของเขาได้ เราเรียกผู้เล่นคนนั้นว่าได้เปรียบ
“มือนำ” การที่เราสามารถควบคุมตำแหน่งหมากบนกระดานได้อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
ทั้งที่เป็นปัจจัยระยะยาว (static advantages) หรือปัจจัยชั่วคราวที่เปลี่ยนแปลงได้ (dynamic
advantages) เช่น การที่เราโจมตีเบี้ยอ่อนแอของฝ่ายตรงข้าม
และทำให้ฝ่ายตรงข้ามนั้นยุ่งอยู่กับการป้องกันเบี้ยดังกล่าว
กรณีเช่นนี้เราได้เปรียบมือนำโดยมีพื้นฐานจากปัจจัยระยะยาว (static advantage)
หากเป็นเช่นนั้นเราอาจเลือกกลยุทธ์บีบฝ่ายตรงข้ามช้าๆ ได้
เนื่องจากเบี้ยอ่อนแอของฝ่ายตรงข้ามเป็นความได้เปรียบที่ส่งผลในระยะยาว
หรือหากเราได้เปรียบการขึ้นหมากที่รวดเร็วกว่า
และเรากำลังใช้ความได้เปรียบนั้นโจมตีขุนฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังผลรุกจน
(ดังตัวอย่างที่เพิ่งอ้างถึงก่อนหน้า) ในกรณีนี้เราได้เปรียบมือนำโดยมีพื้นฐานจากปัจจัยชั่วคราว
(dynamic advantage) และเราจำเป็นต้องเปิดหมากบุกอย่างรวดเร็วก่อนที่ความได้เปรียบนี้จะหายไป

แนวคิดเรื่องการได้มือนำ มีความสำคัญมากในหมากรุกชั้นสูง
ที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างพยายามแย่งชิงความได้เปรียบนี้
ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญนักในสายตาของมือสมัครเล่น
เราสามารถเห็นตัวอย่างการเล่นเพื่อแย่งชิงมือนำได้มากมายจากการแข่งขันระหว่าง GM
การเซ่นเบี้ยเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่อาจใช้แย่งชิงความได้เปรียบดังกล่าว
แต่บ่อยครั้งที่การเซ่นเบี้ยกลับกลายเป็นราคาที่สูงเกินไป T T (สังเกตว่าผู้แต่งใช้คำว่า
...การเซ่นเบี้ยเป็น “เทคนิค” อย่างหนึ่ง...ไม่ใช่ “กลยุทธ์” )

หลักเกณฑ์มือนำ 1 หากเป็นไปได้ เราควรและจำเป็นต้องบีบบังคับรูปเกมให้เป็นดังที่เราต้องการเสมอ

หลักเกณฑ์มือนำ 2 อย่า! เดินตอบรับหมากของฝ่ายตรงข้ามที่เดินขู่ หรือบีบบังคับเราทุกตา
ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้มือนำ และสุดท้ายหมากของเราจะหาทางตอบโต้ไม่ได้เลย (ดูตัวอย่าง)

หลักเกณฑ์มือนำ 3 การได้เปรียบมือนำ เหมือนกับการได้เปรียบการเปิดหมากที่เร็วกว่า
ทั้งสองปัจจัยนี้เป็นความได้เปรียบที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะซึ่งจะเลือนหายไป หากเราไม่รีบใช้มัน

โดย : v Guest   [ 09/07/2005, 18:14:28 ]

78



ในรูปนี้ หมากดำวางแผนกำจัดเบี้ยตา c6 โดยเดิน c6-c5 ซึ่งจะทำให้บิชอพที่ตา b7 ใช้งานได้ดี
และกดดันกลางกระดานของหมากขาวได้ ขณะเดียวกันหมากดำได้เดินเบี้ย b4 ขับไล่ม้าขาวที่ตา c3
การเดินตอบรับตามปกติ เช่น 1.Nb1 จะทำให้หมากดำเดินตามแผนการที่กำหนดไว้ข้างต้นได้ อย่างไรก็ตาม
แทนที่จะเดินตามหมากดำคิดหรือกำหนดไว้ หมากขาวสามารถแย่งชิงมือนำได้ โดย 1.Bxf6 cxf6 หรือ 1…Bxf6
2.Ne4 ทำให้แผนการเดินเบี้ย c6-c5 ของหมากดำต้องสะดุดลง ต่อจากนี้ แผนของหมากขาว คือ
การกดดันเบี้ยหมากดำที่ตา c6 และ a5 ทำให้หมากขาวควบคุมเกมได้


มาถึงตอนนี้เราได้จบคอร์สเรื่องอสมมาตรแล้วนะคะ ซึ่งขอสรุปคร่าวๆ
เกี่ยวกับแนวการเล่นว่าเราสามารถแบ่งแนวทางการเล่นได้เป็น 2 ประเภท ใหญ่ๆ คือ
1. เล่นแบบกดดันฝ่ายตรงข้าม บีบยึดตำแหน่งสำคัญทีละจุด และปิดกั้นแนวทางการตอบโต้ของฝ่ายตรงข้าม
2. เล่นแบบบุกโจมตีอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยตาเดินที่เฉียบคมและการตัดสินใจที่เด็ดขาด

ส่วนการเลือกแนวทางการเล่นว่าจะเลือกแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า อสมมาตร
ที่อยู่บนกระดานนั้นบ่งบอกให้เราเลือกใช้แผนการประเภทใด (เรามี static หรือ dynamic advantages) ทั้งนี้
คราวหน้าจะขอนำตัวอย่างจากเกมแข่งขันจริงทั้งระดับมือสมัครเล่น
และระดับสูงมาวิเคราะห์ตามหัวข้อของอสมมาตรที่นำเสนอไปค่ะ (ยังคงเป็นงานแปลเหมือนเดิมนะคะ
ไม่ใช่วิเคราะห์เอง T T)


จึงเรียนเสนอเพื่อโปรดพิจารณา ^ ^

โดย : v Guest   [ 09/07/2005, 18:18:00 ]

79

^^ ขอบคุณครับ..
จะมีต่อไหมเนี่ย...

โดย : แบงค์2005 Member   [ 09/07/2005, 18:43:35 ]

80

ขอบคุณครับ แต่จบหรือยังอ่ะ ผมจะได้ save เก็บไว้
อยาก save ทีเดียว ไม่อยาก save หลายรอบ
ส่วนการแปลวิเคราะห์เกม ผมเห็นด้วยครับ
แต่อยากให้ตั้งเป็นกระทู้ใหม่ เพื่อความสะดวกนะครับ
สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณมากครับ ได้ความรู้เยอะเลย

โดย : POP Guest   [ 09/07/2005, 21:11:02 ]

81

ในส่วนเนื้อหาทฤษฎีจบตรงนี้แล้วค่ะ ต่อไปเป็นการวิเคราะห์ตำแหน่งหมากจากเกมจริง
แต่ไม่ใช่วิเคราะห์ตลอดทั้งเกม ซึ่งเป็นตัวอย่างจากหนังสือเล่มเดียวกัน คาดว่าจะตั้งเป็นกระทู้ใหม่ค่ะ
เนื่องจากกระทู้นี้ยาวมากแล้ว และเครื่องคอมพ์ฯใช้เวลานานกว่าจะเปิดหมดทุกความเห็น

โดย : v Guest   [ 09/07/2005, 23:09:24 ]

82

คุณ v เคยเล่นออนไลน์ ในเว็บนี้หรือไม่
ถ้าเคยบอก ID ด้วยได้ไหม..

โดย : แบงค์2005 Member   [ 10/07/2005, 18:35:42 ]

83

เล่นม่ายค่อยเป็นอ่ะ T T เป็นพวกทฤษฎีจัด

โดย : v Guest   [ 11/07/2005, 13:17:53 ]

84

ยอดครับ

โดย : 00 Guest   [ 13/07/2005, 12:56:40 ]

85

เมื่อไหร่จะตั้งกระทู้เพิ่มอะครับ

โดย : แบงค์2005 Member   [ 15/07/2005, 18:36:33 ]

86

ชื่อเรื่องA good chess player
A man went to visit a friend and was amazed to find him playing chess with his dog. He
watched the game in astonishment for a while. "I can hardly believe my eyes!" he
exclaimed. "That's the smartest dog I've ever seen."
"Nah, he's not so smart," the friend replied. "I've beaten him three games out of
five."
ช่วยดันกระทู้ครับ

โดย : ขุนสันต์ Guest   [ 16/07/2005, 07:11:36 ]

87

โหสุดยอดเลย น่าเอาไปลงในวรสาร

โดย : oo Guest   [ 25/07/2005, 14:42:19 ]

88

ตั้งกระทู้ใหม่ ชื่อ อสมมาตร ค่ะ

โดย : v Guest   [ 25/07/2005, 22:17:16 ]

89

http://www.thaibg.com/board/view.php?topic=13047

โดย : ตั้งกระทู้ใหม่ ชื่อ อสมมาตร ค่ะ Guest   [ 25/07/2005, 22:19:54 ]

 
  E-mail: webmaster@thaibg.com Copyright 2002-2024@www.ThaiBG.com (Thailand), All Rights Reserved  
 
  Sponsors